ในยุคที่ห้างร้านค้าปลีกหันมาทำระบบสมาชิกเก็บสะสมแต้ม ทำระบบ CRM วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ กันอย่างคึกคัก รายล่าสุดที่เพิ่งขยับตัวคือ Foodland แบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตเก่าแก่ของไทย
ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ๆ อย่าง Tops, BigC, Tesco Lotus อาจมีระบบสมาชิกมาแล้วนานหลายปี แต่การที่ยักษ์หลับอย่าง Foodland ซึ่งค่อนข้างมีแนวทางอนุรักษ์นิยมกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ หันมาทำระบบสมาชิกสะสมแต้มกับเขาด้วย จึงเป็นที่น่าจับตาไม่แพ้กัน
เปิดตัวเป็นแอพมือถือเลย ไม่ต้องพกบัตรสมาชิก
โครงการสะสมแต้มของสมาชิก Foodland ใช้ชื่อว่า Foodland 366 Reward โดยเพิ่งเริ่มต้นให้บริการในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2562 (ข้อมูลขึ้นบน Facebook ของ Foodland เป็นครั้งแรกในวันที่ 18 มีนาคม และเริ่มให้ลงทะเบียนจริงในวันที่ 20 มีนาคม) ส่วนการโปรโมทยังผ่านช่องทางหน้าร้านและแคชเชียร์เป็นหลัก
วิธีการสมัครสมาชิก Foodland 366 ก็น่าสนใจตรงที่ ผู้สมัครต้องดาวน์โหลดแอพ Foodland 366 ผ่านสมาร์ทโฟนเท่านั้น โดยต้องใช้ร่วมกับโค้ดลงทะเบียนที่แคชเชียร์ของ Foodland แต่ไม่มีบัตรสมาชิกที่เป็นกระดาษ-พลาสติก เหมือนกับสมาชิกซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่นๆ ส่วนการใช้งานในครั้งต่อๆ ไปก็สามารถบอกหมายเลขโทรศัพท์ได้เลย
วิธีคำนวณแต้มสมาชิกของ Foodland 366 คือยอดใช้จ่าย 25 บาทนับเป็น 1 แต้ม และสามารถนำแต้มไปแลกเป็นของรางวัล ในอัตรา 1 แต้ม = 1 บาท
ตัวอย่างสินค้าพิเศษที่เปิดให้ใช้แต้มแลกได้ในช่วงแรกที่เปิดตัว คือ คอลเลคชันจากการ์ตูนชุด “มูมิน” (Moomin) เช่น แก้วน้ำ (159 คะแนน) หรือกล่องข้าว (449 คะแนน)
ใช้งานจริงยังยุ่งยาก ต้องขอรับคูปองก่อนทุกครั้ง
นอกจากนี้ สมาชิก Foodland 366 ยังมีสิทธิซื้อสินค้าราคาพิเศษเฉพาะสมาชิกเท่านั้น แต่จากการลองใช้งานจริง พบว่ากระบวนการแลกซื้อยังยุ่งยาก โดยสมาชิกจะต้องไปขอรับคูปองส่วนลดที่จุดบริการลูกค้าก่อน จากนั้นจึงนำไปให้พนักงานของ Foodland ในจุดขายแต่ละแห่งเพื่อปรับลดราคาจากป้ายลง ไม่สามารถทำได้ที่แคชเชียร์ได้โดยตรง
Foodland 366 ยังให้ส่วนลดกับร้านอาหาร “ถูกและดี” ที่อยู่ในพื้นที่ของ Foodland เป็นบางเมนูด้วยเช่นกัน แต่กระบวนการแลกสิทธิก็ใช้วิธีเดียวกันคือ ลูกค้าต้องไปขอรับคูปองที่จุดบริการลูกค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตก่อน แล้วค่อยนำคูปองไปใช้ที่ร้านถูกและดีอีกต่อหนึ่ง
ยักษ์หลับขยับตัว Foodland กับการเชื่อมลูกค้าในมือ
ในภาพรวมต้องบอกว่า ถือเป็นการขยับตัวที่น่าสนใจของ Foodland ที่ในช่วงหลังเริ่มแสดงทิศทางของการขยายกิจการได้ชัดเจนขึ้น นอกจากการขยายสาขาของซูเปอร์มาร์เก็ตตามปกติแล้ว ยังขยายธุรกิจไปยังร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ จากต่างประเทศ เช่น Mr.Pizza, Tim Ho Wan, Hawker Chan และ Tonkotsu Kazan Ramen
พอมีธุรกิจในเครือมากขึ้น การสร้างระบบ CRM เพื่อเชื่อมข้อมูลลูกค้าเข้าด้วยกันจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (และคู่แข่งรายอื่นๆ ทำกันมานานมากแล้ว) ถึงแม้จุดเริ่มต้นของ Foodland จะยังขลุกขลักอยู่บ้าง มีความยุ่งยากในการออกแบบประสบการณ์ของลูกค้า แต่ด้วยฐานลูกค้าของ Foodland ที่ค่อนข้างเหนียวแน่น ก็น่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ Foodland 366 ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา