วิเคราะห์สถานการณ์ 3 ผู้ให้บริการมือถือ AIS, dtac, True เมื่อไม่มีการประมูลคลื่นใหม่

ปี 2017 ตลาดโทรคมนาคม ผู้ให้บริการมือถือหลัก 3 ราย คือ AIS, dtac และ True ยังมีความเคลื่อนและการทำตลาดให้เห็นอยู่พอสมควร ส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมรวม เติบโตขึ้นที่ประมาณ 4% แต่ปีนี้มีแนวโน้มเติบโตลดลง ทั้งจากการประมูลที่เลื่อนออกไป และมีความเป็นไปได้ที่จะตัดงบการตลาด เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ais, dtac, true

ภาพรวม 2017 ยังแข่งขันกันอยู่บ้าง

สำหรับปี 2017 ที่ผ่านมา AIS ก้าวเข้าสู่การเปิดผู้ให้บริการคอนเทนต์แบบเต็มตัว ประกาศพันธมิตรอย่าง HBO, Netflix ทำตลาด AIS Fibre อย่างจริงจัง ดังนั้นการทุ่มงบในการเปลี่ยนแปลงตัวเองจาก ผู้ให้บริการมือถือ เป็นผู้ใหบริการดิจิทัลคอนเทนต์ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และใช้เงินไปไม่น้อย ซึ่งผลตอบรับที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ขณะที่ dtac ตามที่ Brand Inside วิเคราะห์ไปแล้วว่า จากนโยบายการตัดงบฝ่ายขายและการตลาดจากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง Telenor ส่งผลกระทบต่อ dtac ไม่น้อย ทำให้ปีที่ผ่านมา dtac เริ่มต้นปีได้ดี ก่อนจะเงียบหายไปในครึ่งปีหลัง และน่าจะส่งผลมาถึงปีนี้ด้วยถ้านโยบายยังไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วน True ปีที่ผ่านมาทุ่มตลาดอย่างหนัก หลังจากชนะการประมูลคลื่นความถี่ กลายเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นเยอะที่สุด เป้าหมายคือ โค่น dtac ลงให้ได้อย่างถาวร และท้าทาย AIS ซึ่งเป็นที่ 1 ในตลาดมาโดยตลอด

True และ BNK48
True และ BNK48

2018 ไม่มีประมูลคลื่นใหม่ แต่ตัวแปรคือ 2300

สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ปีนี้ไม่คึกคัก คือการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ 900 และ 1800MHz น่าจะถูกเลื่อนไปเป็นปี 2019 ตัวแปรหนึ่งคือ การเจรจาพันธมิตร dtac/TOT ใช้คลื่น 2300MHz ที่ถ้าประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อไร dtac ต้องลงทุนและเร่งทำตลาดอีกครั้ง

คาดการณ์ว่าปลายเดือน มี.ค. หรืออย่างช้าในเดือน เม.ย. น่าจะประกาศความร่วมมือคลื่น 2300MHz ได้ เป็นไฟท์บังคับให้ dtac ต้องเดินเกมการตลาดทันที โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดแข็งของคลื่น 2300MHz หากไม่มีแคมเปญใหญ่ออกมากระตุ้น ก็อาจจะเสียโอกาสกระตุ้นตลาดไป

เช่นเดียวกับ True ที่ล่าสุด ลงทุนจ้าง BNK48 ตลอด 1 ปีด้วยเม็ดเงินประมาณ 60-70 ล้านบาท และเชื่อว่าตลอดทั้งปี ถ้า True ต้องการรักษาโมเมนตัมไว้ ต้องอัดงบลงมาอีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดคู่แข่งอย่าง dtac

Play 365 ของ AIS

จับตา AIS กับการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่

การแสดงวิสัยทัศน์ หรือ AIS VISION 2018 หนึ่งในโปรดักส์ใหม่คือ PLAY 365 เป็นแพลตฟอร์มให้ Content Creator ของไทย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีเพราะโอกาสที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ ต้องสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง และใช้จุดแข็ง คือ ความเป็นโลคอล ให้เกิดประโยชน์ แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะสู้กับ YouTube, Facebook หรือ LINE TV

แนวทางที่น่าสนใจประการหนึ่งซึ่งยังไม่มีใครทำได้สำเร็จ คือ การตั้งบริษัทร่วมทุน อาจมี AIS เป็นแกนนำ และร่วมทุนกับบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ในไทย เช่น ช่อง 3, ช่อง 7, Workpoint และอื่นๆ ให้คอนเทนต์ไทยมาเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทร่วมทุนนี้เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าผลักดันให้เกิดขึ้นคือ โอกาสมหาศาล

สัดส่วน 90% คนไทยบริโภคคอนเทนต์ไทย ทั้งหนัง ละคร เพลง และคลิปต่างๆ ทั้ง The Mask Singer, บุพเพสันนิวาส หรือคอนเทนต์อื่นๆ แทนที่แต่ละคนจะมีแพลตฟอร์มของตัวเอง หรือใช้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ถ้ามาใช้ของไทยเอง จากนั้นก็แบ่งรายได้ค่าโฆษณากัน น่าจะเป็นทางออกที่ดี

Tourist และ Migrant ตลาดที่ไม่ควรพลาด

อีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจมาก คือนักท่องเที่ยว (Tourist) และแรงงานข้ามชาติ (Migrant) โดยในปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้ไม่น้อย ซึ่ง dtac สามารถยึดครองตลาดนี้ได้ดี โดยส่วนของ Tourist มี คนจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักประมาณ 9.5 ล้านคนเป็นลูกค้าสำคัญ เมื่อเข้ามาไทย ชักชวนให้เปลี่ยนมาใช้ซิมในประเทศไทยซึ่งราคาประหยัดกว่า ซึ่งต้องทำตลาดตั้งแต่ก่อนออกจากประเทศจีน

ขณะที่ตลาด Migrant ด้วยการเปิดภูมิภาคอาเซียน มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนพม่า รวมถึง เวียดนาม, กัมพูชา และลาว ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่ควรพลาด หากนับสองตลาดนี้รวมกัน dtac ยังครองส่วนแบ่งมากที่สุด แต่เชื่อว่า AIS และ True กำลังเร่งทำตลาดแน่นอน

สรุป

ทุกรายมีโอกาสเซฟตัวเอง ลดงบการตลาดเพื่อรักษาเนื้อรักษาตัว เว้นแต่ว่า True ที่กระแสกำลังดี จะทุ่มตลาดต่อเนื่อง หรือ dtac ถ้าได้ 2300 มาครองก็คงต้องทำตลาดหนักเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน และ AIS ที่แข่งขันกับตัวเองในการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ถ้าทั้งหมดไม่เกิดขึ้น ปีนี้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีโอกาสเงียบเหงา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา