ผลวิจัยล่าสุดชี้ การกดเลื่อนนาฬิกาปลุกช่วงเช้า ไม่ได้ส่งผลแย่อย่างที่คิด
นักวิจัยชาวสวีเดนจาก Stockholm University ทำการวิจัยที่ศึกษาเรื่องผลการกดเลื่อนนาฬิกาปลุกในช่วงเช้า โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1
กลุ่มแรก ศึกษาจากผู้ที่กดเลื่อนนาฬิกาปลุกจริงๆ จำนวน 1,732 คน โดย Tina Sundelin ระบุว่า จากการศึกษาพบว่ากลุ่มคนหนุ่มสาวคือกลุ่มที่มักจะกดเลื่อนนาฬิกาปลุกเพื่องีบหลับ พวกเขาก็มักจะเป็นกลุ่ม Night owls คือกลุ่มคนที่มักจะนอนดึกมากอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะกดเลื่อนนาฬิกาปลุก เหตุผลส่วนใหญ่ที่พวกเขาทำเช่นนั้นก็เพราะว่า พวกเขาเหนื่อยเกินไปที่จะตื่นขึ้นมา ขณะที่บางคนมองว่า พวกเขารู้สึกมีความสุขที่จะใช้เวลาบนเตียงนานขึ้นและให้คำจำกัดความมันว่า มันให้ความรู้สึกที่สุขสบายมากขึ้น
กลุ่มที่ 2
การศึกษาจากกลุ่มที่ 2 เพื่อสำรวจว่า การกดเลื่อนนาฬิกาปลุกมันกระทบต่อศักยภาพของผู้คนอย่างไร ซึ่งก็มีคนเข้าร่วมทำลองการนอนหลับรวม 31 คน มีทั้งคนที่ทดสอบนอนโดยไม่ได้ถูกรบกวนเลย มีทั้งคนที่นอนแล้วตื่นขึ้นทันที และยังมีทั้งคนที่ตื่นเร็วขึ้นครึ่งชั่วโมง และคนที่กดเลื่อนนาฬิกาปลุกก่อนที่จะตื่นจริงๆ
สิ่งที่น่าสนใจจากการศึกษาก็คือ พวกเขาจะนอนหลับได้น้อยลงเมื่อกดเลื่อนนาฬิกาปลุก แต่ความแตกต่างของมันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6 นาทีเท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่า สามารถนอนหลับได้มากขึ้นภายในครึ่งชั่วโมงนั้นแม้ว่าจะถูกรบกวนจากเสียงปลุกจากนาฬิกาก็ตาม จากนั้นผู้ร่วมการทดลองจะถูกขอให้ทำการทดสอบการรับรู้ เช่น การทดสอบเรื่องความทรงจำ หรือการทดสอบเกี่ยวกับคณิตศาสตร์
จากผลการศึกษาพบว่า แม้จะมีการรบกวนขณะนอนหลับ มันไม่ได้ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้าแตกต่างกันเท่าไรนัก และไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อศักยภาพและการทำการทดสอบด้วย นอกจากนี้ จากผลการทดสอบพบว่า บางคนอาจจะมีศักภาพดีกว่าหลังกดเลื่อนนาฬิกาปลุกด้วยซ้ำ แต่สรุปผลสุดท้ายของการศึกษาก็คือว่า ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือ มันไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบ
Sundelin สรุปการศึกษาครั้งนี้ว่า ใครก็ตามที่จำเป็นต้องกดเลื่อนนาฬิกาปลุก ก็ไม่ต้องกังวลมาก เพราะถ้าคุณจำเป็นต้องกดเลื่อนนาฬิกาปลุก (เพราะตื่นไม่ไหว) และมันทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นก็ทำต่อไปได้ จนกว่าคุณจะนอนหลับพักผ่อนได้มากพอจนไม่ต้องกดเลื่อนนาฬิกาปลุกนั่นเอง
- ผลวิจัยชี้ พวกชอบนอนดึกที่อยากจะเป็นคนตื่นเช้าทันที เสี่ยงอายุสั้นกว่าเดิม
- ผลการศึกษาชี้ ตื่นเช้าขึ้น ลดความเสี่ยงอาการซึมเศร้า หดหู่ มีความสุขในชีวิตมากขึ้น
ที่มา – Japan Today, The Hill
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา