แบงก์ชาติคาด GDP ไทยปีนี้โต 2.8% มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%

คณะกรรมการนโยบายการเงินได้มีมติเอกฉันท์ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เช่นเดิม ขณะเดียวกันได้ปรับลดเป้า GDP ไทยปีนี้ลงเหลือแค่ 2.8% เท่านั้น

Yaowarat Bangkok Thailand
ภาพจาก Shutterstock

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้นั้น กนง. ได้มีมติเอกฉันท์ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เช่นเดิม โดย กนง. มองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ขณะเดียวกัน กนง. มีความกังวลต่อเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอยู่ อาจทำให้ความเสี่ยงด้านต่างประเทศของไทยสูงขึ้น ซึ่ง กนง. จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างใกล้ชิดรวมไปถึงพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมตามความจำเป็น

กนง. ยังได้ปรับประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงมาจาก 3.3% ลงมาเหลือเพียงแค่ 2.8% เท่านั้น โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม เป็นผลมาจากศักยภาพของการส่งออกที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ต่ำกว่าที่คาดไว้แต่คาดว่าในปีหน้านั้นอัตราเงินเฟ้อจะสูงเข้าสู่กรอบที่ กนง. คาดไว้

ทางด้านมุมมองของ ING ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากมองว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยแย่กว่าคาด และ ING เป็น 1 ใน 8 สถาบันการเงินที่คาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยจากการทำสำรวจ 29 สถาบันการเงินของ Bloomberg นอกจากนี้ ING ยังมองว่า กนง. มีการปรับตัวช้าเมื่อเทียบกับนโยบายการเงินจากธนาคารกลางจากหลายๆ ประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิก

ING ยังได้คาดว่าท้ายที่สุดแล้ว กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ดี แม้ว่า กนง. จะเหลือช่องว่างทางนโยบายทางการเงินไม่มาก เนื่องจาก กนง. ได้เคยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำสุดคือ 1.25% ซึ่งเกิดขึ้นสมัยวิกฤติการเงิน นอกจากนี้ ING ไม่แปลกใจถ้าหาก กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตให้ต่ำกว่า 1.25% อีกด้วย

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย, บทวิเคราะห์จาก ING

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ