WHO ศึกษาพบ 99% ของคนทั่วโลกสูดอากาศย่ำแย่เกินมาตรฐาน อาเซียนคุณภาพอากาศแย่สุด รับเต็มทั้ง PM2.5 PM10 และ NO2 ประเทศรายได้น้อยโดนหนัก
องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า 99% ของประชากรโลกต้องเจอกับอากาศที่คุณภาพย่ำแย่กว่ามาตรฐาน มีมลพิษด้านต่างๆ ทั้ง PM2.5 PM10 และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เกินกว่าเกณฑ์ที่ WHO กำหนดเอาไว้ จากการศึกษาล่าสุดปี 2022 ที่ครอบคลุม 6,000 เมือง ใน 117 ประเทศทั่วโลก เป็นงานศึกษาเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2018
ประเทศรายได้ปานกลางและต่ำเจอปัญหาเรื่องนี้หนักกว่าประเทศรายได้สูง โดย 17% ของเมืองในประเทศรายได้สูงผ่านเกณฑ์เรื่อง PM2.5 และ PM10 ของ WHO ในขณะที่เมืองในประเทศรายได้ปานกลางผ่านเกณฑ์ดังกล่าวแค่ 1% เท่านั้น
ที่สำคัญก็คือ หากเจาะเป็นรายภูมิภาค เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือภูมิภาคที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด ตามมาด้วยแอฟริกา นอกจากนี้ ไม่มีเมืองไหนเลยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คุณภาพอากาศในเรื่อง PM ได้มาตรฐาน
เมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจกระทบสุขภาพโดยตรง
มลพิษในอากาศทั้ง 2 กลุ่ม คือ PM และ NO2 ล้วนเกิดมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งการผลิตในระบบอุตสาหกรรม การผลิตพลังงาน การทำการเกษตร ไปจนถึงการจราจร
มีหลักฐานจำนวนมากที่ชี้ว่ามลพิษทางอากาศสามารถทำอันตรายให้กับสุขภาพของผู้คน แม้ว่าจะได้รับมลพิษดังกล่าวในจำนวนไม่มากก็ตาม ในกรณีของ PM2.5 มีการค้นพบว่าอนุภาคดังกล่าวสามารถแพร่เข้าไปยังปอดและเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และส่งผลต่อระบบหายใจ
ส่วน NO2 ก็มีความเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด ซึ่งนำไปสู่อาการระบบทางเดินหายใจ (เช่น ไอ หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจลำบาก)
สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องโลกสวย แต่เป็นเรื่องโลกแตก
ข้อค้นพบล่าสุดของ WHO จึงทำให้โลกเห็นความสำคัญที่จะต้องลงมืออย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดมลพิษในอากาศ เพราะชัดเจนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์
ดร.เทดรอส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่า “ข้อกังวลด้านพลังงานทำให้เห็นความสำคัญในการเร่งรัดกระบวนการเปลี่ยนไปสู่ระบบพลังงานที่สะอาดและดีต่อสุขภาพกว่าเก่า ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูงขึ้น ความมั่นคงด้านพลังงาน และความเร่งด่วนเรื่องมลพิษทางอากาศสะท้อนให้เห็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลให้น้อยลง”
ที่มา – WHO, EcoWatch, Japan Today
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา