ผลวิจัยชี้ พวกชอบนอนดึกที่อยากจะเป็นคนตื่นเช้าทันที เสี่ยงอายุสั้นกว่าเดิม

ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า เอาเข้าจริงแล้วผู้ตื่นเช้านอนเร็ว หรือผู้ที่นอนดึกตื่นสายต่างก็มีข้อดีทั้งนั้น ถ้าไม่คิดจะเปลี่ยนวิถีการนอนแบบฉับพลันทันที

Sleep
Photo by Kinga Cichewicz on Unsplash

เหล่าคนดังที่อยู่ในกลุ่ม Early Bird หรือพวกชอบตื่นเช้านี้ อาทิ Richard Branson เจ้าของ Virgin Group หรือ Jack Dorsey อดีตซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Twitter ที่ตื่นตั้งแต่ตี 5.30 น. รวมถึง Tim Cook ซีอีโอแห่ง Apple ก็ตื่นมาตั้งแต่ตี 3.45 น. พวกเขามักจะเป็นนักวางแผนดีกว่าและมีความ Productive ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

แต่สำหรับคนที่เป็น Night Owl หรือพวกนกฮูกกลางคืนที่อยู่ในหมู่คนดังก็มีเช่นกัน เช่น Barack Obama อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2 สมัย, Carl Jung จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ชาวสวิส, Franz Kafka นักเขียนชาวยิวผู้โด่งดังแห่งศตรวรรษที่ 20

พวกที่ชอบนอนดึกตื่นสายนั้น งานวิจัยระบุว่า พวกเขามักจะมีความทรงจำที่ดีกว่า มีกระบวนการรับรู้และประมวลผลที่ดีและเร็ว มีแนวโน้มที่จะมีความคิดสร้างสรรค์กว่า แถมยังมีทิศทางที่จะประสบความสำเร็จทางการเงินมากกว่าด้วย

อย่างไรก็ดี ผลจากการศึกษาพบว่า หากคุณมีวิถีการนอนหลับที่ไม่สอดคล้องกับการตื่น เช่น นอนดึกมากแต่ก็ดันตื่นเช้ามากอีก นี่ต่างหากที่จะส่งผลลัพธ์แบบตรงข้ามกันเพราะแต่ละคนมี Chronotype แตกต่างกัน

Chronotype หรือช่วงเวลาที่ตื่นตัวมากที่สุดและง่วงนอนมากที่สุดที่แต่ละคนมีแตกต่างกันนั้นมันเป็นผลสืบเนื่องจากการมีวิถีการตื่นและนอนเช่นนั้นสั่งสมมาเนิ่นนาน มันไม่ใช่ทางเลือกที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที เช่น หากพวก Night Owl พยายามจะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนตื่นเช้าและจะทำให้ได้ภายในวันรุ่งขึ้นนั้นถือว่ายากและถ้าทำได้ก็จะทรมานร่างกาย เพราะถ้านอนดึกและตื่นเช้ามากทันทีมันจะเกิดภาวะนอนไม่พอ การที่ร่างกายนอนไม่พอสะสมนี่แหละที่ส่งผลให้คุณเสี่ยงอายุสั้นและเสียชีวิตเร็วกว่าเดิม

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า นอนดึก ตื่นสายและสมองจะปลอดโปร่งได้ก็เพราะนอนหลับได้เพียงพอ นอนในเวลาเดิมเช่นนั้นต่อเนื่องจนเป็นปกติถึงจะได้ผลดี ไม่ใช่นอนดึกและตื่นเช้าทันทีและสลับเวลานอนไปมา เหล่านี้ไม่ดีต่อวิถีการนอนและส่งผลให้เกิดความแปรปรวนในร่างกายได้

Sleep
Photo by Lux Graves on Unsplash

นอกจากนี้ งานศึกษาในปี 2018 ยังพบว่า คนที่นอนน้อยหรือนอนเพียง 5-6 ชั่วโมงเมื่อเทียบกับคนที่นอนหลับเป็นปกติอยู่ที่ 7-8 ชั่วโมงต่อคืนนั้น มีแนวโน้มว่าคนที่นอนน้อยกว่าจะ productive น้อยกว่า 19% หนักไปกว่านั้น คนที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงก็เสี่ยงที่จะมีความ productive น้อยกว่าลงไปอีกราว 30% และคนที่มีการนอนหลับที่ผิดไปจากวิถี Chronotype ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เบาหวาน ซึมเศร้า หัวใจล้มเหลวและเป็นโรคหลอดเลือดสมองด้วย

ผลจากการศึกษาคนจำนวน 433,000 คนที่เผยแพร่ใน Chronobiology International พบว่าคนประเภท Night Owl นี้มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเร็วกว่าคนประเภท Morning People ถึง 10% แต่ไม่ใช่เพราะวิถีการนอน แต่เป็นเพราะการใช้ชีวิตขัดกับวิถีการนอน คือการนอนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกายมากพอ ไม่ทานอาหารที่มีประโยชน์มากพอต่างหาก

แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ไม่ได้หมายความว่าคนนอนดึกจะกลายเป็นคนตื่นเช้าไม่ได้ ทำได้ แต่ต้องค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรม อย่าลืมว่ามันเป็นวิถีชีวิตที่สั่งสมมาเนิ่นนานแล้ว วิธีเปลี่ยนที่เขาแนะนำไว้ ดังนี้

Wake Up
Photo by Kinga Cichewicz on Unsplash

เริ่มเข้านอนเร็วขึ้น นอนให้เร็วขึ้นแต่ไม่ใช่บังคับให้ตัวเองนอนเร็วทั้งที่นอนไม่หลับ แต่ให้สร้างบรรยากาศที่ทำให้นอนเร็วขึ้น ค่อยๆ ทำและเพิ่มเวลาให้นอนเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนได้

ออกกำลังเมื่อตื่น ผลจากการวิจัยพบว่า ออกกำลังกายเบาๆ โดยใช้เวลาสัก 20 นาทีหลังตื่นนอนจะช่วยทำให้ร่างกายตื่นตัวไปได้อีก 12 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย

เริ่มอาหารเช้าด้วยแป้งน้อยๆ แต่โปรตีนให้มาก โปรตีนช่วยเพิ่มระดับโดปามีนที่เป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยทำให้คุณมีความสุขได้โดยธรรมชาติ ผลวิจัยระบุว่า มันช่วยให้เกิดแรงจูงใจและยังช่วยให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์และอดทนมากขึ้น

เปิดม่านให้แสงส่องถึง แสงสว่างนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก มันไม่ได้ทำให้รู้สึกหายง่วงแต่ยังช่วยทำให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้นและมันยังช่วยบอกร่างกายว่าให้หยุดฮอร์โมนเมลาโทนินที่ทำให้เรารู้สึกง่วงด้วย

อย่างีบหลับระหว่างวัน แน่นอนว่า การเปลี่ยนวิถีการตื่นและการนอนนั้นจะทำให้ร่างกายอ่อนล้าบ้าง แต่การงีบหลับระหว่างวันสำหรับคนที่เริ่มต้นเปลี่ยนวิถีการนอนใหม่ๆ มันจะทำให้นอนหลับยากขึ้นในยามค่ำคืน เรื่องนี้จึงต้องค่อยๆ อดทนและมันจะผ่านไปได้ในที่สุด

เริ่มต้นวันด้วยภารกิจสำคัญ อย่าพยายามเริ่มต้นวันด้วยการเช็ค email การเช็ค email ควรบรรจุในตารางเวลาที่คุณไม่ต้องใช้พลังมาก แต่ให้เริ่มทำในสิ่งสำคัญก่อน ถ้าจะให้ดีควรจะวางแผนตั้งแต่กลางคืนว่าเริ่มต้นว่าจะลงมือทำอะไรก่อน การเริ่มต้นทำด้วยภารกิจสำคัญก่อนมันจะทำให้รู้สึกดีในการเริ่มต้นวันและสร้างแรงจูงใจให้เราทำสิ่งที่วางแผนชิ้นต่อไปได้สำเร็จตามมาและก็ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองไปได้ทั้งวันด้วย เพียงเท่านี้ Night Owl ก็จะกลายเป็น Early Bird ได้..เพียงแต่ต้องให้เวลาในการเปลี่ยนแปลงหน่อย

ที่มา – INC (1), (2), LSE, TandFOnline 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา