[บทความวิเคราะห์] โรงหนัง กับ สตรีมมิ่ง ใครจะเป็นผู้ชนะในศึกแห่งภาพยนตร์

บทความโดย ปราณ สุวรรณทัต และ รชต สนิท

โรงหนัง ปะทะ สตรีมมิ่ง ภาพยนตร์

อนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โควิดเร่งให้สตรีมมิ่งมาแรง

อุตสาหกรรมภาพยนตร์กำลังเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เมื่อวิกฤตโควิด-19 ได้เข้ามาดิสรัปวงการภาพยนตร์อย่างมหาศาล

สาเหตุเบื้องต้นมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไม่สามารถเดินทางได้สะดวกเช่นเคย โรงภาพยนตร์จึงไร้คนดู ภาพยนตร์ใหม่ๆ ก็ไม่สามารถถ่ายทำได้ จนทำให้โรงภาพยนตร์ขาดรายได้ขนาดหนัก และร้ายแรงไปกว่านั้นคืออาจจะต้องปิดตัวลง

แต่หากจะบอกว่าโควิดเป็นสาเหตุโดยตรงก็คงจะเป็นเพียงการกล่าวถึงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะจริงๆ แล้ว วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มาก่อนหน้านี้สักพักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า การสั่งอาหาร รวมไปถึงการรับชมภาพยนตร์ โควิด-19 จึงเป็นแค่ “ตัวเร่ง” กระแสการย้ายไปอยู่บนช่องทางออนไลน์ที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว

แต่ตัวเร่งดังกล่าวกลายเป็นยาแรงที่สร้างผลกระทบมหาศาลต่อโรงภาพยนตร์ชนิดที่ว่าเครือข่ายโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง AMC ก็แทบไปไม่รอด

โรงหนัง
บรรยากาศโรงหนัง Photo: Shutterstock

ภายใต้วิกฤตดังกล่าวสตรีมมิ่งอาจกลายเป็นทางรอดสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในฐานะช่องทางการกระจายภาพยนตร์ใหม่ๆ ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคภายในไม่กี่คลิก ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่ายต่างๆ ทั้ง Disney และ Warner Media เริ่มใช้สตรีมมิ่งเสิร์ฟภาพยนตร์ถึงมือผู้ชมโดยไม่ผ่านโรงภาพยนตร์มากขึ้น

โลกของโรงภาพยนตร์ในยุคหลังโควิดยังไม่แน่นอน สตรีมมิ่งกลายเป็นผู้เล่นหลักในวงการภาพยนตร์มากขึ้น และตัวแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเองก็มีหลายค่ายที่กำลังแข่งขันกันพัฒนาเพื่อดึงดูดลูกค้า ส่วนโรงภาพยนตร์ก็ยังมีจุดแข็งที่สตรีมมิ่งสู้ไม่ได้อยู่

คำถามที่น่าสนใจคือ ระหว่างโรงภาพยนตร์และสตรีมมิ่ง ใครจะเป็นผู้ชนะในศึกครั้งนี้

โรงภาพยนตร์อยู่ยากในช่วงโควิด ขนาดเจ้าใหญ่ยังแทบไม่รอด

วิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ถูกกระทบอย่างชัดเจนคือ ไม่มีภาพยนตร์ใหม่เข้าฉายเนื่องจากการถ่ายทำถูกเลื่อนออกไป ไม่มีผู้เข้าชม ถูกจำกัดรอบฉาย และจำนวนผู้เข้าชม การดำเนินกิจการของโรงภาพยนตร์จึงเป็นไปได้อย่างยากลำบากในยุคนี้ 

หนึ่งในปัญหาของโรงภาพยนตร์คือรายได้ของภาพยนตร์ที่ฉายในช่วงโควิด เช่น ภาพยนตร์กระแสแรงของผู้กำกับมือทอง คริสโตเฟอร์ โนแลน เรื่อง Tenet ก็ทำรายได้ไม่เข้าเป้า ส่วน Wonder Woman 1984 ก็ทำรายได้สัปดาห์แรกได้น้อยกว่าภาคแรกถึง 6 เท่า ทางเลือกของผู้ผลิตคือ การส่งภาพยนตร์ลงสตรีมมิ่งอย่าง Netflix, HBO Max และ Disney+ 

ผลกระทบในช่วงโควิดระบาด สร้างความเสียหายให้กับโรงภาพยนตร์อย่างหนักถึงขั้นที่ว่า AMC เครือข่ายโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในโลกจากสหรัฐฯ มีรายได้จากการขายตั๋วหายไปถึง 92% และถึงกับต้องออกมาบอกว่าเงินทุนของบริษัทจะหมดลงภายในเดือนมกราคม 2021 นี้ แถมยังต้องการเงินอีกกว่า 550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพยุงให้บริษัทอยู่รอดถึงปลายปี

wonder woman โรงหนัง สตรีมมิ่ง ภาพยนตร์
โปสเตอร์ Wonder Woman 1984 ในสหรัฐ ที่ฉายทั้งในโรงและ HBO Max พร้อมกัน

ส่วนสถานการณ์ของโรงภาพยนตร์ไทยแม้ยังไม่แย่ถึงขนาดเสี่ยงปิดตัวเพราะวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้รุนแรงเท่าที่อื่น แต่ก็ส่งผลให้จำนวนผู้ชมลดลงอย่างมากเช่นกัน

ในปี 2019 ซึ่งสถานการณ์ยังปกติ Major Cineplex มีผู้ชม เกือบ 40 ล้านคน ส่วนในปี 2020 แม้ยังไม่ทราบจำนวนผู้ชม แต่พบว่า ในไตรมาส 3 ปี 2020 ขาดทุนไป 855.02 ล้านบาท จากที่เคยได้กำไรตลอดทั้งปี 2019 ถึง 1,170 ล้านบาท

ภาพจาก Shutterstock

เมื่อภาพยนตร์ฉายไม่ได้ สตรีมมิ่งจึงมาแรง

เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ทำให้โรงภาพยนตร์อาจไม่ใช่สถานที่ฉายภาพยนตร์ที่เหมาะสมอีกต่อไปในยุคนี้ ผู้ผลิตภาพยนตร์จึงมองว่าบริการสตรีมมิ่งอาจกลายเป็นทางออกสำคัญของการฉายภาพยนตร์ต่อจากนี้

ปลายปี 2020 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ขยับกันขนานใหญ่ เราเริ่มเห็นกระแสการฉายภาพยนตร์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งพร้อมกับโรงภาพยนตร์มากขึ้น หรือบางเรื่องก็ฉายบนแฟลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่างเดียวเลยด้วยซ้ำ

เริ่มจากค่าย Disney ที่ชิมลางตลาดด้วยการส่ง Mulan ฉบับคนแสดงลงแพลตฟอร์ม Disney+ ของทางค่ายเอง โดยเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม 30 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 900 บาท ก่อนเผย ร่างที่แท้จริงของ Disney ในงานแถลงแผนการต่อนักลงทุนปี 2020 ปรับโครงสร้างธุรกิจขนานใหญ่เข้าสู่วงการสตรีมมิ่งเต็มตัว

ส่วน Warner Media ก็เอาด้วย ประกาศนำภาพยนตร์ทั้งหมดในปี 2021 ฉายผ่านทาง HBO Max แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองพร้อมกับโรงภาพยนตร์ แถมสมาชิก HBO Max ก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มด้วย โดยเรื่องแรกที่เปิดให้ชมแล้วคือ Wonder Woman 1984 ที่เปิดให้ชมตั้งแต่ปลายปี 2020 ที่ผ่านมา

Disney+

แน่นอนว่าการฉายภาพยนตร์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งพร้อมกับโรงภาพยนตร์เป็นการปฏิวัติธรรมเนียมเก่าๆ ที่ต้องรอให้ภาพยนตร์ออกจากโรงก่อน 75-90 วัน แล้วค่อยนำไปกระจายต่อในช่องทางอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือ ดีวีดี ส่วนในปัจจุบันก็คือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง

การฉายชนโรงของ Disney และ Warner เป็นการลบธรรมเนียมระยะเวลาดังกล่าวออกไปทันที ส่วนบางค่ายอย่าง Universal ก็เพิ่งเซ็นสัญญาให้โรงภาพยนตร์ฉายก่อน 17 วัน แล้วจึงลงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง นั่นหมายความว่าระยะเวลาที่โรงภาพยนตร์จะได้ทำกำไรแบบเต็มๆ ลดลงไปมากจากแต่ก่อน

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพอใจ Christopher Nolan ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนานออกมาวิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการนำภาพยนตร์ของเขาฉายบน HBO Max เพราะคนทีมงานและนักแสดงต่างทุ่มเททำงานกันมาเป็นปีๆ และหวังกันว่าสิ่งที่ลงแรงไปจะสามารถมอบประสบการณ์ที่ดี แต่กลายเป็นว่าภาพยนตร์ถูกนำมาฉายบนสตรีมมิ่งที่มีคุณภาพต่ำกว่าแทน

สตรีมมิ่งยังคงมีอุปสรรค คู่แข่งในตลาดเยอะ

แม้ดูเหมือนว่าสตรีมมิ่งคือคำตอบครอบจักรวาลสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะต้องไม่ลืมว่า ณ ปัจจุบัน ผู้ผลิตภาพยนตร์แต่ละค่ายต่างมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเป็นของตัวเอง เช่น

  • Warner Media มี HBO Max
  • Disney มี Disney+
  • Universal มี Peacock

ซึ่งนี่ยังไม่รวมบริการสตรีมมิ่งอื่นๆ ที่มีอยู่มากมาย ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น

  • Netflix สตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ระดับโลก 
  • Apple TV+ ของ Apple
  • Prime Video ของ Amazon
  • iflix
  • Viu แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งฝั่งเกาหลี 
  • WeTV แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งฝั่งจีนในเครือ Tencent

เห็นได้ชัดว่า ศึกในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงไม่ใช่แค่โรงภาพยนตร์แข่งกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเท่านั้น แต่สตรีมมิ่งก็ต้องแข่งขันกันเองด้วย

เมื่อพิจารณาในระยะยาว สงครามสตรีมมิ่งอาจจะเหลือแค่การปะทะกันของสองค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Disney และ Netflix ก็เป็นได้ เพราะคนชมก็คงไม่สามารถเสียเงินให้กับสตรีมมิ่งทุกเจ้าได้

ในศึกสตรีมมิ่ง คู่ต่อสู้ที่แท้จริง คือยักษ์ใหญ่ รายเล็กอาจไม่รอด

การลงมาสู้ของยักษ์ใหญ่ที่โดดเด่นหนีไม่พ้น Disney ที่ปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมลุยตลาดสตรีมมิ่งเต็ม ถือว่ามีข้อได้เปรียบสูง เพราะแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้ง Marvel, Pixar, Fox และ Star Wars ล้วนอยู่ในมือของ Disney นั่นหมายความว่าต่อไปนี้หนังใหม่ๆ จะฉายใน Disney+ เป็นที่แรก เหมือนกับที่เราได้เห็นไปแล้วจากการนำ Mulan ฉายในสตรีมมิ่งพร้อมโรงภาพยนตร์

Disney เองก็ไม่ได้มีแค่ Disney+ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีสตรีมมิ่งอื่นๆ เช่น Hulu ที่เน้นการชมรายการทีวีสด ESPN+ ที่เน้นรายการกีฬา และ Star+ ที่ได้มาจากการเข้าซื้อกิจการ 20th Century Fox

และความสำเร็จของ Disney+ ก็เป็นที่ประจักษ์หลังจากใช้เวลาเพียงปีเดียวก็มียอด Subscription 86.8 ล้านรายในปี 2020 หลังจากที่วางแผนไว้ว่าจะใช้เวลา 5 ปี เพื่อสร้างยอด Subscription 60-90 ล้านราย ทำให้ Disney ต้องปรับเป้าหมายใหม่ที่ทะเยอทะยานกว่าเดิม เป็น 230-260 ล้านรายในปี 2024 แทน

ส่วน Netflix ก็ครองตลาดโลกไว้ใหญ่มาก ด้วยจำนวนสมาชิก (subscription) กว่า 195 ล้านรายทั่วโลก มากกว่า Disney+ เกินเท่าตัว (แต่ก็อย่าลืมว่าเพียงปีเดียว Disney+ มียอด Subscription เกือบครึ่งหนึ่งของ Netflix แล้วเช่นกัน) แถมในช่วงโควิด-19 ระบาด ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน จำนวน Subscription ของ Netflix เพิ่มขึ้นถึง 10.9 ล้านราย เรียกได้ว่าพอคนอยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหน ไปโรงภาพยนตร์ไม่ได้ สตรีมมิ่งจึงมาแรง

แต่จากการที่ Disney ทุ่มซื้อคลังคอนเทนต์ ก็กลายเป็นโจทย์สำคัญว่า Netflix ก็อาจต้องพิจารณาซื้อกิจการสตูดิโออย่าง Paramount และ Sony เพิ่มเติม นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในระยะยาวค่ายใหญ่ที่มีทุนมากจึงได้เปรียบกว่า

เมื่อเงินในกระเป๋ามีจำกัดแต่มีค่ายสตรีมมิ่งอยู่มากมาย จะจ่ายเงินให้สตรีมมิ่งทุกเจ้าที่มีในท้องตลาดก็คงไม่ไหว ดังนั้นสตรีมมิ่งที่จะอยู่ได้ในท้ายที่สุดก็อาจจะเหลือไม่กี่รายเท่านั้น

“ประสบการณ์” คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โรงภาพยนตร์อยู่รอดได้?

แต่ถึงที่สุดแล้ว แม้ว่าสตรีมมิ่งจะมาแรงแค่ไหน แต่โรงภาพยนตร์ก็ยังมีโอกาสและทางรอดอยู่

เพราะสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของการรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์คือ “ประสบการณ์” ซึ่งเป็นสิ่งที่สตรีมมิ่งให้ไม่ได้ในปัจจุบัน เพราะแน่นอนว่าคุณภาพของภาพยนตร์ทั้งภาพและเสียงที่สตรีมมิ่งให้ได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่แต่ละบ้านมี ในขณะที่โรงภาพยนตร์มีอุปกรณ์ราคาแพงระยับ มีการจัดวางองค์ประกอบในการแสดงผลภาพและเสียงในโรงภาพยนตร์เพื่อมอบประสบการณ์และสุนทรียภาพที่ดีที่สุดในการรับชม

ทางออกของโรงภาพยนตร์ในอนาคตที่มากกว่า “ประสบการณ์”

เราเริ่มเห็นภาพว่าโรงภาพยนตร์ก็พยายามกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อโอบอุ้มให้โรงภาพยนตร์อยู่ได้ ในประเทศไทย Major Cineplex เริ่มหันเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ทำเดลิเวอรีส่งป็อปคอร์นจากโรงภาพยนตร์ และในอนาคตก็เตรียมขายป็อปคอร์นทั้งแบบพรีเมียม และป็อปคอร์นพร้อมทาน อุ่นด้วยไมโครเวฟวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

Major Cineplex ยังปรับธุรกิจหันไปพึ่งพารายได้จาก Non-Movie มากขึ้น เช่นการฉาย Live Concert การแข่งขันเกม และยังเปิดให้เช่าโรงภาพยนตร์ทำพื้นที่จัดเลี้ยง และจัดงานแต่งงาน เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจที่ในอนาคตรายได้จากการขายตั๋วจะลดลง

นอกจากนี้ยังเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ด้วยการออกบัตรบุฟเฟ่ต์เพื่อปลุกให้คอภาพยนตร์ที่เริ่มชินกับการดูบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งกลับมาสัมผัสประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากสตรีมมิ่งอีกครั้ง

ส่วนทาง SF ก็มียุทธศาสตร์คล้ายๆ กัน คือหารายได้จากช่องทางอื่น เช่นการขายป็อปคอร์นเดลิเวอรีจากโรงภาพยนตร์ แต่มากไปกว่านั้นคือทำ The Bed Cinema ชูจุดแข็งของโรงภาพยนตร์เรื่องประสบการณ์การรับชม ด้วยการนอนดูภาพยนตร์บนเตียงราคาหลังละเป็นล้านในราคาเริ่มต้นที่ 900 บาท

จะเห็นได้ว่า การปรับตัวของโรงภาพยนตร์ในระยะสั้นคือการหารายได้จากช่องทางใหม่ และเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจหลักไปก่อน  ส่วนในระยะยาวโรงภาพยนตร์จะต้องกุมความได้เปรียบเรื่องประสบการณ์การรับชมที่สตรีมมิ่งเทียบไม่ได้ และใช้เป็นตัวดึงดูดสำคัญ เพราะการดูในโรงภาพยนตร์จอใหญ่ที่มีองค์ประกอบครบ ย่อมเข้าถึงอารมณ์ได้มากกว่าการดูผ่านจอทีวีหรือโทรศัพท์มือถือที่มีขนาดเล็กกว่ามาก

the bed cinema

สรุป

ทั้งโรงภาพยนตร์และสตรีมมิ่ง ต่างฝ่ายต่างมีข้อดีข้อเสียที่กินกันไม่ลง จึงน่าสนใจว่าสงครามภาพยนตร์ในอนาคตใครจะเป็นฝ่ายชนะ หรือที่สุดแล้วทั้งสองจะอยู่คู่กันไป และมีฐานลูกค้าเป็นของตัวเอง

เรื่องนี้น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิงข้อมูล – Quartz (1) (2) (3), CNBC, The Hustle

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา