SCB EIC ได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเหลือเพียงแค่ 2.8% จากเดิมที่ 3% โดยมองว่าไทยได้รับผลสะสมจากสงครามการค้า ขณะที่ปีหน้าคาดว่ากรณีเลวร้ายสุดเศรษฐกิจไทยอาจโตได้เพียง 2% เท่านั้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.0% สาเหตุหลักมาจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ ผลกระทบสะสมดังกล่าวเริ่มส่งผลเป็นวงกว้างมากขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ผลกระทบในระยะหลังเริ่มกระจายตัวส่งผลทำให้ภาคบริการชะลอตัวลง ซึ่งไม่ได้กระจุกตัวแต่เพียงการผลิตภาคอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนเท่านั้น
- SCB EIC ประเมินตัวเลขส่งออกไทยปี 2562 ทั้งปีติดลบมากกว่า 2%
- SCB EIC ชี้มาตรการรัฐฯ 3 แสนล้านบาท อาจช่วย GDP ไทยเพิ่มเพียง 0.3%
- แบงก์ชาติคาด GDP ไทยปีนี้โต 2.8% มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%
ในขณะที่ช่วงที่เหลือของปี 2019 EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปรับตัวได้ดีกว่าครึ่งแรกของปี เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถพยุงเศรษฐกิจไทยได้บ้าง ผ่านภาคการบริโภคเอกชน แต่อย่างไรก็ดีภาคการส่งออกของไทยที่เป็นเครื่องจักรสำคัญหลักนั้นยังคงไม่มีสัญญาณฟื้นตัวแต่อย่างใด
ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทยในแต่ละด้านปีนี้และปีหน้า
- การส่งออก
- คาดว่าภาคการส่งออกของไทยจะ -2.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
- ขณะที่ปี 2020 คาดว่าจะเติบโตได้แค่ 0.2%. เท่านั้น ตามเศรษฐกิจโลก
- การนำเข้า
- การนำเข้าในปีนี้หดตัวตามการส่งออก คาดว่าปีนี้ -3.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
- ปี 2020 คาดว่าขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.3% ได้ปัจจัยเสริมจากการลงทุนภาครัฐด้วย
- การลงทุนภาคเอกชน
- การหดตัวของภาคการส่งออกทำให้การลงทุนชะลอตัวตาม ปีนี้คาดว่าจะโตได้เพียง 2.8%
- ผลจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจากภาคการเงินยิ่งส่งผลทำให้การลงทุนชะลอตัวลงอีก
- การลงทุนภาครัฐ
- การเบิกจ่ายของภาครัฐในการลงทุนปีนี้น้อยกว่าคาด EIC คาดโตแค่ 2.2% เท่านั้น
- ขณะที่ปีหน้ารัฐบาลจะเร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนมากกว่านี้ ซึ่งคาดว่าจะโตถึง 4.9%
- การบริโภคภาครัฐ
- ขยายเติบโตตามปกติ คาดว่าปีนี้จะเติบโต 1.9% และปีหน้าเติบโตที่ 2%
- การบริโภคเอกชน
- EIC ปรับลดตัวเลขในปีนี้เหลือแค่ 4.2% จากเดิม 4.5%
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจทำให้การบริโภคสินค้าไม่คงทนเพิ่มขึ้นบ้าง
- ขณะที่ปีหน้าคาดว่าการบริโภคเอกชนจะชะลอตัวลงเหลือเพียง 3.2% เท่านั้น โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ลดลง
ขณะที่นโยบายการเงินของไทยในปีนี้ EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ซึ่ง EIC คาดว่าไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้อยู่ที่ 1.25% โดยเหตุผลสำคัญๆ มาจากเรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการอื่นๆ ในการป้องกันเสถียรภาพทางการเงินก็ได้ขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว เช่น เรื่องของการปล่อยสินเชื่อ ฯลฯ
มองปีหน้า
นอกจากนี้ EIC ยังได้คาดการณ์เศรษฐกิจในปีหน้าในกรณีฐานนั้นโตได้ 2.8% กรณีเลวร้ายเหลือแค่ 2.4% และถ้าหากกรณีย่ำแย่ที่สุดของเศรษฐกิจไทย GDP ของไทยอาจเหลือเพียงแค่ 2.0% ซึ่งเกิดจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) 2 กรณี
- External Shock กรณีสภาวะเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกชะลอตัวลง
- Domestic Shosck กรณีที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบสะสมจากการส่งออก มาตรการควบคุมด้านอสังหาริมทรัพย์ (LTV) และมาตรการควบคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (DSR) ของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงรัฐบาลประสบปัญหาไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ EIC ยังคาดว่าในปีหน้ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของไทยถ้าหากเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วอาจส่งผลให้ GDP ของไทยโตต่ำกว่า 2% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัจจัยภายในและภายนอกที่กระทบกับตัวเศรษฐกิจไทยเองอีกด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น EIC ยังคาดว่าถ้าหากกรณีเศรษฐกิจไทยถดถอยจริงๆ กนง. ก็อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1% ต่ำที่สุดมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใช้ในสมัยวิกฤติการเงินทั่วโลกด้วยซ้ำ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา