เมื่อค้าขายกับศัตรูคู่ขัดแย้งแล้วไม่สบายใจ ก็ต้องหาคนค้าขายรายใหม่ ล่าสุด อาเซียนไม่ได้เป็นกลุ่มประเทศรองๆ ที่จีนสนใจน้อยอีกต่อไป แต่กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับต้นๆ ที่จีนเริ่มหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น
กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับต้นๆ ของจีนแล้วในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เราต่างก็รู้กันดีว่าจีนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคโควิด-19 คุกคามนี้ ถือเป็นช่วงขาลงจริงๆ ไหนจะขัดแย้งกับออสเตรเลียที่พร้อมจะขุดหาต้นตอที่มาของโรคระบาด ยิ่งสหรัฐฯ ไม่ต้องพูดถึง โจมตีจีนหนักไม่เว้นวัน ไหนจะอินเดียที่มีข้อพิพาทพรมแดนที่เริ่มลามไปเศรษฐกิจ ไหนจะอังกฤษที่เพิ่งสั่งแบน 5G ออกไปอีก มองไปทางไหน ก็ล้วนเป็นความขัดแย้งแทบทั้งนั้น
- จีนเริ่มงดนำเข้าเนื้อวัว เพิ่มภาษีนำเข้าบาร์เลย์ 80% หลังออสเตรเลียเรียกร้องสืบหาต้นตอ COVID-19 ในจีน
- รัฐบาลอังกฤษสั่งแบน ห้ามค่ายมือถือซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคม 5G จาก Huawei หลังปี 2020
- ศึกชิงความเป็นใหญ่ จีน-อินเดีย สงครามการค้าใต้หน้ากากพิพาทชายแดน
- FBI จัดหนัก มองจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคง-เศรษฐกิจ-เป็นเผด็จการ-เป็นโจรกรรมความมั่งคั่ง
จีนนำเข้าและส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น 2% คิดเป็นมูลค่า 2.978 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนทางการค้ารวม 14.7% จากกลุ่มประเทศที่ทำการค้ากับจีนทั้งหมด อีกทั้งยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 14% เทียบจากปีก่อนหน้า คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนก่อนหน้านี้คือกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ปัจจุบันมีการค้าระหว่างกันลดลง 5% อยู่ที่ 2.841 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือ 8.94 ล้านล้านบาท
ขณะที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ นั้นแย่ลงต่อเนื่อง การค้าระหว่างกันก็ทรุดลงถึง 10% โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจีนทำการค้ากับ EU และสหรัฐฯ อยู่ที่ 14% และ 11.5% ตามลำดับ
ขณะที่จีนขัดแย้งกับสหรัฐเรื่องเทคโนโลยี เรื่องการค้า จีนก็สร้าง supply chain ใหม่ในอาเซียนอย่างรวดเร็ว จีนยังรักษาความสัมพันธ์กับเวียดนาม สิงคโปร์และมาเลเซียอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็ถือเป็นแหล่งซัพพลายเชนของโลกในด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การขนส่งทางเรือจากอาเซียนไปจีนเพิ่มขึ้นถึง 24% ขณะที่ขนส่งจากจีนมายังอาเซียนก็เพิ่มขึ้น 29%
ทั้งนี้ เวียดนามเพิ่งอนุมัติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนไปในมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 9.4 หมื่นล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้น 75% เทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้จีนกลายเป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ที่มาลงทุนในเวียดนาม แม้จีนจะลงทุนช้าลง 30% ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็ถืออยู่ในอัตราที่มากกว่าญี่ปุ่นลงทุนในเวียดนามสองเท่า มูลค่าการค้าจีนและเวียดนามเพิ่มขึ้น 14%
ทั้งนี้จีนและอาเซียนได้ปรับความตกลงทางการค้าตั้งแต่ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้มีอุปสรรคระหว่างกันลดลง ทั้งในแง่ของ Rules of Origin หรือกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า อัตราแลกเปลี่ยน การบริการ การลงทุน และอื่นๆ เรียกได้ว่าขณะที่จีนขัดแย้งกับหลายประเทศทั่วโลก จีนก็ยังสานประโยชน์ สร้างมิตรกับประเทศคู่ค้ารายเดิมที่ค่อยๆ เพิ่มความสำคัญมากขึ้นแทน
ที่มา – Asian Nikkei Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา