ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงแสดงความสนใจอยากเข้าร่วมกรอบความร่วมมือ TPP (Trans-Pacific Partnership) เป็นครั้งแรก เขาพูดในเวทีประชุม APEC เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า โลกและเอเชียแปซิฟิกได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมามากมาย โดยมีไวรัสระบาดเป็นตัวเร่งเครื่อง
สี จิ้นผิงกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกประสบภาวะซบเซามากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีการใช้นโยบายแบบเอกภาคี (unilateralism ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ มักจะใช้เป็นประจำ เป็นการตัดสินใจแบบลำพัง ไม่คำนึงถึงประชาคมโลกที่เหลือ เช่น การถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก หรือการถอนตัวจาก TPP เมื่อปี 2017) และนโยบายแบบปกป้องมากขึ้น (protectionism กล่าวคือ โลกหันมาใช้นโยบายปกป้องทางการค้ามากขึ้น หลังโควิดระบาดจนต้องหันมาพึ่งตัวเองอย่างหนักมากกว่าจะพึ่งพาความร่วมมือระหว่างประเทศ)
เรียกได้ว่า เมื่อโควิดระบาดทั่วโลกจนโรงงานโลกอย่างจีนต้องปิดตัวชั่วขณะ ทำให้ซัพพลายเชนทั่วโลกเกิดสภาวะชะงักงัน หลายประเทศจึงหันมาพึ่งพาตัวเองและหันมาชูนโยบายที่ไปตามทิศทางชาตินิยมมากขึ้น เริ่มนำพาประเทศออกจากกับดักโรงงานประเทศจีน หลายประเทศหันมาปกป้องตัวเอง เริ่มหันหลังให้จีน ออกนโยบายหนุนบริษัทภายในประเทศให้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อบรรเทาปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกด้วยการกระจายแหล่งซัพพลายเชนเพิ่ม สี จิ้นผิงผู้นำประเทศซึ่งมีตราประทับที่โลกรับรู้ทั่วกันว่าเป็นแหล่งโรงงานโลกก็ประสบปัญหาไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ สี จิ้นผิงจึงเริ่มหันมาเรียกร้องให้ชาติสมาชิกในเวที APEC จงช่วยกันสนับสนุนให้มีการค้า การลงทุนที่เปิดกว้างขึ้น และยังแสดงความปรารถนาว่าสนใจจะเข้าร่วม TPP หรือ CPTPP อีกด้วย (CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)
ก่อนหน้านี้ จีนก็เพิ่งร่วมลงนามในกรอบความตกลง RCEP ที่มีการเจรจายาวนานมากถึง 8 ปี แต่ความร่วมมือนี้ก็อยู่ภายใต้ความตกลงที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึง 30% ของ GDP โลก ซึ่งมีสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 + เอเชียตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
การแสดงท่าทีสนใจของ สี จิ้นผิงที่มีต่อ TPP หรือ CPTPP นี้ถือเป็นครั้งแรกหลังจากที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ที่ถอนตัวออกไปตามยุทธศาสตร์ America first หากจีนได้เข้าร่วม TPP ครั้งนี้อีก จะถือว่าจีนได้มีกรอบความร่วมมือด้านการค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 2 แห่งไว้ในครอบครอง คือ RCEP และ TPP ขณะที่สหรัฐฯ ไม่มีตัวตนอยู่ในกรอบความร่วมมือทางการค้าขนาดใหญ่เช่นนี้เลย
ก่อนยุคสมัยทรัมป์ TPP ถือเป็นสะพานเชื่อมสหรัฐฯ กับเอเชียแปซิฟิกที่เริ่มเกี่ยวพันกันในช่วงปลายยุคสมัยของ George W. Bush จากนั้นจึงเริ่มจริงจังมากขึ้นในยุค Barack Obama และมาถอนตัวในสมัยทรัมป์ โดยทรัมป์ถอนตัวออกจาก TPP นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อมกราคม 2017
ทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจาก TPP เรียกได้ว่าหมดยุดสมัยแห่งความร่วมมือทางการค้าภายใต้กรอบพหุภาคี ชูนโยบาย Make America Great Again ด้วยการหารือแบบทวิภาคีหรือสองฝ่ายมากขึ้น และอ้างในแถลงการณ์ว่าเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมสัญชาติอเมริกันและปกป้องแรงงานอเมริกันมากขึ้น
TPP ถือเป็นกรอบความตกลงทางการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกหรือครอบคลุม 40% ของ GDP โลก
TPP (Trans-Pacific Partnership) นี้เกิดจากการรวมตัวกันจากกลุ่มเล็กๆ ประกอบด้วยบรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ช่วงปี 2005 จากนั้นในปี 2008 สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี George W. Bush ก็ประกาศร่วมเจรจากับกลุ่มนี้ ที่เริ่มมีออสเตรเลีย เวียดนาม เปรู เข้ามาร่วมด้วย
จากนั้นการเจรจาก็เริ่มขยายวงใหญ่ขึ้นเมื่อแคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเม็กซิโกเริ่มเข้าร่วม นอกจากนี้ก็ยังมีโคลัมเบีย ฟิลิปปินส์ ไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ศรีลังกาประกาศแสดงความสนใจ ตามด้วย อินโดนีเซีย อังกฤษ และจีนล่าสุดที่ประกาศแสดงความสนใจจะเข้าร่วมมือกรอบความตกลงนี้
ความตกลงภายใต้กรอบ TPP หรือ CPTPP นี้ ถ้าประเทศต่างๆ หันมาให้ความสนใจร่วมมือเป็นสมาชิกดังกล่าวจะได้อะไรเพิ่มขึ้นต่างไปจากเดิม สิ่งแรกที่จะลดลงและถูกกำจัดออกไปคือกำแพงภาษี กำแพงภาษีนี้ออกฤทธิ์เดชรุนแรงแค่ไหนก็ให้นึกย้อนไปในช่วงที่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ จนต้องขึ้นภาษีโต้กลับกันไปมา หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า
ถ้าความตกลงดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล กำแพงภาษีทางการค้าจะหายไป ข้อกำหนดที่เป็นข้อจำกัดทางการค้าข้ามพรมแดนก็เลือนหาย กลายเป็นค้าขายกันสะดวกมากขึ้น นโยบายปกป้องทางการค้าที่เคยมีระหว่างประเทศ แต่ถ้าเป็นเพื่อนสมาชิกในวงความร่วมมือเดียวกันก็จางหาย การค้าจะเป็นธรรมมากขึ้นภายใต้กฎกติกาที่กำหนด ตลอดจนมาตรฐานการดูแลแรงงานก็เป็นไปตามกฎกติกาสากลมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐภาคีก็จะเคารพต่อทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น
ประเด็นที่จีนเริ่มหันมาให้ความสนใจหรืออยากเข้ามาร่วมวง TPP มากขึ้น ทำให้ Michael Froman ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวว่า จีนอาจจะสนใจกรอบความร่วมมือในเชิงอุดมคติเท่านั้น ตามที่ได้ระบุไว้ข้างต้นว่า มาตรการต่างๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นกำแพงภาษี มาตรการปกป้องทางการค้า การเคารพต่อทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมจะหมดไปภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว จีนจะทำได้จริงหรือไม่หากกติกานั้นเป็นกติกาสากลแต่จีนมองว่ากติกาดังกล่าวเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกำหนด กฎหมายในการใช้แรงงาน จีนจะให้คำตอบกับความร่วมมือภายใต้กรอบ TPP อย่างไร กรณีการใช้แรงงานชาวอุยกูร์เยี่ยงทาส ตลอดจนประเด็นละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา และอีกหลากหลายท่าทีที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโลก จริงอยู่ว่าผลประโยชน์ภายใต้กรอบพหุภาคีมันหอมหวาน แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวจะล้ำค่ามากพอที่จีนจะปรับเปลี่ยนนโยบายของจีนให้เป็นไปตามสากลหรือไม่ เรื่องนี้ต้องติดตามหลัง Joe Biden ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ Biden จะผลักดันให้ Xi Jinping ร่วมวงเจรจาภายใต้กรอบพหุภาคีมากแค่ไหน จีนจะมีท่าทีเปลี่ยนไปอย่างจริงจังหรือไม่ ต้องติดตาม
- FBI จัดหนัก มองจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคง-เศรษฐกิจ-เป็นเผด็จการ-เป็นโจรกรรมความมั่งคั่ง
- หลังสหรัฐฯ แบน: H&M ประกาศไม่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตจีนที่บังคับใช้แรงงานในซินเจียง
ที่มา – NHK, Nikkei Asia (1), (2), Council on Foreign Relations, The White House, Brookings
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา