ลาก่อนวงการติวเตอร์จีน
วงการติวเตอร์จีนและวงการ EdTech (Education Technology) จีนที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาทกำลังสั่นคลอน เมื่อมีเอกสารหลุดออกมาว่า รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาเพื่อสั่งการให้บริษัทติวเตอร์เปลี่ยนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร (Non-profit)
สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือนักลงทุนเทขายหุ้นของบริษัทติวเตอร์จีน รายงานของ Financial Times ระบุว่า หลังเกิดข่าวนี้ บริษัทสาย EdTech จีนที่จดทะเบียนในตลาดนิวยอร์ก 3 รายใหญ่อย่าง TAL Education, Gaotu Techedu และ New Oriental Education สูญเสียมูลค่ากิจการรวมกันไปกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.2 แสนล้านบาท
รัฐบาลจีนทำไปเพื่ออะไร
ก่อนอื่น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลจีนส่งสัญญาณว่าจะกำกับและควบคุมวงการการศึกษา-ติวเตอร์จีนมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนสั่งปรับเงินแอพด้านการศึกษาจีนรายใหญ่อย่าง Yuanfudao (Tencent หนุนหลัง) และ Zuoyebang (Alibaba หนุนหลัง) เนื่องจากทำผิดกฎหลายอย่าง เช่น ปลอมแปลงคุณสมบัติครูผู้สอนและทำรีวิวปลอม โดยทั้งสองบริษัทก็ยอมถูกปรับ ไม่มีข้อโต้แย้งแต่ประการใด
มากกว่านั้น รัฐบาลจีนยังลงมาจัดการด้วยการออกกฎหมายที่เข้มข้นมากขึ้นกับวงการการศึกษา-ติวเตอร์ออนไลน์ รวมถึงเข้ามาเบรก IPO ของหลายบริษัทในวงการ EdTech จีน จนหลายคนบอกว่านี่คือ “ยุคมืดของวงการติวเตอร์จีน”
สำหรับคำถามว่ารัฐบาลจีนทำไปเพื่ออะไร หนึ่งในเหตุผลที่น่าสนใจคือ การแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวันในแวดวงการศึกษาจีน ทำให้พ่อแม่จีนยุคใหม่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น มีตั้งแต่แย่งกันไปซื้อบ้านใกล้โรงเรียนดัง เพราะหวังว่าจะคว้าเอาโควต้าเข้าเรียน อพาร์ทเม้นท์ 2 ห้องนอนในพื้นที่ใกล้โรงเรียนดังมีราคาทะลุไปถึง 100 กว่าล้านบาท ทำเอารัฐบาลจีนต้องลงมาควบคุมและแทรกแซงราคา พร้อมทั้งบอกว่านี่เป็นหนึ่งในปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ
Bloomberg วิเคราะห์เหตุผลอื่นๆ ที่สอดคล้องกันคือ “นโยบายมีลูก 3 คน” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรในจีน เพราะฉะนั้นในสายตาของรัฐบาลจีน นี่คือการลดต้นทุนในการมีชีวิตที่ดีของพ่อแม่จีนยุคใหม่
[Opinion]
ถ้าพิจารณาทุกปัจจัยรวมกัน ข่าวการทุบวงการการศึกษาออนไลน์ของจีนในแง่นี้ เป็นไปได้ว่า ทางการจีนต้องการลดความเหลื่อมล้ำในวงการการศึกษาของจีน
แต่ถึงที่สุด ถ้ารัฐบาลจัดการแรงระดับนี้ นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจอย่างการเทขายหุ้น เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจ (ใครๆ ก็รู้ว่า ถ้ารัฐบาลจีนเปิดหน้าออกมาจัดการตรงๆ แล้ว นักลงทุนหรือใครที่ไหนจะคาดเดาอะไรได้)
- คำถามถัดไปที่สำคัญคือ มาตรการจากรัฐบาลจีนกับวงการการศึกษา-ติวเตอร์หลังจากนี้คืออะไร ในวันที่อุตสาหกรรมนี้กลายเป็น ‘องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร’ อีกต่อไปแล้ว
อ่านข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการการศึกษาจีน
- “กินไม่หรู อยู่ธรรมดา การศึกษาเป็นเลิศ” เปิดเหตุผล ทำไมสตาร์ทอัพสอนภาษาในจีนมีมูลค่าแสนล้านบาท
- รู้จักกับโคมไฟอัจฉริยะจากจีน: มี AI สอนหนังสือ ช่วยสอดส่องลูกๆ เวลาทำการบ้านได้ด้วย
- ไลฟ์สดขายของสู่ติวเตอร์ออนไลน์: ตลาดงานจีนปรับตัวสู่โลกยุคดิจิทัล รับมือโลกหลังโควิด
อ้างอิง – Bloomberg 1, Bloomberg 2, FT
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา