ผู้ผลิตเครื่องบินเร่งพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับ แต่ฝั่งผู้โดยสารกลับบอกว่าไม่พร้อมที่จะใช้บริการ

ฝั่งรถยนต์ไร้คนขับอาจเริ่มได้การยอมรับมากขึ้นบ้าง แต่ถ้าไปดูยานพาหนะอันอื่น เช่นเครื่องบิน กลับยังไม่เป็นที่ยอมรับของผู้โดยสาร แม้จะบางครั้งเครื่องบินที่นั่งอยู่อาจทำการลงจอดอัตโนมัติ และไม่ต้องมีนักบินควบคุมก็ตาม

ภาพจาก Flickr ของ Eric

ไม่เชื่อใจ หรือยังอยากไปกับคนจริงๆ มากกว่า

เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากบริษัทวิจัย UBS พบว่า เครื่องบินไร้คนขับสามารถช่วยสายการบินต่างๆ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นค่าทักษะวิชาชีพ 31,000 ล้านดอลลาร์, ค่าฝึก 3,000 ล้านดอลลาร์ และค่าน้ำมันอีก 1,000 ล้านดอลลาร์ และการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ก็น่าจะช่วยลดราคาค่าตั๋วเครื่องบินได้อีกด้วย

แม้มันจะมีข้อดีมากมาย แต่จากการสำรวจผู้โดยสารกว่า 8,000 คนก็พบว่า 54% ของผู้ถูกสำรวจนั้นปฏิเสธที่จะขึ้นเครื่องบินที่ไม่มีคนขับจริงๆ หรือมีสมองกลอัจฉริยะมาเป็นคนบังคับแทน แต่ในกรณีที่ราคาค่าตั๋วเครื่องบินถูกลงกว่าเดิมมาก อัตราการตัดสินใจใช้บริการก็จะมากขึ้นตาม

ในทางกลับกันผู้บริโภคหลายคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังนั่งอยู่บนพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติแล้ว เช่นรถยนต์ที่ถอยจอดอัตโนมัติได้ รวมถึงเครื่องบินที่ลำใหม่ๆ ก็เริ่มมีระบบลงจอดอัตโนมัติแล้ว ซึ่งผู้โดยสารจะไม่รู้เลยว่า การลงจอดครั้งนี้เป็นนักบินควบคุม หรือสมองกลภายในเครื่องเป็นคนสั่งการ

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเครื่องบินหลายรายก็อยู่ระหว่างทดสอบเครื่องบินไร้คนขับ เช่น Boeing ก็นำ Artificial Intelligence (AI) เข้าทดสอบบินในเครื่องจำลองการบิน และพบว่าทำคะแนนได้ค่อนข้างดี สามารถทดแทนบางงานของนักบินได้ รวมถึง Airbus ก็เพิ่งทดสอบ Sagitta ที่เป็นเครื่องบินขนาดเล็ก และบินโดยไม่มีนักบินบังคับราว 7 นาทีได้สำเร็จไปเมื่อเดือนก.ค.

สรุป

ความเชื่อใจยังเป็นตัวแปรสำคัญของการโดยสารยานพาหนะไร้คนขับอยู่ แม้ว่านักพัฒนาจะออกแบบยานพาหนะตัวนั้นให้ขับขี่อย่างปลอดภัยแค่ไหน ถ้ายังลบภาพจำเดิมๆ หรือลบเรื่องคนเก่งกว่าหุ่นยนต์ไปไม่ได้ก็คงจะยาก แต่ก็เชื่อว่าอีกไม่นานทุกคนน่าจะยอมรับเรื่องยานพาหนะไร้คนขับ และเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์อีกรอบ

อ้างอิง // Fortune

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา