พนักงานจากบริษัทเทคโนโลยีหลายคนอัดวิดีโอขณะถูกปลดออกจากงานบน TikTok มองช่วยจัดการอารมณ์และสร้างความโปร่งใสหลังบริษัทรายใหญ่พากันปลดพนักงานออก
Folashade Ade-Banjo พนักงานด้านการตลาดวัย 30 ปี เป็นคนหนึ่งที่ตั้งกล้องอัดวีโอขณะถูกปลดออกจากงานลงบน TikTok เป็นวิดีโอของเธอเองที่นั่งเงียบ ๆ อยู่บนโต๊ะทำงาน พร้อมพูดว่าเธอกำลังจะถูกปลดออกจากงานและทุกคนกำลังจะได้เห็น
วิดีโอของ Ade-Banjo กลายเป็นไวรัลที่มียอดวิวมากกว่า 500,000 คนและมีคนเข้ามาคอนเมนต์หลักหลายพันคนภายในไม่กี่ชั่วโมง
พนักงานที่ถูกปลดออกจากบริษัทหลายคนกล่าวว่า พวกเขาใช้การอัดวิดีโอในการจัดการกับอารมณ์ในแง่ลบที่เกิดจากการสูญเสียงานไป อย่าง Joni Bonnemort พนักงานการตลาดวัย 38 ปี อัดวีโอของตัวเองขณะร้องไห้เมื่อถูกปลดออกจากงาน
เธอบอกว่าที่จริงแล้วจะเก็บไว้ให้แค่ครอบครัวดู แต่ในที่สุดก็โพสต์ลงบน TikTok หลังจากพบว่าบริษัทได้จ่ายโบนัสให้กับพนักงานที่เหลือหลังจากปลดพนักงานบางส่วนออก วิดีโอนี้มียอดผู้ชมมากกว่า 1.4 ล้านคนและมีคอมเมนต์ที่เข้ามาให้กำลังใจมากมาย
การที่พนักงานพากันแชร์ประสบการณ์ที่ถูกปลดออกจากงานลงบนโซเชียลมีเดียกันเกิดขึ้นเพราะบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งตั้งแต่ Discord ไปจนถึง Google ได้ทยอยกันปลดพนักงานออกร่วมหลายร้อยคนในช่วงที่ผ่านมา วิดีโอแบบนี้ยังกลายเป็นไวรัลหลายวิดีโอ มีตั้งแต่พนักงานที่ร้องไห้ขณะพูดคุยกับฝ่ายบุคคลของบริษัทไปจนถึงวิดีโอทำกิจวัตรประจำวันก่อนที่จะเข้าประชุมที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องการถูดปลดออกจากงาน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานอธิบายว่า เทรนด์การแชร์ประสบการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนที่มาจากกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่จะเล่าเรื่องราวในทุกด้านของชีวิตลงบนโซเชียลมีเดียตั้งแต่เรื่องการออกเดทที่ไม่ดีไปจนถึงเรื่องส่วนตัวที่ลึกซึ้ง
ทั้งวิดีโอบน TikTok และบนแพลตฟอร์มหางานและพูดคุยเรื่องการทำงานอย่าง LinkedIn และ X ต่างก็มีการเปิดเผยแง่มุมที่หลายคนเคยพยายามที่จะปดปิดมาก่อน Sandra Sucher นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดผู้ศึกษาเรื่องการปลดพนักงานกล่าวว่า เส้นแบ่งของชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงานได้ถูกสลายไป
Venessa Burbano ศาสตราจารย์ของ Columbia Business School ที่ศึกษาผลกระทบของการดำเนินการของบริษัทต่อพฤติกรรมพนักงานกล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานกล้าพูดผ่านออนไลน์กันมากขึ้นมาจากการทำงานแบบ Remote Work
อย่างเช่น Mickella Simone Miller พนักงานตำแหน่ง Project Manager ที่ทำงานที่บ้านก็ได้อัดวิดีโอกิจวัตรประจำวันหลังจากได้รับการเชิญให้เข้าร่วมการประชุม นอกจากนี้ ยังอัดวิดีโอขณะที่เธอได้รับแจ้งว่าบริษัทจะยกเลิกตำแหน่งงานของเธอด้วย
นอกจากวิดีโอพวกนี้จะเป็นช่วงบำบัดจิตใจ Miller ยังบอกว่า ยังช่วยให้บริษัทที่กำลังรับสมัครงานสามารถติดต่อเข้ามาได้ด้วย โดยมีคำเชิญชวนจากบริษัท 30 แห่งให้เธอไปสมัครงานใหม่ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ได้งานก็ตาม
ทางฝั่งบริษัทเองก็จำเป็นจะต้องตระหนักไว้ว่าสิ่งใดก็ตามสามารถถูกอัดวิดีโอและแชร์ลงบนโลกออนไลน์ได้เพราะผู้คนพอใจที่จะโพสต์เรื่องต่าง ๆ มากขึ้น ขณะที่ Lindsey Pollak นักเขียนหนังสือเรื่องสังคมการทำงานมีมุมมองในแง่ดีต่อการแชร์ประสบการณ์ถูกปลดออกจากงานและไม่ได้มองว่าจะมีผลเสียกับการสมัครงานในอนาคต
Matthew Prince ซีอีโอของ Cloudflare พูดถึงวิดีโอบน TikTok เรื่องการปลดพนักงานของบริษัทเขาว่า บริษัทจำเป็นต้องปลดพนักงานจริงแต่ก็มองว่าควรจะใจดีและเห็นใจพนักงานมากกว่านี้ ขณะที่ Brittany Pietsch อดีตพนักงาน Cloudfare ผู้โพสต์วิดีโอกล่าวว่า เธอได้รับข้อความบน Linkedin กว่า 10,000 ข้อความจากบริษัทหลายแห่ง
แม้ว่าการแชร์ประสบการณ์เรื่องนี้จะไม่มีผลกับการทำงานในอนาคต แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่าคนที่จะโพสต์วิดีโอลักษณะนี้ก็จะต้องเป็นคนที่โอเคกับการเป็นที่พูดถึงในแง่ที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนักอย่าง Folashade Ade-Banjo พนักงานการตลาด ยังตั้งค่าวิดีโอเป็นส่วนตัวหลังจากโพสต์เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้จัดการที่เป็นคนแจ้งเรื่องการปลดเธอออก
ที่มา – New York Times
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Worklife
- ซีอีโอในสหรัฐฯ ยอมแพ้ ส่วนใหญ่ยอมให้พนักงานทำงาน Hybrid Work ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน
- ผลสำรวจพบ เกือบ 40% ของคนทำงานอยากอยู่เฉย ๆ ไม่ได้อยากก้าวหน้า พอใจกับงานอยู่แล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา