บทวิเคราะห์ Brexit ผลกระทบหลังอังกฤษถอนตัวจาก EU

ในที่สุด ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ (Leave or Remain) ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่าย “ออก” อย่างเฉียดฉิว ด้วยสัดส่วน “ออก” 51.9% และ “อยู่” 48.1%

Brand Inside ขอวิเคราะห์ผลกระทบจากการโหวตออก Brexit ดังนี้

ภาพจาก 10 Downing
ภาพจาก 10 Downing

ทำไมฝ่ายโหวตออกถึงชนะ?

ก่อนหน้านี้ นักการเมืองกระแสหลักของอังกฤษ ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แห่งพรรคอนุรักษ์นิยม รวมถึงบรรดาผู้นำชาติมหาอำนาจทั่วโลก และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ต่างก็เสนอให้ชาวสหราชอาณาจักรเลือกจะ “อยู่” กับยุโรปต่อไป

แต่เมื่อผลจบลงด้วยการ “ออก” จาก EU คำถามแรกคือเกิดอะไรขึ้น ทำไมพลเมืองครึ่งประเทศถึงเลือกจะออกจาก EU

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักมองคล้ายๆ กันว่า ฝ่ายที่ต้องการออกจาก EU ให้น้ำหนักกับเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องเป็นสำคัญ ถึงแม้การก่อตั้ง EU ช่วงประมาณ 20 ปีแรก (นับจากสนธิสัญญา Maastricht ในปี 1992) จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น 2 ครั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปี 2007-2008 ที่กระทบสถาบันการเงินในอังกฤษมาก และวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปช่วงหลังปี 2010 เป็นต้นมา) ทำให้เศรษฐกิจของยุโรปฝืดเคืองลง

ผลกระทบที่ชัดเจนคือประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน หรือแม้แต่กลุ่มที่ยังมีงานทำ ก็มีสภาพเศรษฐกิจในการดำรงชีวิตประจำวันที่ลำบากขึ้นมาก ปัจจัยเศรษฐกิจเป็นลบที่ยืดเยื้อยาวนานแบบนี้ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในสภาพของรัฐที่เป็นอยู่ ไม่พอใจชนชั้นสูงที่ร่ำรวยและไม่ได้รับผลกระทบมากนัก (anti-establishment) ไม่พอใจผู้อพยพ (immigrant) ที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในประเทศ และประชาชนส่วนหนึ่งก็เริ่มใฝ่ฝันถึงความรุ่งเรืองในอดีต ยุคก่อนที่จะรวมเป็น EU

การแยกตัวออกจาก EU เป็นสิ่งที่พูดกันมากในช่วงวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป เพราะการใช้นโยบายเศรษฐกิจและค่าเงินแบบเดียวกันทั้งยุโรป อาจไม่ยืดหยุ่นพอสำหรับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่แตกต่างกันอย่างมาก กรณีของกรีซเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ถึงแม้กรีซจะไม่ได้แยกตัวออกจาก EU ในท้ายที่สุดก็ตาม แต่ปัญหาของกรีซก็แสดงให้คนในยุโรปเห็นว่า การอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกันตามวิสัยทัศน์ของ EU ไม่ได้มีแต่ผลดีเสมอไป

ภาพจาก UK Parliament
ภาพจาก UK Parliament

แต่กรณีของสหราชอาณาจักร ที่ไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมกับ EU มากนัก (ส่วนหนึ่งก็ด้วยเหตุผลด้านวัฒนธรรมที่อาจแตกต่างจากยุโรปภาคพื้นทวีปอยู่พอสมควร) และไม่ได้ใช้เงินสกุลยูโรมาตั้งแต่ต้น ก็ย่อมมีโอกาสจะแยกตัวออกจาก EU ได้ง่ายกว่าถ้าหากโอกาสเอื้ออำนวย

ความอึดอัดทางเศรษฐกิจของประชากรยุโรปถูกแสดงออกผ่านการเมืองได้ชัดเจน เพราะในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา พรรคฝ่ายขวาของยุโรปที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมหรือชาตินิยม เน้นผลประโยชน์ของประชากรหรือชาติพันธุ์ในประเทศตัวเอง ต่างได้เสียงข้างมากในรัฐสภาทั้งระดับประเทศและระดับยุโรป ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย ที่มีแนวคิดเสรีนิยม และสนับสนุนวิสัยทัศน์ “ยุโรปหนึ่งเดียว” เริ่มเสื่อมถอยลง เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้มากนัก

การโหวตประชามติของสหราชอาณาจักรครั้งนี้ ถึงแม้พรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีคาเมรอน จะครองเสียงข้างมากในสภา แต่เอาเข้าจริงแล้วก็มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวา-กลาง และมีจุดยืนประนีประนอมมากกว่า ทางพรรคเองไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใดเป็นพิเศษ แต่คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็ต้องการให้ประเทศอยู่กับ EU ต่อไป ในขณะที่พรรคขวาสุดขั้วอย่าง UK Independence Party (UKIP) ก็มีท่าทีชัดเจนว่าต้องการโหวตออกจาก EU

การโหวตออกของประชาชนสหราชอาณาจักร จึงถือเป็นภาพสะท้อนว่าวิถีทางแบบ “ปัจจุบัน” ที่อิงกับ EU นั้นไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจอีกต่อไป จึงส่งผลให้ประชาชนเกินครึ่งเลือกจะกลับไปสู่ “อดีต” อันรุ่งเรืองของสหราชอาณาจักรที่อยู่ด้วยตัวเองลำพัง ถึงแม้ไม่มีอะไรยืนยันว่า “อดีต” แบบเดิมจะเป็น “อนาคต” ที่ดีแค่ไหน แต่การเสี่ยงเดินไปตายดาบหน้า ก็น่าจะดีกว่า “ปัจจุบัน” ที่ยังไม่เห็นอนาคตอันสดใสเลย

วิดีโอรณรงค์ให้โหวตออกจาก EU ของพรรค UKIP เปรียบเทียบการอยู่ใน EU เหมือนไก่ที่ถูกขังอยู่ในกรงแออัด ในขณะที่อากาศข้างนอกสดใส

ผลกระทบระยะสั้น

ผลการโหวต Leave ย่อมจะสร้างแรงสะเทือนกับการเมืองภายในประเทศเป็นอย่างแรก ถึงแม้พรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างก็มีจุดยืน Remain แต่เมื่อฝ่าย Remain แพ้โหวต การสนับสนุนทางการเมืองจึงย่อมสวิงกลับไปยังฝ่าย Leave

สิ่งแรกที่ต้องจับตามองคือการลาออกของนายกรัฐมนตรี David Cameron ที่มีจุดยืนฝั่ง Remain (แม้จะมีเสียงสนับสนุนให้เขานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไปก็ตาม) ผลที่ตามมาคือฝ่าย Leave ในพรรคอนุรักษ์นิยมที่ครองเสียงข้างมาก จะขึ้นมามีอำนาจแทน ทิศทางการเมืองของประเทศในระยะสั้นจึงขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่าจะตอบสนองต่อผลโหวต Leave อย่างไรบ้าง

การลาออกของ Cameron จะมีผลในเดือนตุลาคม 2016 ซึ่งในระยะอีกประมาณ 3 เดือนต่อจากนี้ จะเป็นช่วงเฟ้นหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายในประเทศ และอีกสักระยะเราจะเห็นตัวเลือกที่ชัดเจนมากขึ้นว่า นายกอังกฤษคนใหม่คือใคร

ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แสดงให้เห็นทันทีเมื่อเงินปอนด์มีค่าตกหนักครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี และเราคงเห็นภาวะผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกไปอีกสักระยะหนึ่ง ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มสงบลง เหตุสำคัญเป็นเพราะการลงประชามติโหวตออกจาก EU ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้ตลาดเองก็ไม่ทราบว่าจะรับมือกับสภาวะนี้อย่างไร

การโหวตออกของอังกฤษ เป็นภาพสะท้อนของความไม่พอใจในปัจจุบัน แต่กลับไม่ได้แสดงให้เห็นว่าต้องการอนาคตอย่างไรกันแน่ (บอกได้แค่ว่าจะ “ออก” แต่ออกไปแล้วจะทำอะไรต่อ ภาพยังไม่ชัดเจน) ซึ่งในระยะสั้นเราจะเห็นสภาวะ “ฝุ่นตลบ” ท่ามกลางความมึนงงไปอีกสักพักใหญ่ๆ

David Cameron นายกรัฐมนตรีผู้ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ (ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลสหรัฐอาณาจักร)
David Cameron นายกรัฐมนตรีผู้ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ (ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลสหรัฐอาณาจักร)

ผลกระทบระยะยาว

ผลกระทบในระยะยาวคือ สหราชอาณาจักรจะเริ่มปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอิงตามกรอบกฎหมายของรัฐสภายุโรป (EU Directives) อีกต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องใช้เวลานานและค่อยเป็นค่อยไป (CNBC วิเคราะห์ว่าอาจใช้เวลาถึง 2 ปี กว่าจะได้ออกจาก EU จริงๆ)

ข้อดีคือกฎระเบียบบางส่วนจะยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ในอีกทาง ภาวะเศรษฐกิจที่เคยได้ประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของ EU เช่น ตลาดรวม ก็จะหมดไป อังกฤษจะต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้จากสภาพตลาดในประเทศเพียงลำพัง (single market)

รัฐบาลชุดใหม่ย่อมจะมีทีท่าต่อนโยบายเรื่องผู้อพยพที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งก็เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะต่อให้คนอังกฤษกลุ่มหนึ่งไม่พอใจต่อผู้อพยพมากแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าผู้อพยพเหล่านี้กลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอยู่มากแล้ว การไล่ผู้อพยพเหล่านี้ออกไปจากประเทศ ย่อมต้องตอบคำถามให้ได้ว่าตำแหน่งงานที่ว่างลงเหล่านั้นจะหาใครมาทำแทน

ผลการโหวตที่แพ้ชนะกันอย่างฉิวเฉียด สร้างรอยร้าวอันรุนแรงในสังคมของสหราชอาณาจักร เพราะกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันทั้งอายุ พื้นที่ ระดับรายได้ มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน รอยร้าวครั้งนี้จะฝังลึกและกลายเป็นชนวนความแตกแยกในสังคมของสหราชอาณาจักรไปอีกนาน ในระยะยาวแล้วน่าจะเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคต

สิ่งที่น่าจับตาอีกประเด็นคือการแยกตัวของสกอตแลนด์ หลังจากการลงประชามติในปี 2014 จบลงด้วยชาวสกอตแลนด์ 55% เลือกจะอยู่ภายใต้สหราชอาณาจักรต่อไป แต่ในการโหวตออกจาก EU ปี 2016 ครั้งนี้ สกอตแลนด์กลับมีความเห็นที่แตกต่างจากอังกฤษและเวลส์ นั่นคือเสียง 62% ของสกอตแลนด์เลือกจะอยู่กับ EU ต่อไป (รวมถึงไอร์แลนด์เหนือที่ 55.8% เลือกอยู่กับ EU เช่นกัน)

มุมมองของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ที่แตกต่างจากอังกฤษและเวลส์ ย่อมส่งผลให้ในอนาคตอีกไม่ไกล เราอาจได้เห็นการแยกตัวของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ออกจากสหราชอาณาจักรได้เช่นกัน

แผนที่การโหวตแยกตัวออกจาก EU แยกตามแคว้น (สีเหลืองคือ Remain สีน้ำเงินคือ Leave) ภาพจาก BBC
แผนที่การโหวตแยกตัวออกจาก EU แยกตามแคว้น (สีเหลืองคือ Remain สีน้ำเงินคือ Leave) ภาพจาก BBC

อังกฤษต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ในระยะยาว

กล่าวโดยสรุปแล้ว การโหวต Leave ครั้งนี้มีที่มาจากความอึดอัดทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และฝ่ายโหวต Leave เสนอความหวังเรื่องเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเมื่อออกจาก EU เป็นจุดขายในการชนะโหวตครั้งนี้

แต่สุดท้ายในระยะยาวแล้ว ไม่ว่าจะอยู่หรือออก ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น สหราชอาณาจักรจะต้องแสดงให้เห็นว่าการออกจาก EU สามารถช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้จริงๆ อย่างที่คิดกันหรือไม่ ผ่านการปฏิรูปกรอบกฎหมายและนโยบายทางเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีแรกหลังออกจาก EU

มิฉะนั้น อังกฤษก็จะอยู่ในสภาวะ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง” เช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา