SCB EIC ชี้มาตรการรัฐฯ 3 แสนล้านบาท อาจช่วย GDP ไทยเพิ่มเพียง 0.3%

เมื่อเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3% ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกของไทยยังหดตัวจากปัจจัยต่างประเทศ หน้าที่หลักเลยตกที่ภาครัฐจะออกมาตรการอะไรที่กระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีในระยะสั้น และส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว

ล่าสุดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเม็ดเงินกว่า 300,000 ล้านบาท แต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากแค่ไหน และปัจจัยบวก-ลบของเศรษฐกิจไทยมีอะไรบ้าง?

ภาพจาก Shutterstock

รัฐอัดฉีดเงิน 300,000 ล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 0.3%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) บอกว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งงบไว้ราว 300,000 ล้านบาท จะมีผลต่อเศรษฐกิจจำกัด ดังนั้นประเมินว่าจะมีผลกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 0.3% เท่านั้น สาเหตุเพราะมาตรการส่วนใหญ่ราว 2 ใน 3 เป็นมาตรการด้านสินเชื่อ ซึ่งบางส่วนมีอยู่แล้วแม้ไม่มีการออกมาตรการใหม่ ขณะเดียวกันสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มอาจเป็นการ Refinance ที่ไม่ได้เพิ่มการลงทุนใหม่มากขึ้น นอกจากนี้อาจติดข้อจำกัดจากนโยบายอื่น เช่น เกณฑ์ LTV

ทั้งนี้มองว่ามาตรการประเภทเงินโอนที่ให้กับเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการให้เงินเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านโยบายประเภทสินเชื่อ เพราะมีแนวโน้มเพิ่มการใช้จ่ายใหม่จากการเพิ่มความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนโดยตรง

นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นปัจจัยบวกของไทยยังมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และคาดว่าปีนี้จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์หลายแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ดังนั้นเศรษฐกิจจะได้รับผลดีจากภาวะต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง อาจช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนได้ส่วนหนึ่ง

ภาพจาก shutterstock

ปัญหาใหญ่สังคมไทย ส่งออกหด-รัฐเบิกจ่ายช้า-เอกชนชะลอลงทุน-ภัยแล้ง

แม้ว่าการส่งออกในเดือนก.ค. 2562 จะกลับมาเติบโต แต่ภาพรวมตั้งแต่ต้นปี 2562 ยังติดลบที่ 2.8% และทำให้ช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกไทยยังชะลอตัวปีนี้อาจจะหดตัวที่ 2% มีปัจจัยจาก

  • การที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน (2 รอบได้แก่ เดือนก.ย. และธ.ค.) ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าเดิม
  • ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ไทยน่าจะรับผลกระทบให้การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรนิกส์ลดลง
  • การประท้วงในฮ่องกง กระทบการส่งออกของไทยได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์และพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง

ผลกระทบภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากกว่าที่คาด ทำให้ส่งผลลบต่อการผลิตภาคเกษตร โดยคาดความเสียหายราว 2.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.16%ของ GDP

ภาคการท่องเที่ยวหดตัว เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ทั้งจำนวนและรายได้ของนักท่องเที่ยวอาจจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่จากความขัดแย้งระหว่าง จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น อาจทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น

ครั้งนี้รัฐยังมีการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ เพื่อให้ลงไปสู่ส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น

ปี 2563 เศรษฐกิจไทยอาจโตเพียง 2.7% หาก Trade war ยังอยู่

ทั้งนี้มองว่าปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต (GDP) ราว 3.0% ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตอนต้นปีที่ 3.1% แต่หวังว่าปีหน้า (2563) เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นจากการส่งออกที่ขยายตัว เพราะฐานที่ต่ำในปี 2562

ปัจจัยหลักที่ต้องจับตามองได้แก่ กรณีที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนที่ 10% มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2563 จะขยายตัวที่ 1.2% และ GDP ไทยจะโต 3.2แต่กรณีที่ภาวะสงครามการค้าแย่ลง โดยสหรัฐฯ เก็บภาษีจากจีนในอัตราที่สูงขึ้นอาจทำให้ GDP ไทยปี 2563 ชะลอลงมาก เหลือโตเพียง 2.7%

สรุป

เมื่อเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เป็นเรื่องธรรมดาที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและไทยชะลอตาม แต่บางคนว่าเป็นโอกาสที่ไทยต้องฉวยไว้ตอนที่บาทแข็ง อาจจะลงทุนหรือขยายการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และรัฐบาลอาจต้องมีมาตรการที่สนับสนุนการเติบโตระยะยาวมากกว่านี้ มากกว่าการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง