วิเคราะห์ เมื่อ Brexit ถึงทางตัน อังกฤษเหลือทางเลือกอะไรบ้าง? กระทบไทยแค่ไหน?

เหลือเวลาอีกไม่นานนักที่อังกฤษจะต้องออกจากสหภาพยุโรปตามเส้นตายในวันที่ 29 มีนาคมนี้ แต่ก็ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้สักที

ภาพจาก Shutterstock

การลงคะแนนเสียงล่าสุดในสภากับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี Theresa May ก็ถูกปฎิเสธจากสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หลังจากที่เคยพ่ายแพ้เสียงลงมติเมื่อเดือนมกราคมมาแล้ว แถมสภาฯ โหวตไม่รับข้อเสนอ No-deal Brexit (ไม่มีการตกลงกับสหภาพยุโรป) อีกเช่นกัน แต่กลับต้องการเลื่อนเวลาเส้นตายออกไปอีก

ประเด็น Brexit ถือเป็นประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมากในระดับสากล เพราะการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

จากรายงานของ Harvard Business Review คาดการณ์ว่าสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนว่า Brexit จะเป็นอย่างไรต่อไป ส่งผลให้การลงทุนลดลง 6% ภายใน 2 ปีหลังการลงประชามติ, อัตราการจ้างงานลดลง 1.5% และย่อมทำให้ผลิตผลของสหราชอาณาจักรลดลงอีกเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่สำคัญคือ อังกฤษ เหลือทางเลือกอะไรบ้างให้กับสถานการณ์นี้ กับเวลาเพียงไม่กี่วันที่เหลืออยู่? และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างในทางเศรษฐกิจ?

ภาพจาก Pixabay

ไอร์แลนด์เหนือ คือจุดสำคัญของปัญหา

ปัญหาใจกลางของ Brexit อยู่ที่เรื่องของการกำหนดเขตแดนของไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) แคว้นหนึ่งของสหราชอาณาจักร และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Brexit ไม่คืบหน้าเลยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ต้องเท้าความอย่างรวบรัดว่า ในทางประวัติศาสตร์การเมือง เกาะไอร์แลนด์ถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ คือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Republic of Ireland) ที่เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่และเป็นประเทศที่มีเอกราชสมบูรณ์ และ ไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ตั้งแต่พฤษภาคม 1921 หลังจากการประกาศพระราชบัญญัติรัฐบาลไอร์แลนด์ในปี 1920 ของสหราชอาณาจักร

การแบ่งแยกออกเป็นสองประเทศ ทำให้อุดมการณ์ในการรวมไอร์แลนด์เป็นหนึ่งเดียวเกิดขึ้นในคนบางกลุ่ม และพัฒนากลายเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบที่เรียกว่า IRA (Irish Republican Army) และมักจะโจมตีชายแดนกับป้อมตรวจการณ์ที่ขวางระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นประจำ

สถานการณ์นี้คลี่คลายลงเมื่อปี 1998 ที่มีการตกลงกันระหว่างหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถึงสถานการณ์และการจัดการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ นำมาสู่ข้อตกลง Good Friday Agreement (ชื่อทางการคือ Belfast Agreement) และตามมาด้วยการหยุดยิง การวางอาวุธของกลุ่ม IRA ในปี 2005 และสำคัญที่สุดคือการรื้อถอนเขตแดนและป้อมตรวจการณ์ทั้งหมดออกจากชายแดน

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้เพราะทั้งสหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ ต่างเป็นสมาชิกสภาพยุโรปด้วยกันทั้งคู่ (เป็นมาตั้งแต่ปี 1973) หนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญคือ สนธิสัญญากรุงโรม ที่กำเนิด EEC (European Economic Community) ที่ทำให้เกิดสหภาพศุลากากรร่วมกันของสมาชิกอีกทีหนึ่ง และทำให้สินค้าต่างๆ เคลื่อนที่ได้อย่างเสรี การรื้อแนวเขตแดนระหว่างสองประเทศจึงเกิดขึ้นได้

แต่ผลจาก Brexit ในปี 2016 ย่อมทำให้อังกฤษจะต้องออกจากสหภาพศุลกากรของยุโรป และเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตั้งด่านตรวจสอบสินค้า (เพราะไม่มีการเคลื่อนที่เสรีของสินค้าและแรงงานแล้ว) ที่ชายแดนของไอร์แลนด์เหนือขึ้นมาใหม่ ทำให้ประเด็นระหว่างไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือกลับมาอีกครั้ง และอาจนำไปสู่ความรุนแรงรอบใหม่ได้อีกเช่นกัน

ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษและสหภาพยุโรปเสนอให้ยกเว้นไอร์แลนด์เหนือเป็นเขตเดียวที่ยังอยู่ภายใต้สหภาพศุลกากรของยุโรป (backstop) แต่เมื่อ Theresa May นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนฯ เพื่อขอความเห็นชอบ กลับถูกสภาปฎิเสธโดยโหวตคว่ำถึงสองครั้ง โดยบางคนให้เหตุผลว่าการทำเช่นนี้เท่ากับ Brexit ทั้งหมดไม่สมบูรณ์ เพราะมีข้อยกเว้นให้หนึ่งพื้นที่

ตอนนี้จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าประเด็นเรื่องเขตแดนของไอร์แลนด์เหนือจะทำอย่างไรต่อไป และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ Brexit ไม่เดินหน้า

ประเด็นเรื่องเขตแดนของไอร์แลนด์เหนือยังเป็นปัญหาใหญ่ของ Brexit – ภาพจาก Shutterstock

ไม่ใช่แค่ไอร์แลนด์เหนือ แต่กระเทือนทั้งภูมิภาค

นอกเหนือจากประเด็นไอร์แลนด์เหนือ สิ่งที่ต้องคิดคือในสภาพปัจจุบันสินค้าที่เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระเสรีไปทั่วยุโรป  ถ้าอังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป ก็ต้องมีการตรวจตราสินค้าและการเคลื่อนที่ของแรงงานใหม่อีกครั้ง ส่วนเรื่องสถานะของคนยุโรปที่เข้าไปทำงานในประเทศอังกฤษ และคนอังกฤษที่เข้าไปทำงานในยุโรป จะกลายเป็นปัญหาด้วยเช่นกัน

การที่อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปมานานหลายปี อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของยุโรปที่กำหนดเรื่องเหล่านี้เอาไว้เป็นจำนวนมาก ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปด้วยความยุ่งยาก รัฐบาลอังกฤษต้องออกเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่เราเริ่มเห็นในเวลานี้ ธุรกิจและประชาชนของอังกฤษต่างเริ่มทยอยกักตุนสินค้าและสั่งสินค้าล่วงหน้าไว้ ไม่เว้นแม้กระทั่งอาหารกระป๋อง เพราะต่างกลัวว่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบอะไรในระยะยาวกับชีวิตและธุรกิจ นอกจากนั้น ธนาคารกลางของอังกฤษ ก็ยังออกมาเตือนว่าการลงทุนจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกหลายปี

สำหรับภายในอังกฤษเอง สก็อตแลนด์ก็เตรียมที่จะจัดประชามติอีกครั้งเพื่อแยกออกเป็นเอกราช เนื่องจากในปี 2016 ที่มีการลงประชามติ Brexit ผลโหวตของชาวสก็อตแลนด์ต่างยังต้องการให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปถึง 62%

เรียกว่ายุ่งทั้งข้างนอกและข้างใน

เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ – ภาพจาก Shutterstock

ทางเลือกที่เหลือ กับเวลาอีกน้อยนิด

สถานการณ์ที่เดินเข้ามาสู่ทางตัน กับเวลาที่เหลืออีกไม่กี่วัน ทำให้หลายภาคส่วนของยุโรปกังวลว่า แล้วจะทำยังไงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ก็ไม่เอาทั้งข้อเสนอของ Theresa May แล้วก็ยังลงมติไม่เอา No-deal Brexit อีกเช่นกัน

ล่าสุด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ลงมติให้รัฐบาลขอขยายการเจรจา Brexit ออกไปอีก 3 เดือน (ถึงวันที่ 30 มิถุนายน) สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือนายกรัฐมนตรีอังกฤษจำเป็นที่จะต้องวิ่งกลับไปเจรจากับบรรดาผู้นำสหภาพยุโรปอีกครั้ง และท่าทีของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Donald Tusk ก็ส่งสัญญาณบวกด้วย

แต่เงื่อนไขนี้ก็อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรอีกเช่นกัน เพราะต้องไปพร้อมกับข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลด้วย ซึ่ง Theresa May ระบุว่าอยากให้สภาผู้แทนฯ ลงมติในเรื่องนี้ผ่านในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำของสหภาพยุโรปที่บรัสเซล

ผู้เขียนมองว่า สถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้นับจากนี้ พอเป็นไปได้อยู่ 4 ทาง

  1. ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ตกลงยินยอมที่จะเลื่อนเวลา ทางเลือกนี้จะต้องมาพร้อมกับการโหวตในวันที่ 20 มีนาคมนี้ อย่างไรก็ตามหากประเมินจากท่าทีของสหภาพยุโรปมาโดยตลอด ก็พบว่าหนทางนี้อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสหภาพยุโรปเองก็คงต้องป้องกันไม่ให้ชาติอื่นๆ ออกจากยุโรปตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ยกเว้นชาติสมาชิกจะเห็นพ้องต้องกันเท่านั้น หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งไม่เห็นด้วย ก็ถึงทางตันของจริง ต่อให้ท่าทีของประธานคณะกรรมการยุโรปจะเปิดช่องไว้ก็ตาม นอกจากนั้นหากดูจากผลการลงคะแนนในสภาผู้แทนฯ ที่ลงมาสองครั้งแล้วพบว่า โอกาสที่ข้อเสนอของรัฐบาลจะไม่ผ่านก็มีสูงอีกเช่นกัน
  2. อังกฤษยุติกระบวนการ Brexit ทั้งหมด ทางเลือกที่สองนี้จะทำให้อังกฤษยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป และสามารถทำได้ตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรป (ECJ) โดยเพียงแค่ยกเลิกกระบวนการทั้งหมดได้จากฝั่งเดียวคืออังกฤษเอง ข้อดีคือจะจบสถานการณ์ทั้งหมดลงได้ ซึ่งทางสหภาพยุโรปก็เปิดทางเอาไว้ แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลของ Theresa May จะได้ชื่อว่าไม่เคารพในมติของประชาชนอังกฤษที่ลงมติเอาไว้ และต้องเจอปัญหาในทางการเมืองอย่างแน่นอน และเธอก็บอกเองว่าการยกเลิกย่อมสร้างปัญหาแน่นอน
  3. อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปแบบทันทีโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ (cliff edge) ทางเลือกสุดท้ายนี้คือการไม่มีตัวเลือกใดๆ หลงเหลือให้อยู่แล้ว การเจรจาถึงทางตัน และไม่สามารถเจรจากันได้อีก ซึ่งถ้าเกิดเช่นนี้จริง วิกฤตการณ์และความวุ่นวายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถึงขั้นมีรายงานข่าวลือว่ารัฐบาลอังกฤษเตรียมการอพยพสมเด็จพระราชินีอังกฤษและสมาชิกราชวงศ์ หากเกิดความวุ่นวายขึ้น
  4. สภาผู้แทนราษฎรฯ ลงมติในรายข้อ หนทางนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันคือการเลือกรับแบบทั้งฉบับ (all-or-none) ซึ่งอาจมีโอกาสในการลงมติเป็นรายข้อหรือประเด็นแทน โดยใช้ข้อเสนอของรัฐบาลเป็นตัวตั้ง แล้วให้ผ่านเป็นแต่ละเรื่องไป

สิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นแน่ๆ คือการลงประชามติใหม่อีกครั้งในประเด็น Brexit เพราะข้อเสนอนี้ก็ถูกเสนอขึ้นมาระหว่างการลงมติเมื่อวาน แล้วก็ถูกลงมติปัดตกไปอย่างรวดเร็วด้วยคะแนนเสียงคัดค้านถึง 334 เสียงต่อเสียงสนับสนุน 85 เสียง

ประเด็นคือ ทั้งสี่ทางเลือกนี้จะส่งผลกับอังกฤษ โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?

EU ไม่ยอมให้อังกฤษดึงเวลาต่อไป – ภาพจาก Unsplash

เลือกทางไหนก็มีราคาที่ต้องจ่าย

หากการขอเจรจาเพื่อยื้อเวลาออกไปเกิดขึ้น ในระยะสั้นคงเป็นเรื่องของความรู้สึกผ่อนคลายของตลาดโดยรวม ซึ่งค่าเงินปอนด์ก็ขึ้นไปรับข่าวสูงสุดในรอบ 9 เดือน หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าจะไม่รับข้อเสนอ No-deal Brexit แต่เรื่องที่ยังไม่รู้คือ การต่ออายุการเจรจาออกไปจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะไม่มีทางทราบว่าข้อเสนอของรัฐบาลจะผ่านหรือไม่ นอกจากนั้นยังเป็นการ “หยุด” สถานการณ์เอาไว้ชั่วคราวเท่านั้น ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังคงจะเกิดขึ้นอยู่ดี

ยังไม่นับว่า ถ้าขอเลื่อนเจรจาไปจนถึง 30 มิถุนายนนี้แล้ว หากเจรจราแล้วได้ แล้วถึงเวลานั้นจริงๆ ยังหาทางออกไม่ได้ จะต้องทำอย่างไรกันต่ออีก เพราะถ้าเลื่อนแล้วเลื่อนอีก สหภาพยุโรปก็คงไม่พอใจอย่างแน่นอน

ถ้าเกิดเหตุการณ์ออกจากสหภาพยุโรปทันทีโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ สิ่งที่ตามมาคือความวุ่นวายของการส่งออกสินค้าและนำเข้า รวมถึงความวุ่นวายในการทำธุรกิจและการเคลื่อนที่ของประชากรก็จะตามมาด้วย และเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจของอังกฤษจะต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ในเชิงเศรษฐกิจ อังกฤษจะตกอยู่ในกฎการค้าโลกตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) กับยุโรปโดยทันที ซึ่งจะต้องเจอภาษีสูงมาก (อ่านรายงานเต็มของ BusinessEurope ประกอบ)

มีการคาดการณ์จากธนาคารกลางของอังกฤษอีกเช่นกันว่า การออกโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ แบบนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษตกต่ำลงมากที่สุดถึง 8% ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง 25% และราคาบ้านร่วงลง 30% แย่กว่าวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2008

ถ้ามีการเลือกลงมติแบบรายข้อหรือประเด็น สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะย้อนกลับไปสู่ปัญหา backstop ซึ่งจะสร้างความวุ่นวายได้อีกเช่นกัน นอกจากนั้นการลงมติอาจจะหยุดชะงักลงไปได้ด้วย ซึ่งถ้าลงมติไม่ได้ก็อาจไปจบที่การออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ หรือไม่ก็ต้องยกเลิกการออกจากสหภาพยุโรป

ทางออกสุดท้ายคือการยกเลิกการเจรจา Brexit และเลือกที่จะอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจสำหรับการออกจากยุโรปจะมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองแทน ซึ่งก็ยากที่จะคาดเดาว่าผลจากการเมืองนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจของอังกฤษในช่วงต่อไป

แล้ว Brexit จะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร? – ภาพจาก Shutterstock

Brexit จะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

ผลกระทบโดยตรงสำหรับ Brexit กับเศรษฐกิจไทยนั้น จะเกิดขึ้นในสองส่วน ส่วนแรกคือบรรยากาศการลงทุนในระดับสากล แน่นอนว่าถ้าอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกคงได้รับผลกระทบ ตลาดหุ้นซึ่งอ่อนไหวกับเรื่องทางการเมืองเป็นปกติอยู่แล้ว มีแนวโน้มที่อาจจะปรับตัวลดลงได้ตามเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน นักลงทุนต่างประเทศอาจเลือกมาพักเงินในแถบภูมิภาคเอเชีย ทำให้ตลาดหุ้นอาจจะไม่ได้ลงมากกว่าที่คิด

ในส่วนที่สองคือผู้ที่ทำธุรกรรมกับสหภาพยุโรปและอังกฤษโดยตรง อย่างเช่น สายการบินและผลิตภัณฑ์ส่งออกต่างๆ ซึ่งในระยะสั้นอาจจะต้องมีการจัดการดีลและทำตามข้อตกลงต่างๆ ใหม่ทั้งหมด รวมถึงศึกษากฎหมายใหม่ทั้งหมด ในระยะสั้นย่อมไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน และถ้าใช้เงินปอนด์กับยูโร ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่ค่าเงินทั้งสองอาจอ่อนตัวลง ย่อมแปลว่าเม็ดเงินที่ได้น้อยลงด้วย แถมถ้าอังกฤษออกจากยุโรปแบบไม่สามารถหาทางออกได้จริงๆ กำลังซื้อก็คงหดหายไป นั่นก็แปลว่ากำไรที่จะทำได้ก็ลดลงไปด้วย

แม้บทวิเคราะห์ของ Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า ผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นกับไทยอาจจะอยู่ในวงจำกัด เพราะสัดส่วนการส่งออกจากไทยไปยังอังกฤษมีเพียง 1.5% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ต้องไม่ลืมว่าผลกระทบของ Brexit ที่จะมีส่วนกดดันตลาดหุ้นทั่วภูมิภาคยุโรปที่อาจขยายตัวเป็นทั่วโลกนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แถมต้องเจอกับสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ในปีนี้ อาจดูไม่สดใสเท่าใดนักด้วย ผลกระทบจาก Brexit ที่มีต่อไทย อาจไม่ได้จำกัดวงอย่างที่คิดก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม: บทวิเคราะห์ Brexit ผลกระทบหลังอังกฤษถอนตัวจาก EU, [บทวิเคราะห์] ตลาดการเงินโลกจะเป็นอย่างไร หลังเหตุการณ์ Brexit

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา