หลังสหรัฐฯ แบน: H&M ประกาศ ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตจีนที่บังคับใช้แรงงานในซินเจียง

H&M เริ่มแล้ว ค้าปลีกแฟชั่นยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดนระบุว่า ไม่ได้ทำงานกับโรงงานผลิตสิ่งทอในซินเจียงและจะไม่ใช้วัตถุดิบจากพื้นที่แห่งนี้แล้ว 

H&M, เอชแอนด์เอ็ม, Hennes & Mauritz ภาพจาก H&M

ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ สร้างปัญหาให้กันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด H&M ที่ถือเป็นแบรนด์แฟชั่นค้าปลีกขนาดใหญ่ก็ออกมาเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่ายุติความสัมพันธ์กับผู้ผลิตใยสังเคราะห์จากจีน เนื่องจากมีข้อมูลเผยแพร่ออกมาว่า มีการบังคับใช้แรงงานจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียงซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ 

ทั้งนี้ รายงานจากสถาบัน think tank อย่าง ASPI (Australian Strategic Policy Institute) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า H&M คือหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานผ่านผู้ผลิตเส้นด้าย dyed yarn (เส้นด้ายที่ผ่านกระบวนการย้อมสีก่อนนำไปทอผ้าต่อ มีราคาสูงเพราะบวกราคาย้อมสีไปแล้ว) 

ทั้งนี้ H&M ระบุว่าไม่เคยมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับโรงงาน Huafu ใน Anhui ที่อยู่ในซินเจียง ตามลิสต์ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่ามีการบังคับใช้แรงงาน แต่  H&M ก็ยอมรับว่าเกี่ยวข้องทางอ้อมกับ Shangyu ใน Zhejiang ซึ่งก็เป็นของ Huafu Fashion แต่ H&M ก็ยืนยันว่า Shangyu ไม่ได้มีการบังคับใช้แรงงาน

ขณะเดียวกันกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ชาวอุยกูร์กว่าล้านคนถูกทรมานในค่ายปรับทัศนคติในจีน (political re-education camps) รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เคยเผยแพร่รายงาน The Chinese Communist Party’s Human Rights Abuses in Xinjiang มาก่อน

กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในซินเจียง โดยระบุว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ค่ายเพื่อกักกันชาวอุยกูร์ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก และสามาชิกชนกลุ่มน้อย Turkic Muslim ในซินเจียง จีน 

มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายรูปแบบ ทั้งบังคับใช้แรงงาน ทรมานร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ สอดแนมตลอดเวลา และยังทำให้ครอบครัวแตกแยก ไปจนถึงกดปราบการแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์และสมาชิกฯ บังคับให้คุมกำเนิดด้วย และมาตรการเข้มข้นที่จะทำให้ไม่สามารถขยายครอบครัวต่อไปได้

H&M, เอชแอนด์เอ็ม, Hennes & Mauritz ภาพจาก H&M 

ทั้งนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศข้อจำกัดในการนำเข้าเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเส้นผม และสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ ที่มาจากบริษัทจีน โดยเฉพาะสินค้าที่บังคับใช้แรงงานในมณฑลซินเจียงด้วย นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ H&M ต้องออกมาประกาศชัดเจนว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัทที่เข้าข่ายบังคับใช้แรงงานในจีน ทั้งนี้ก็เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนจากการพยายามแบนสินค้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็พยามสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคว่าแบรนด์ไม่ได้ผลิตจากแรงงานที่ถูกบังคับและทรมานในซินเจียง

ที่มา – South China Morning Post, The New York Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา