แฟรนไชส์ Tim Ho Wan โอด ร้านอาหารระดับกลางอยู่ยาก ดึง HawKer Chan ชูราคา 88 บาทรักษาธุรกิจ

ร้านอาหารเป็นอีกธุรกิจที่ค่อนข้างปราบเซ๊ยน ยิ่งตอนนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ราคาก็ยิ่งเป็นตัวแปรหลักในการดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ ซึ่งจุดนี้เองเล่นเอา Tim Ho Wan ร้านติ่มซำระดับพรีเมียมในประเทศไทยเกิดปัญหา และต้องหาอย่างอื่นมาทดแทน

ภาพจาก Facebook ของ Tim Ho Wan Thailand

200-300 บาท/หัว ผู้บริโภคจ่ายไม่ไหว

Tim Ho Wan (ทิมโฮวาน) ร้านติ่มซำระดับพรีเมียมจากฮ่องกง เพิ่งเปิดให้บริการในประเทศไทยมา 2 ปี โดยบริษัท ติ่มซำ วันเดอร์แลนด์ จำกัด เป็นผู้ซื้อเฟรนไชส์เข้ามา ซึ่งช่วง 3 เดือนแรกที่ให้บริการนั้นคนเยอะจนต้องต่อคิวกันยาว และสามารถขยายได้ถึง 4 สาขา แต่เมื่อกระแสเริ่มตก ประกอบกับค่าใช้จ่ายต่อหัวถึง 200-300 บาท/มื้อ ทำให้เดินธุรกิจได้ลำบาก

อธิพล ตีระสงกรานต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ติ่มซำ วันเดอร์แลนด์ จำกัด ยอมรับว่า ปีนี้เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้นตัว ดังนั้นร้านอาหารระดับกลาง หรือกลุ่มที่มีค่าใช้จ่าย 200-300 บาท/หัว ค่อนข้างอยู่ยาก ยิ่งตัวร้าน Tim Ho Wan เองที่มีพนักงานในแต่ละสาขาถึง 40 คน และวัตถุดิบบางส่วนต้องนำเข้ามา ทำให้การบริหารจัดการค่อนข้างยาก

อธิพล ตีระสงกรานต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ติ่มซำ วันเดอร์แลนด์ จำกัด และทายากค้าปลีก Foodland

“ด้วยติ่มซำแต่ละชิ้นเราทำใหม่ทั้งหมด และ Fix Cost ตัวพนักงานก็สูง ซึ่งสวนทางกับยอดขายตกลงมา 10% เรื่อยๆ ดังนั้นทางบริษัทคงชะลอการขยายสาขา รวมถึงการตลาดของ Tim Ho Wan ไว้ก่อน แต่จะไม่มีการปลดพนักงาน เพราะจะใช้วิธีลงทุนด้านอื่นเพื่อนำรายได้มาชดเชยกับยอดขายที่หายไป”

HawKer Chan คือความหวังใหม่

สำหรับการลงทุนร้านอาหารตัวใหม่คือการซื้อเฟรนไชส์ HawKer Chan ร้านอาหารแนว Street Food จากสิงคโปร์ที่ได้ Michelin Star การันตีความอร่อย โดยนอกจากเรื่องรสชาติ ทางบริษัทยังทำราคาขายให้ใกล้เคียงกับสาขาที่สิงคโปร์มากที่สุด หรือเริ่มต้นที่ 88 บาท สูงกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสาขาต้นตำหรับที่ราคาราว 2 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 60 บาท

“เรามีข้อตกลงค่าเฟรนไชส์ขั้นต่ำอยู่ที่ 2 ล้านบาท/ปี และมองว่าราคาอิ่มละร้อยนิดๆ น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคกว่า เพราะผมเห็นว่าร้านถูกและดีใน Foodland ก็ขายอิ่มละร้อยนิดๆ แถมมียอดดีเรื่อยๆ สวนทางกับของสดในห้างที่มียอดขายลดลง แสดงให้เห็นถึงผู้บริโภคอยากกินนอกบ้าน เพราะสะดวก แต่ราคาต้องไม่แพงจนเกินไป”

เดือนละ 3 ล้านบาทถึงจะคุ้มทุน

ส่วนเป้าหมายของ HawKer Chan ในไทยนั้น บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ 3 ล้านบาท/เดือน และเตรียมขยายสาขาเพิ่มอีก 2 แห่ง โดยอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องสถานที่ที่มี Traffic สูง เพราะเน้นขายจำนวนมาก ผ่านราคา/จานที่ถูก และดูกระแสตอบรับของผู้บริโภค ผ่านการลงทุนสาขาละ 7 ล้านบาท

เมนูทั้งหมดของร้าน HawKer Chan

สรุป

เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ใครจะเปิดร้านอาหารตอนนี้ค่อนข้างยาก เพราะต้องมา Position ราคาให้ออก ว่าจะต่ำร้อยบาทไปเลย หรือแพงไปเลย เพราะตรงกลาง หรือกลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดนั้นเจอผลกระทบเรื่องกำลังซื้อไปเต็มๆ ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะลดตัวลงมาซื้ออาหารในราคาถูก ในทางกลับกันกลุ่มมีกำลังซื้อมากๆ พวกเขาก็ยังรับประทานมื้อละหลักพันกับอาหารนอกบ้านอยู่ดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา