หลังจากมีนโยบายส่งเครื่อง EDC ไปทั่วประเทศ มาวันนี้ภาครัฐและเอกชนหลายส่วนจับมือส่งบริการชำระเงินด้วย QR Code การใช้งานจริงจะเริ่มในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ส่วนธนาคารรายใหญ่อย่าง SCB มีความพร้อม ได้ตั้งเป้าลูกค้าปีนี้ไว้แล้วที่ 1 แสนรายเป็นอย่างต่ำ
QR Code มาตรฐานเดียว ชำระเงินผ่านผู้บริการไหนก็ได้
หลังจากที่กระทรวงการคลังส่งนโยบาย National e-Payment จับมือกลุ่มธนาคารกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ไปทั่วประเทศกว่า 5.5 แสนเครื่องเพื่อมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด
มาถึงวันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเดินหน้าต่อ โดยจับมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรต่างๆ ทั้ง VISA, MasterCard, American Express, Discover, JCB, และ UnionPay International พร้อมทั้งกลุ่มธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินในไทยอีกหลายราย แต่สิ่งสำคัญคือการทำ QR Code มาตรฐานเดียว
วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า ไทยถือเป็นประเทศอันดับแรกๆ ที่ทำ QR Payment หรือชำระเงินด้วย QR Code แบบมาตรฐานเดียว ซึ่งถือเป็นสิ่งดี เพราะจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการชำระเงินในประเทศไทย ส่วนการใช้งานจริงนั้นคาดว่าจะใช้ทั่วไปได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 นี้”
ประโยชน์ 4 ข้อ จ่ายเงินด้วย QR Code
- การมี QR มาตรฐานกลาง ทำให้มีความเป็นสากล ลดความซับซ้อนในการจัดการ เพราะไม่ต้องมี QR Code หลายรูปแบบ ยุ่งยากต่อการจัดการ
- เพิ่มช่องทางในการชำระเงินที่สะดวก ลดต้นทุนให้กับประชาชนและร้านค้า ทำให้จัดการบัญชีดีขึ้น เพราะง่ายกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสด
- เพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงิน มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ไม่ต้องบอกเลขบัญชี ไม่ต้องใช้บัตรเครดิต/เดบิต ไม่ต้องบอกเบอร์มือถือ เพียงแค่ใช้ QR Code สแกนเท่านั้น
- นำไปต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินได้หลากหลายในอนาคต เช่น ด้วยข้อมูลการชำระเงินบนระบบนี้ จะทำให้ร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถขอสินเชื่อ โดยใช้เพียงข้อมูลการชำระเงินบนระบบนี้เป็นข้อมูลอ้างอิง ไม่ต้องใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกันเหมือนอย่างที่เคยทำมาอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพัฒนาบริการชำระเงินด้วย QR Code โดยเปิดให้ธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินเสนอโครงการเข้าพิจารณาใน Regulatory Sandbox เพื่อทดสอบระบบให้ลูกค้ามั่นใจ พูดง่ายๆ คือ ตอนนี้แต่ละธนาคารต่างส่งระบบชำระเงินด้วย QR Code ไปให้ผู้บริโภคทดลองใช้บริการเพื่อดูผลตอบรับและนำกลับมาร่วมกันพัฒนาให้เข้าที่เข้าทาง ใครที่สนใจสามารถอ่านแนวทางการพัฒนาการชำระเงินด้วย QR Code มาตรฐานเดียวเพิ่มเติมได้ที่นี่
ธนาคารใหญ่อย่าง SCB พร้อมแล้ว ตั้งเป้าร้านค้าในปีนี้กว่า 1 แสนราย
หนึ่งในธนาคารที่มีความพร้อมในการให้บริการชำระเงินด้วย QR Code คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนา เธียรอัจฉริยะ รักษาการ Chief Marketing Officer ของ SCB ให้สัมภาษณ์ว่า “QR Code จะเข้ามาเสริมตลาดบัตรเครดิต/เดบิต แต่จะกินตลาดเงินสด (cash) เพราะระบบเงินสดยุ่งยาก มีต้นทุนสูง ต้องมีรถขนเงิน เจ้าของให้ลูกจ้างเฝ้าร้าน ก็ต้องมีการตรวจสอบอีกมากมาย ธุรกรรมทางการเงินก็เก็บยาก ดังนั้นระบบชำระเงินด้วย QR ก็จะเข้ามาแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้หมดเลย”
“ประเทศไทยก็จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งน้อยมากในโลกที่จะมีระบบ QR Code มาตรฐานเดียว เพราะในหลายๆ ประเทศเอกชนจะแข่งกันสร้างระบบ เช่น ในจีนก็มี QR Code 2 แบบ ของประเทศไทยเรา ผมว่าภาครัฐมองการณ์ไกล คือทำเป็นแบบเดียวเลย ทุกคนเข้ามาใช้บริการแบบเดียวกัน ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในวงการ Payment อย่างมาก ทำให้ลูกค้าสะดวก และร้านค้าเองก็สะดวก”
ในเป้าหมายลูกค้าของ SCB ผู้บริหารบอกว่า “เป็นเรื่องที่พูดยากอยู่เหมือนกัน ที่รู้ก็คือ QR Payment จะมาในไตรมาส 4 แต่ถ้าให้คาดการณ์ไว้คร่าวๆ ไม่ว่าตลาดนี้จะใหญ่หรือเล็ก ก็อยากจะได้ส่วนแบ่งการตลาดสัก 20 – 25% อยู่แล้ว”
อธิบายเป็นตัวเลขคือ ต้นปีมีการกระจายเครื่อง EDC ออกไปจากนโยบายรัฐถึง 5.5 แสนเครื่อง รวมถึงร้านค้าเดิมก่อนหน้านโยบายนี้ทั่วประเทศก็มีเครื่อง EDC อีกประมาณ 5 แสนเครื่อง รวมแล้วก็ตกอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านราย นอกจากนั้นยังมีร้านค้าบนออนไลน์ที่ไม่ได้อยู่ในระบบอีกเป็นแสนราย SCB จึงมองว่า ถ้าตลาดขยายออกไปในสเกลที่ใหญ่มาก เช่น มีผู้ใช้งานถึง 2 ล้านคน เป้าหมายด้านลูกค้าของ SCB ก็จะอยู่ที่ 4 – 5 แสนราย หรือถ้ามีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลูกค้าจะตกอยู่ที่ 2 แสนกว่าราย แต่ผู้บริหารบอกว่า คิดบนฐานของเครื่อง EDC ที่กระจายออกไปในตอนต้นปี 2017 เป้าหมายลูกค้าจากการคาดการณ์เบื้องต้นก็จะอยู่ประมาณ 1 แสนรายเป็นอย่างต่ำแน่นอน (คิดบนฐานส่วนแบ่งตลาดของ SCB ในประเทศไทย)
ทีนี้ถ้าดูจากความเป็นไปได้ก็ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะล่าสุด SCB ไปจับมือการรถไฟลุยทำ Fintech ในตลาดนัดสวนจตุจักร แม้ว่าในเบื้องต้นจะตั้งเป้าร้านค้าไว้ที่หลักพัน จากนั้นจะขยายไปถึง 8,000 ร้านค้า แต่อย่าลืมว่าร้านค้าในจตุจักรมีเป็นหมื่นราย แล้วถ้าคิดรวมกับฐานลูกค้าที่มาใช้บริการก็จะนับเป็นตัวเลขฐานผู้ใช้งานที่กว้าง
นอกจากนั้นก่อนหน้านี้ SCB ยังได้ไปจับมือกับวินมอเตอร์ไซค์เพื่อให้ชำระเงินด้วย QRCode และยังไม่หมดแค่นั้น SCB ยังได้ทำตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ SUN 108 Vending ซื้อเครื่องดื่มด้วย QR Code ไม่ต้องพกเหรียญ โดยหลังจากนี้หากระบบผ่าน Sandbox ตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย เราก็จะได้เห็นเจ้าตู้ตัวนี้กระจายบริการไปในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ร้านค้า-ประชาชน เตรียมปรับตัว-ใช้งานอย่างไร?
เริ่มที่ผู้ใช้กันก่อน ประชาชนทั่วไปจะสะดวกสบายมากขึ้น เพียงแค่โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็สามารถชำระค่าบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของลูกค้าในยุคดิจิทัล ที่สำคัญยิ่งการใช้งานมีเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ สังคมไทยก็ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดกันไวเท่านั้น
ส่วนด้านร้านค้า ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะถ้าเป็นร้านค้าที่มีความคุ้นเคยกับการใช้งานระบบชำระเงินของ Alipay และ WeChat มาอยู่แล้ว จะถือเป็นสิ่งดีที่ทำให้ร้านค้าจะปรับตัวได้ไม่ยาก ประกอบกับนโยบายการกระจายเครื่อง EDC ไปทั่วประเทศก่อนหน้านี้นั้น จะทำให้ร้านค้าใดที่ใช้บริการชำระเงินผ่านเครื่อง EDC เป็นจุดที่ธนาคารและกลุ่มผู้บริการจะเข้าไปให้ความรู้ คามช่วยเหลือ เพื่อใช้งารบริการชำระเงิน QR Code การปรับตัวของร้านค้าจึงถือว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไร
อดใจรอกันสักนิด ไตรมาส 4 ของปีนี้ เราก็จะได้เห็นการใช้ QR Code ในวงกว้างอย่างแน่นอน แต่เบื้องต้นเท่าที่มีข้อมูลคือต้องผ่านการใช้งานในระบบพร้อมเพย์เป็นอันดับแรกก่อน และตอนนี้ก็มีบางเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ลงตัว คือประเด็นเรื่องค่าธรรมเนียม และที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ จะใช้ QR Code ร่วมกับบัตรเครดิต/เดบิตได้หรือไม่? แล้วถ้าใช้ได้จะใช้กันอย่างไร? เหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา