“พ่อตอกย้ำว่าชีวิตคนจน ต่อให้ขยันก็ยังต้องจน
มันมีชนชั้นนำไม่กี่คน ผูกขาดภาษีของเรา
ถ้าหากวันหนึ่งพ่อแก่ตัว ลูกก็ดันมาตกงาน ก็ได้แค่หวังเบี้ยชราแค่ 600
ประชาชนไทยมันไม่มีสวัสดิการ ลูกต้องรับราชการ
อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ อยากจะข่มตานอนโดยไม่กังวล
อยากให้รัฐบาลเห็นค่าของคน เอาชนะความจนดวยรัฐสวัสดิการ”
กว่าจะมาเป็นเพลง “อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้”
คุยกับชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักร้องนำวงดนตรีสามัญชน เล่าถึงเหตุผลที่เขาเริ่มแต่งเพลง “อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้” เขาเล่าย้อนไปเมื่อ 13 กรกฎาคม ปี 2563 มีเครือข่ายบำนาญ ที่นำโดยพี่นิมิตร์ เทียนอุดม เขาไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อผลักดันให้รัฐบาลประยุทธ์รับเรื่องบำนาญถ้วนหน้า (ให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปได้รับเงินจากรรัฐเดือนละ 3,000 บาทซึ่งเป็นรายได้ขั้นต่ำตามเส้นความยากจน) จากนั้นก็มีการประชุมเตรียมงานและให้วงสามัญชนช่วยแต่งเพลงและออกแบบป้ายรณรงค์
เพลงนี้แต่งเสร็จในคืนวันที่ 12 จากนั้น วันที่ 13 วงสามัญชนตั้งใจจะไปเล่นสดในม็อบนั้น ตอนนั้นยังไม่มีม็อบคนรุ่นใหม่เลย เริ่มจะมากันช่วง 18 กรกฎาคม เพลงที่แต่งก็แต่งได้ท่อนหลัง ยังไม่มีท่อนแรก คือท่อนที่ว่า “วันเวลาผ่านไปกับการอดทน ร่ำเรียน….” เพลงก็เริ่มเข้าเนื้อหาที่แม่เข้าโรงพยาบาล ถ้าไม่มีเงินรักษาแม่ต้องตายเหรอ? จากนั้นก็เริ่มมีม็อบนักศึกษาจึงเริ่มเติมในท่อนแรกที่มันเกี่ยวข้องกับความฝัน การใช้ชีวิต การหาตัวเองไม่เจอ เพื่อเชื่อมกับตัวตนของวัยเขามากขึ้น
สุดท้าย 13 กรกฎาคมก็ไม่ได้ไปเพราะต้องทำสไลด์ให้พี่ไผ่ นิติรัฐ ไปพรีเซนท์เกี่ยวกับเรื่อง New normal (social safety net) ให้ สสส. จึงไม่ได้ไปร่วมม็อบ จากนั้นจึงได้เล่นสดกับบทเพลงนี้ครั้งแรกประมาณ 31 กรกฎาคม วันนั้น ทาง สนท. (สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย) กับ คนป. (เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา เคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) จัดม็อบหน้าไปรษณีย์กลาง บางรัก ในประเด็น 10 ปีข้างหน้า เราต้องการอะไร ก็ลองเอาเพลงนี้ไปเล่นครั้งแรกริมฟุตบาธ แต่ว่าเสียงรถดังมาก ไม่มีใครได้ยิน ก็ถือว่าล้มเหลวในครั้งแรก แต่คนรู้จักเพลงนี้มากที่สุดคือเล่นที่สนามหลวง 19 กันยายน 2563
ทั้งวงไม่เคยฟังเพลงนี้ ปกติเราเล่นคนเดียวกับกีตาร์มาก่อน จากนั้นทั้งวงก็เอาเครื่องดนตรีอื่นๆ มาร่วมแจมและเริ่มอินไปกับเพลง ก็นำเพลงนี้ไปเล่นที่มหิดลครั้งแรกช่วง 12 สิงหาคมหลังมีคำประกาศ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ
รัฐสวัสดิการคือประชาธิปไตยที่มีเนื้อหนังมังสา จับต้องได้ กินได้
เพลง “อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้” น่าจะเป็นเพลงแรกๆ ที่ทั้งวงมี consensus ว่าจะต้องเล่นเพลงนี้ในพื้นที่การชุมนุม ไอเดียเรื่องรัฐสวัสัสดิการจะต้องถูกขายในพื้นที่การชุมนุม แม้ว่ามันจะไม่อยู่ในข้อเรียกร้อง แต่ว่าในฐานะแนวร่วมวัฒนธรรมเราต้องขายเรื่องนี้ เพราะมันคือสภาวะที่สังคมต้องตั้งคำถามหลังจากโค่นศักดินาจบแล้ว อะไรคือสังคมที่เราอยากเห็น คุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ตรงไหน? ภายใต้ข้อเรียกร้องที่มันดู radical แล้วหลายฝ่ายไม่ซื้อ คนอนุรักษ์นิยมไม่ซื้อ คนกลางๆ ไม่ซื้อ เราจะทำอย่างไรให้คำว่าประชาธิปไตยมันมีเนื้อหนังมังสาที่จับต้องได้ กินได้ คำว่ารัฐสวัสดิการคือคำตอบของเรื่องนี้ จึงจัดให้เพลงนี้เป็นเพลงหลักของวงในการชุมนุมปี 2563 เรียกว่าเป็นเพลงบังคับ
จำได้ว่าตอนที่แต่งเพลงนี้ ร้องไห้หลายรอบมาก ร้องไห้ทุกท่อนเลยเพราะมันคือชีวิตเรา เราไม่อยากเรียนสายการแพทย์เลย อยากเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์นี่แหละ แต่ตอนตัดสินใจสอบวันนั้น ไม่เด็ดขาดพอที่จะบอกพ่อแม่ ส่วนหนึ่งครอบครัวกดดัน คาดหวังอยากให้เราเป็นหมอ เราก็ไปสอบ กสพท. (วิชาความถนัดแพทย์) คะแนนขาดนิดหน่อย สำหรับเรา นิดหน่อยตรงนั้นคือหลักหมื่นคนแต่พ่อแม่อาจเข้าใจว่านิดเดียว ปีหน้าสอบใหม่สิ แต่เรารู้สึกว่ามันพอแล้ว แต่เขาก็อยากให้ไปเรียนอย่างอื่นสายการแพทย์ไว้ก็ดี เราก็เลือกเรียนเลือกเรียนกายภาพบำบัดทั้ง 4 อันดับ จากนั้นก็สอบติดกายภาพบำบัดที่มหิดล
ตอนนั้นก็ใช้ชีวิตแบบเรียนไปด้วยความรู้สึกเริ่มแรกคืออินกับคนไข้แต่ก็รู้ว่านี่ไม่ใช่ชีวิตเรา ไม่ได้ตั้งใจมีชีวิตเพื่อทำสิ่งนี้ไปตลอด จากนั้นคำพูดของมาม๊าโทรบอกว่า ไม่ลองกลับไปสอบดูเหรอลูก ยังถามจนปีที่แล้วเพราะอยากให้เรียนแพทย์ ท่อนเพลงที่บอกว่า “ให้ฉันมีชีวิตที่กำหนดเอง” หรือคำว่า “ข้าราชการ” สำหรับผมคือหมอ แต่เพื่อให้ตีความครอบคลุมคนอื่นด้วยคือ ข้าราชการ แต่เราเชื่อว่าเด็กหลายคนในประเทศนี้ที่ถูกกดดันว่าต้องไปเป็นหมอ เพราะว่าเป็นวิธีเดียวที่จะยกระดับฐานะทางชนชั้นได้ภายในหนึ่งเจเนเรชั่น ไม่ว่าปู่ทวดจะเป็นจับกัง คนงานหาบเร่ เมื่อมีคนหนึ่งเป็นหมอก็จะเปลี่ยนชนชั้นได้ทันที
เราเข้าใจว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ลูกหลานคนจีนจำนวนหนึ่งก็เป็นอย่างนั้นทั่วโลก นี่เป็นความทุกข์ทรมานของเด็กเอเชียเชื้อสายจีนที่จะต้องเจอแรงกดดันเช่นนี้ ทั้งที่เบื้องหลังของเรื่องนี้ก็คือว่าทำไมรัฐไม่โอบอุ้มคุณภาพชีวิตของคนทุกเจเนเรชั่นเอาไว้ และทำให้เด็กทุกคนได้ค้นพบตัวเอง ทำไมคุณต้องสร้างสภาวะที่เด็กทุกคนต้องทิ้งความฝันตัวเองเพื่อไปดูแลความฝันของครอบครัว ช่วงนั้นมีประเด็น LGBTQ เด่นขึ้นมาด้วย เราพบว่าคนจำนวนหนึ่งต้องปิดบังเพศสภาพตัวเองเพื่อสมัครเข้าราชการ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับ คำถามก็คือ ทำไมเขาเป็นตัวเองไม่ได้ในที่ทำงานซึ่งเป็นพื้นที่ที่เขาควรจะรู้สึกว่าปลอดภัยกว่านี้
ความสิ้นหวังและการชุมนุมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทั้งหมดนี้ เผด็จการสร้างเราขึ้นมา
แต่ละท่อนที่ร้องออกมา ก็ร้องไห้ทุกครั้งที่เล่นทั้งปี ไม่มีเวทีไหนปี 2563 ที่เล่นเพลงนี้แล้วไม่ร้องไห้จนเพื่อนรำคาญบอกว่า “ควบคุมตัวเองหน่อย อย่าอินเกิน ให้ร้องไป” ตอนหลังก็โชคดีที่มีอดีตแฟนเป็นนักละคร เขามีกระบวนทางละคร รู้สึกกับเพลงได้แต่ยังควบคุมตัวเองได้อยู่ คือการย้ายจุดโฟกัสไปที่อารมณ์ของเพลงมากกว่าอารมณ์ของตัวเอง
นึกถึงพ่อแม่ นึกถึงความยากลำบากช่วงที่บ้านล้มละลายและต้องทำงานเล่นดนตรีตอนกลางคืน ช่วยเก็บร้านถึงตี 2- ตี 3 นอนรอที่ป้ายรถเมล์มาตี 5 เพื่อผ่าอาจารย์ใหญ่ต่อตอน 7.30 น. ช่วงนั้นชีวิตมันลำบากมาก เรานึกถึงมันเรายังเจ็บปวด บาดแผลทางจิตใจตอนนั้นมันยังรักษาไม่หาย การผลิตซ้ำเรื่องนี้ออกมา จริงๆ แล้วมันเยียวยาเราทุกครั้งที่ได้ร้องเพลงนี้ เรามีอภิสิทธิ์มากเลยที่มีผู้รับฟังเป็นแสน เรามี privilege มากที่มีผู้คนรับฟังอย่างตั้งใจและรู้สึกไปกับเราอันนี้ต้องขอบคุณคนฟังทุกคนที่อดทนฟังเพราะเพลงมันยาวมาก แต่เอาเป็นว่าเพลงนี้ช่วยชีวิตผมจริง ทำให้ผมเข้าใจอะไรบางอย่างมากขึ้น เข้าใจบาดแผลในวินาทีนั้นมากขึ้น ทรมานกับมันน้อยลง สิ่งที่อดีตแฟนผมทำตอนนั้นคือ ให้ซ้อมเยอะๆ ซ้อมอยู่คนเดียว ซ้อมโดยตั้งใจร้องอย่างเดียว ไม่นึกถึงเหตุการณ์ในอดีต นึกถึงอารมณ์เพลงและผู้คนที่กำลังฟังจะได้รับประสบการณ์แบบไหนจากการร้องแบบไหน
ชีวิตช่วงปี 2559 – 2562 มันแย่มาก โดยเฉพาะปี 62 เดือนมีนาคม เอกชัย หงส์กังวานโดนเผารถ ต่อมาเดือนพฤษภาคมโดนกระทืบที่หน้าศาลอาญารัชดา เดือนมิถุนายน จ่านิวโดนกระทืบหน้าปากซอยบ้านตัวเอง ปี 62 ปีแห่งการกระทืบ เป็นปีที่ขวาพิฆาตซ้าย ยังไม่ถึงฆ่าแต่ขู่ มันปกคลุมด้วยความหวาดกลัวทั้งที่เป็นปีที่จะเลือกตั้ง เขาตั้งใจทำให้เรากลัว พอปี 63 จากจิตใจที่ห่อเหี่ยว เราได้รับการเยียวยาจากผู้คนที่ออกมาชุมนุม อยากร้องไห้ทุกครั้งที่เห็นผู้คนออกมาเยอะๆ พอเราร้องเพลงบางอย่างที่สื่อสารความรู้สึกของเราออกมาแล้วคนฟังเขารู้สึกเหมือนกันเป็นวินาทีที่อบอุ่นมาก เรารู้สึกว่าความกลัวหรือความรุนแรงปี 62 มันทำอะไรพวกเราไม่ได้แล้วกับผู้คนที่มันรู้สึกขนาดนั้นต่อให้คุณมาทุบตีผมวินาทีนี้ คุณก็ไม่สามารถทำให้มวลชนกลับไปรัก ศรัทธา เทิดทูนแบบเดิมได้
ช่วงปี 60 ถือเป็นปีของการล่าแม่มด 100% ปี 61 คนอยากเลือกตั้งก็โดนจับมากมาย เป็นปีที่ bnk48 เริ่มดัง แค่อยากเลือกตั้งก็โดนคดีเต็มไปหมด นักข่าวก็โดนหมด ย้อนไปปี 59 แพ้ประชามติคือความหดหู่ระยะแรก พอปี 60 เริ่มมีการล่าแม่มด ปี 61 เริ่มจับกุมคนอยากเลือกตั้ง ปี 62 เริ่มใช้ความรุนแรง ปี 63 ยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำทุกอย่างเพื่อให้เราสิ้นหวัง การชุมนุมในปี 63 ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่เผด็จการสร้างเราขึ้นมากับมือ ช่วงปลายปี 59 ถึงปี 60 ช่วงการ์ตูนต้องลี้ภัยและไผ่ซึ่งเป็นสมาชิกที่สำคัญมากของวง ถูกจับกุม ติดคุก 2 ปี 4 เดือน 19 วัน ก็รู้สึกว่าตอนนั้นทุกคนชัดเจนมากว่า ศัตรูของเราคือใคร ทุกคนรู้อยู่แล้ว
พ่อตอกย้ำว่าชีวิตคนจน ต่อให้ขยันก็ยังต้องจน มันมีชนชั้นนำไม่กี่คน ผูกขาดภาษีของเรา
เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้ในเพลงอยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ “พ่อตอกย้ำว่าชีวิตคนจน ต่อให้ขยันก็ยังต้องจน มันมีชนชั้นนำไม่กี่คน ผูกขาดภาษีของเรา” เราคิดว่ารัฐสวัสดิการมันเกี่ยวข้องกับเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมานี้โดยตรง ถ้าเราไม่มี sense ของความรู้สึกว่าทรัพยากรหรือภาษีของประเทศนี้เป็นของประชาชน มันไม่มีทางที่จะเกิดรัฐสวัสดิการเพราะเราจะต่อรองให้เกิดสิ่งที่ยกระดับคุณภาพชีวิตเราไม่ได้หรอก ถ้าเรายังยอมปล่อยให้ทรัพยากรของประเทศถูกใช้โดยเปล่าประโยชน์แบบไม่คำนึงถึงประชาชนในประเทศที่เหลือ
ไอเดียเรื่องรัฐสวัสดิการไปกันไม่ได้กับค่านิยมรัฐศักดินา ประชาชนไม่ควรต้องใช้เงินภาษีปรนเปรอใคร
เดิม คำว่ารัฐสวัสดิการเป็นคำต้องห้ามที่พูดถึงทีไรต้องนึกถึง real ซ้ายคอมมิวนิสต์ ทั้งที่มีข้อเสนอที่ซ้ายกว่านั้นเยอะมาก ไปไกลกว่านี้ได้อีกด้วยซ้ำ แต่ว่าซ้ายไทยคือขวาโลก เราก็รู้สึกว่ามันคือการขยับบาร์ในการขายอุดมการณ์สังคมนิยม มันทำให้คำนี้ไม่อันตราย ไม่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นคำคอมมิวนิสต์อีกแล้ว มันเป็นคำทั่วไปที่ทุกพรรคการใช้กันเป็นปกติ ไม่ได้ดูน่ากลัวแล้ว หลายคนขับเคลื่อนเรื่องนี้ก่อนหน้าไม่ว่าจะเป็นอาจาร์ยษัษฐรัมย์ อาจารย์ศักดินา หรือพี่ไผ่ นิติรัฐ อาจารย์เดชรัตน์ อาจารย์ผาสุก อาจารย์สฤณี ฯลฯ หลายคนพูดเรื่องรัฐสวัสดิการมาก่อนนานมาก แต่ในแง่การใช้คำนี้ในเนื้อในตัวของขบวนอาจจะไม่เคยมากเท่านี้
มวลชนพูดบนเวทีว่าต้องการรัฐสวัสดิการ เวทีปราศรัยก็พูดกันหมด น่าจะเป็นครั้งแรกในปี 63 ที่ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ซึมซับมันมาจากเพลง จากข้อเสนอต่างๆ และก็สอดรับกับช่วงที่ผมทำงาน wefair เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเป็นธรรม มี workshop ให้แกนนำประมาณเกือบ 200 คนเรื่องรัฐสวัสดิการ ทำทั้งในส่วนงานวัฒนธรรมและงานจัดตั้งถือว่าเป็นการทำงานที่สอดรับกัน หลังจากนั้นก็ทำเวิร์คชอปไปเรื่อยๆ มันทำให้เราไม่ขาดแคลน speaker ที่จะพูดเรื่องรัฐสวัสดิการเลยในทุกเวที
ตอนนี้ก็มีการทำงานทั้งในส่วน wefair งาน act lab และวงสามัญชน งาน act lab คือโครงการที่พยายามติดตั้งเครื่องมือในการเคลื่อนไหวและการสื่อสารรณรงค์และการจัดตั้งกลุ่ม เพราะเห็นการผุดกันขึ้นมาของหน้าใหม่เต็มเลย ต้องติดตั้งอะไรบางอย่างที่เป็นทักษะในเชิงกระบวนการให้เขา ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานขับเคลื่อนเรื่องคนพิการในช่วงปี 56 ขอทุน สสส ทำงานเรื่องคนพิการใน 7 ชุมชนในนครปฐม อำเภอละ 1 ตำบล ตอนนั้นไม่มีทักษะ เรียนรู้จากพี่สันติ รุ่งนาสวน เติมเรื่องอาสาสมัครและการสื่อสาร หาทุน ส่วนกระบวนการไปเรียนรู้จากเขา
ประเทศไทยภายใต้เลนส์ “คนไทยไม่พร้อมหรอก” คือการเมืองแบบอภิสิทธิ์ชนผูกขาด คนที่เป็นผู้นำชอบคิดแทน
ชูเวชเคยทำกับประชาไท เขียนข่าวเพื่อสิทธิคนพิการ มอนิเตอร์แวดวงนี้ตลอด การเคลื่อนไหวเชิงนโยบายในแง่กฎหมายจบแล้ว ที่สำนักข่าว disable.me ผมมีแฟนทำงานเป็น บก. ที่นี่ แรกๆ เป็นนักวิชาชีพที่จะเอาความรู้กายภาพบำบัดไปเทรนคนพิการ พอศึกษากระบวนการ independent living เป็นการถามเป้าหมาย การรับฟังการจัดกลุ่มสนับสนุนเพื่อให้เขาได้รับการปลดปล่อยจากข้อจำกัดต่างๆ
เรามักเจอคำปรามาสว่า คนพิการขี้เกียจ ไม่ยอมฝึก เอาแต่นอน ถ้าใช้กระบวนการไปจับ จะเจอร่องรอยบาดแผลบางอย่างที่ได้รับความพิการ เจอคำพูดคนในครอบครัว ทำร้ายจิตใจจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ นักกายภาพบำบัดมักจะถือว่าตัวเองรู้ ทุกวิชาชีพทางการแพทย์มักจะนึกว่าตัวเองรู้ อยากสั่งสอนคนไข้ วิธีคิดว่าตัวเองรู้ดี เป็นเทคนิเชียน เทคโนแครต โปรดสัตว์คนโง่ทั้งหลาย
วาทกรรมคนไม่มีคุณภาพ ประเทศไทยไม่พร้อมจึงอยู่ภายใต้เลนส์ที่เชื่อว่าตัวเองมีสิทธิที่จะทำอะไรบางอย่างที่ไม่ต้องเคารพเสียงของคนไข้ แต่ก็มีนักกายภาพหลายคนที่รับฟังคนไข้ที่จะต้องทำตาม ช่วงที่ทำงานคนพิการ มันช่วย shape หลักคุณค่าทางการเมืองที่เชื่อมั่นในมนุษย์ว่าเขาสามารถทำได้ เพื่อให้หลุดพ้นจากการพึ่งพิง ให้ได้พลาด ได้ลอง ได้ทำ ไม่เสียหายกับเขาเกินไปนัก การเมืองของประเทศไทยคือการคิดแทน ประชาชนไม่พร้อมหรอก ระวังนะโดนนักการเมืองหลอก ระวังคุณเป็นเครื่องมือของเขานะ เป็นต้น
ตอนนี้มีเพลงรัฐสวัสดิการเวอร์ชั่นสองแล้ว แต่ยังไม่ได้ปล่อย ปี 64 มีพนักงานคนนึงเขาวาดรูปประยุทธ์และเขียนเพลงมาโนช พุดตาล เขาฆ่าตัวตาย แฟนมาหาไม่ได้เพราะติดเคอร์ฟิว มีน้องชื่อประกายฟ้า คนนึงเป็นนักดนตรีที่โดดตึก นำไปสู่การเคลื่อนไหวหน้ารัฐสภาปี 64 นอกจากสองคนนี้ยังมีข่าวคนไร้บ้านที่นอนตายข้างถนนสองวันไม่มีคนมาเก็บศพ มีคนอดตายจริง เราคิดว่าภาวะอดอยากหมดจากไทยไป 40 – 50 ปีแล้ว จึงเกิดเพลงชื่อ ประกายฟ้าขึ้นมาเพื่ออุทิศให้กับสามเรื่องนี้ ตอนนี้อัดเพลงแล้วแต่ยังไม่เคยปล่อย เคยเอาไปเล่นที่งาน Amnesty (องค์กรนิรโทษกรรม), เล่นที่งานมหิดล เล่นปิดเสวนา
เป็นช่วงที่เราเศร้ามาก ดูข่าวคนตายทุกวันแอบรู้สึกดิ่ง รู้สึกอยากตายพอสมควร เลยได้ท่อนแรกมา ถ้านี่เพลงสุดท้ายฝากบอกทุกคนว่าไม่เป็นไร แต่ท่อนท้ายๆ พากลับมามองที่รัฐอีกครั้งนึง ไม่ใช่เรื่องปัจเจก เพลงนี้ทำงานกับคนจริงๆ มีเพลงฮึกเหิม เพลงให้ความหวัง เพลงดิ่งไปเลย จะพาบรรยากาศดิ่งตามไปด้วย เคยปล่อยเพลงวังวน พาเพื่อนดิ่งไปด้วยก็เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบในการปล่อยเพลงมากขึ้น
นักดนตรีรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้การรวมกลุ่ม ต่อให้คุณไม่ทำ เขาก็เลือกที่จะทำอยู่ดี
ตอนนี้วงดนตรีเริ่มหันมาร้องเพลงด้านการเมืองมากขึ้น หลายวงก็สนใจอยู่ ถ้าดูเพลงลูกทุ่ง พูดถึงชีวิตคนจนที่เหลื่อมล้ำอยู่แล้ว การตบเข้าคอนเซปต์ว่าใครรับผิดชอบเรื่องนี้ คือรัฐ ปัจเจก การโจมตีไปที่รัฐไม่ใช่แค่วงสามัญชน มีแรปเปอร์หลายๆ คนที่ทำมานาน ต้องขอบคุณกระแสแรปที่มา ทำให้วงการเพลงกล้าหาญที่จะพูดถึงสังคมมากขึ้น สอง วัฒนธรรมเกาหลีคือคนไทยเสพเกาหลี สื่อเยอะ ได้คุณค่าบางอย่างที่เปนคุณค่าสากล ทำให้เราเลือกที่จะผลิต คนเจนนี้เลือกคุณค่าใหม่มากขึ้น มีทั้งเพลเยอร์และผู้ผลิตที่มีวัฒนธรรมในการผลิตงานที่กล้าจะดิสกัน กับผู้ฟังที่เสพคุณค่าสังคมใหม่ ตลาดรองรับ
ส่วนผสมนี้พร้อมกับการเคลื่อนไหวที่ขยับบาร์ไปจนถึงการพูดชื่อออกมาโดยไม่ต้องใส่ยศ ทำให้บาร์ของนักแต่งเพลงและอุตสาหกรรมขยับตัว มันเป็นการแสดงออกที่มีข้อจำกัดอยู่ดี ในฐานะนักดนตรีเราก็ใช้เพลงการต่อสู้เหมือนกัน แสดงตัวเล่นดนตรีในม็อบ หลายคนกล้าหาญมาก เราก็รอคอยเพลงที่เขาแต่งอยู่ เพลงจากปากพวกเขาดังกว่าสามัญชนอยู่แล้วโดยองคาพยพ เราไม่มีค่ายเพลง ไม่มีอะไรปล่อยเป็นออร์แกนิกส์ ถ้าเขาส่งต่อคุณค่าบางอย่าง เขาส่งต่อสำเร็จแล้ว ถ้าไปถึงการส่งต่อหลักการและ value บางอย่างน่าจะทำให้แนวร่วมประชาธิปไตยแข็งแรงขึ้น ในฐานะนักแต่งเพลงประชาธิปไตย ควรจะ empower ให้คนมั่นใจ ทุกคนกำหนดชีวิตตัวเองได้ คนที่ไม่ได้ขึ้น Cat Expo เพราะเจ้าของงานเป็นอนุรักษ์นิยม ถูกเลือกปฏิบัติทางการเมือง ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกัน ต่อให้เราไม่เลือก เขาก็เลือกอยู่ดี ช่วง 20 สิงหาคม 2563 น่าจะเป็นคอนเสิร์ตหนึ่งที่รวบรวมฝ่ายประชาธิปไตยมากที่สุด
ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คนรุ่นใหม่คาดหวังรัฐสวัสดิการเป็นนโยบายหลักของทุกพรรค หลายคนคิดเรื่องนี้ โดยไม่รู้ตัว เป็นประเด็นสร้างพวก ทุกคนวินวินหมด ในทางกฎหมายอาจยังไม่เปลี่ยนเยอะ แต่คิดว่ากรรมาธิการสวัสดิการสังคม เดิมไม่เชื่อว่าจะหาเงินมาได้ ตอนนี้เชื่อแล้ว จากพรรคเพื่อไทยปี 62 ไม่มีนโยบายรัฐสวัสดิการแม้ก่อนหน้านั้นเป็นตัวจริงเรื่องนี้มาตลอด เริ่มดึงหมอเลี้ยบ ดึงจาตุรนต์กลับมา สายสังคมนิยมถูกดึงกลับมา เรื่องรัฐสวัสดิการ คนจะใช้เสรีนิยมกลับมาเหมือนปี 62 คนรุ่นใหม่ไม่ซื้อ แม้แต่ก้าวไกล คุณไหม ศิริกัลยา มองว่าควรให้คนจนก่อน มันช่วย detect คนจนได้โดยไม่ลดทอนคนจนไม่ต้องพิสูจน์ตัวเอง เริ่มดึงอาจารย์เดชรัตน์เข้าไปเป็นปีกนโยบาย
หญิงหน่อยตั้งพรรค ก็ดึงนโยบายบำนาญเข้าไป เป็นกระแสที่ไม่หวนกลับ เป็นการแข่งขันทางการเมือง อยู่บนหลักนโยบายที่แข่งกันเรื่องสวัสดิการ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จ จากนี้ก็ต้องมาดูนโยบายว่าแบบไหนที่ต้อง สวัสดิการถ้วนหน้า เป้าหมายในการแต่งเพลง ชี้ให้เห็นว่า การพิสูจน์ความจนมันมีปัญหายังไง นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมรับไม่ได้เรื่องถ้วนหน้า cost ในการ detect ความจน ถ้าแบ่งไทยออกเป็น 10 กลุ่ม ที่รวยที่สุดคือ 5 หมื่น อีก 9 กลุ่มที่เหลือไม่ได้รวยนะ อย่าไปกังวลเรื่องการให้ถ้วนหน้า
การหล่อเลี้ยงความหวังท่ามกลางความสิ้นหวัง
ปี 57 ตอนนั้นรู้สึกโดดเดี่ยว มองไปป้าเสื้อแดง ความรุนแรงโดนสลายขนาดนั้น เด็กรุ่นใหม่อยากให้ใส่เสื้อดำ เขาก็ยอมถอดเสื้อแดงปี 57-59 กลัวทำให้เด็กเสีย เป็นกลุ่มที่เสียสละมาก เป็นตัวอย่างมากว่าเราจะเจอคนแก่แบบนี้ อีโก้ไม่เยอะ เด็กให้ทำอะไรก็ทำ เชื่อมั่นในตัวเขา ให้เขาได้เติบโต เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก การถามว่ากินข้าวรึยังลูก เดินลงเวทีบอกว่าวันนี้พูดดี ร้องเพราะ ควักค่าเดินทางให้ ค่าเครื่องเสียงเจ้าของก็ขนมาเองด้วยซ้ำ ภายใต้ความโดดเดี่ยวของคนเจนเดียวกัน มีความอบอุ่นของคอมมูนิตี้เล็กๆ อยู่ เป็นการหล่อหลอมของการพิสูจน์ตัวเอง การยืนหยัดของคนเสื้อแดงที่ไม่หือไม่อือ ไม่เร่งให้เราโตเกินวัย ทำให้เราโตและเรียนรู้ว่าเราจะสื่อสารกับผู้คนอย่างไร
ได้บทเรียนเรื่องแรกจากป้าเสื้อแดงและการทำงานเรื่องคนพิการ เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ อดทน รอคอย ไม่โบยตีเพื่อนว่าทำไมไม่ทำ เพราะนอกจากเขาจะเดินหนีแล้วจะไม่อยากพัฒนาทักษะอะไรเพิ่ม เรื่องที่สอง คนที่ตัดสินใจว่าจะทำแล้ว สามารถทำอย่างอื่นนอกจากม็อบได้ คิดเล็กเป็น สะสมชัยชนะไป การทำให้คนหนึ่งคนเปลี่ยนความคิด เราไม่รู้ว่าเขาไปทำอะไรต่อ มันคือคุณูปการต่อชัยชนะแน่นอน เป้าหมายคือคน 3% ของประเทศนี้ออกมาเคลื่อนไหว แต่ 60-70% เห็นด้วยกับเรา ชี้วัดจากที่นั่ง สส 350 จาก 500 คนที่เป็น voter ให้ที่นั่ง สส มากพอจะชนะ สส. เพิ่มได้ 1 คน คุณก็ต้องทำ มองตัวเองเป็นนักปฏิวัติให้ได้ เป็นคนชงกาแฟ เป็นนักเขียน เริ่มจาก 1คน อย่าคิดว่าต้องเปลี่ยนให้ได้หลักแสนหลักล้าน
เรื่องที่สาม การสร้างวัฒนธรรมของการรวมกลุ่ม เพื่อให้เกิด unit ในการจัดการอะไรบางอย่าง เช่นเวลาเรารวมตัว ปี 63 ม็อบ 900 ครั้ง ปี 64 ม็อบ 1,600 ครั้งเมื่อมีการรวมกลุ่มจะคงสถานะ ได้โดยไม่มีมีองค์กรอื่น ถ้าเริ่มรวมกลุ่ม ไม่ใช่แค่จับคนเข้ากรุปไลน์ คือการปฏสัมพันธ์ต่อเนื่องใกล้ชิด พัฒนายุทธศาสตร์ กลุ่มราษฎัม ราษเพลส ทะลุแก๊ส ทะลุวัง ทะลุ มข ทะลุฟ้า คนรุ่นใหม่นนทบุรี กลุ่มพยาบาล กลุ่ม rad ฯลฯ แม้แต่วงสามัญชน มันยืนระยะการเคลื่อนไหวได้ด้วยการรวมกลุ่ม มันประคับประคองความรู้สึกกัน เป็นพื้นที่ฟูมฟัก ถ้าเราเจอคนที่น่าสนใจ จากการเริ่มทำให้เขาเปลี่ยนความคิด หาภารกิจที่ทำร่วมกัน ชวนไปทำนั่นนี่ร่วมกัน
วัฒนธรรมการรวมกลุ่มอาจหมายถึงการสร้างการมีส่วนร่วมด้วยว่าอยากทำอะไร เชื่อเขาแม้ไม่เห็นด้วย อดทนรอคอย ทัศนคติทางการเมือง เหมือนที่ป้าเสื้อแดงทำกับพวกเราปี 57-58 นั่นเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราเติบโต
ทิศทางสวัดิการของรัฐ
มีข้อเสนอ wefair 9 ด้าน ควรรับประกันคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยโดยไม่ต้องร้องขออ้อนวอน แม้แต่เรื่อง UBI (Universal Basic Income) คือการให้ประชาชนมีรายได้พื้นฐาน การมีวันหยุดมากพอที่จะเสพความสุขส่วนตัว หรือที่อยู่ที่ทำกิน ทำไมต้องมีคนไร้บ้าน ผมจำได้ว่าป้าไปเนเธอร์แลนด์ 25-26 ปีที่แล้ว ถ้าบ้านไหนมีสองคน รัฐให้บ้านหลังเล็ก ถ้าครอบครัวขนาดใหญ่ขึ้นก็เปลี่ยนที่อยู่ รัฐจัดสรรที่อยู่อาศัยให้โดยไม่ต้องกังวลที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ซุกหัวนอน ข้อเสนอคือลดค่าดอกเบี้ยที่แพงกว่าเงินต้นอีก ถ้าไปไกลกว่าข้อเสนอที่เป็นจริงได้ คือรัฐเป็นผู้จัดสรรที่อยู่อาศัยให้ ภายใต้เงื่อนไขนั้น รัฐจะใหญ่มาก เราต้องทำให้รัฐเล็กลงด้วยการกระจายอำนาจ ให้รัฐท้องถิ่นใหญ่พอที่จะคว่ำรัฐส่วนกลางได้ในบางมุม
รัฐส่วนกลางจำกัดอำนาจลง ถ้าท้องถิ่นใหญ่ขึ้น แข่งกันจัดรัฐสวัสดิการ จังหวัดนี้เรียนฟรี จังหวัดนี้เรียนฟรี คุณเป็นคนจังหวัดเดียวที่ไม่ได้เรียนฟรี แต่ละท้องถิ่นจะหาตัวแทนพรรคแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อเอาสวัสดิการกระจายมากขึ้นถ้าถี่พอ คนก็ไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ ปลดล็อคท้องถิ่นให้แข็งแรงพอที่จะจัดสรรสวัสดิการตัวเอง มีขนส่งมวลชนที่ดีพอ จะปลดล็อคท้องถิ่นได้ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องชนะเลือกตั้งปี 66 ให้ได้ เราจะพูดเรื่องงบประมาณทุกงบได้อย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องแคร์ว่าจะตัดงบใคร เท่าไร เรายังมีงานให้ทำอีกเยอะ คุณต้องทำตัวต่อตัวอีกเยอะเลย ต้องอาศัยคนจำนวนมหาศาลในการส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้
ฝากติดตามเพจวงสามัญชน สามารถติดตามได้ทั้งผลงานเพลงและสินค้าที่ผลิตออกมา ถือเป็นความตั้งใจมาก อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเคยพูดว่า การเคลื่อนไหวอะไรก็ตามที่คน consume ตลอดเวลา ทั้งวี่ทั้งวัน อยากชวนให้ผลิตงานของตัวเองไม่ว่าจะเป็นนักเขียน กวี นักแต่งเพลง นักวาด นักเล่าเรื่อง พ่อแม่ ครู อาจารย์ เพื่อน สามารถส่งต่อประชาธิปไตยได้ตลอดเวลาในเนื้อในตัว ไม่ต้องพึ่งเพลงสามัญชนทั้งหมด เพราะเพลงสามัญชนก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคน บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็ทำเองได้
Facebook Page: วงสามัญชน
YouTube: วงสามัญชน
ขอขอขอบคุณผู้ให้โอกาสสัมภาษณ์ ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักร้องนำวงดนตรีสามัญชน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา