6 ประเทศที่ฉีดวัคซีนมากแต่ก็ติดโควิดมาก จำนวน 5 ใน 6 ประเทศพึ่งพาวัคซีนจีน

บทวิเคราะห์จาก CNBC ระบุว่า มี 6 ประเทศในโลกที่มีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในจำนวนที่สูงมากแล้ว แต่ก็ยังติดโควิด-19 ในจำนวนมากเช่นกัน โดย 5 ใน 6 ประเทศนี้พึ่งพาวัคซีนที่ผลิตจากจีน

CNBC ระบุว่า มี 36 ประเทศที่ติดเชื้อโควิดใหม่เพิ่มรายสัปดาห์มากกว่า 1,000 รายต่อล้านคน โดย CNBC ใช้ข้อมูลจาก Our World in Data ประกอบกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ข้อมูลจากภาครัฐ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford พบว่ามี 36 ประเทศที่มีประชากรกว่า 60% ที่รับวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 โดส

ในบรรดา 36 ประเทศนี้มีราว 6 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนต้านโควิดในจำนวนที่มากแต่ก็ยังติดเชื้อโควิดเพิ่มในจำนวนที่มากเช่นกัน และ 5 ใน 6 ประเทศนี้พึ่งพาวัคซีนจากจีนอย่างมีนัยสำคัญ 6 ประเทศที่ว่ามานี้คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เซเชลส์, ชิลี, อุรุกวัย และมองโกเลีย ส่วนอีก 1 ประเทศที่ไม่ได้พึ่งพาวัคซีนจากจีนก็คือสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษนั่นเอง

จำนวนคนฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 โดส

ทั้ง 6 ประเทศนี้มีการฉีดโควิด-19 ในอัตราที่สูงมาก ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 สองโดสในอัตรา 65% ฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสในอัตรา 9.9%, เซเชลส์มีอัตราการฉีดวัคซีนสองโดสราว 69% หนึ่งโดส 3.4%, ชิลีฉีดวัคซีนสองโดสราว 58% หนึ่งโดสราว 10%

อุรุกวัยมีการฉีดวัคซีนสองโดส 55% หนึ่งโดส 13%, อังกฤษมีการฉีดวัคซีนสองโดสราว 51% หนึ่งโดส 17% และมองโกเลียฉีดวัคซีนสองโดส 55% และหนึ่งโดสราว 9.6% ขณะที่การติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นใหม่ก็มีจำนวนสูงเช่นกัน ดังกราฟด้านล่างนี้

จำนวนคนติดเชื้อโควิด-19 สะสม

จำนวนคนติดเชื้อโควิด-19 สะสมของประเทศเซเชลส์อยู่ที่ 169,605.45 อุรุกวัยอยู่ที่ 108,039 คน ชิลีอยู่ที่ 82,630.98 คน อังกฤษ 74,242.99 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ที่ 65,280.78 คนและมองโกเลีย 40,975.30 คน

CNBC ระบุว่า มองโกเลียรายงานไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมว่ารับวัคซีนจากจีน Sinopharm ราว 2.3 ล้านโดส วัคซีนจากรัสเซีย Sputnik V ราว 80,000 โดส และวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech ราว 255,000 โดสที่เพิ่งได้รับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Covid 19 Track Vaccines ระบุว่า มองโกเลียอนุมัติวัคซีนให้ใช้ในประเทศ 6 แบรนด์คือ Moderna (สหรัฐฯ), Pfizer/BioNTech (สหรัฐ-เยอรมัน), Gamaleya (Sputnik Light) (รัสเซีย), Gamaleya (Sputnik V) (รัสเซีย), Oxford/AstraZeneca (อังกฤษ-สวีเดน) และ Sinopharm (จีน)

ชิลีได้รับวัคซีน Sinovac จากจีน 16.8 ล้านโดสและ Pfizer-BioNTech ราว 3.9 ล้านโดสเมื่อเดือนที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Covid 19 Track Vaccines ระบุว่า ชิลีอนุมัติวัคซีน 5 แบรนด์ให้ใช้ในประเทศดังนี้ Pfizer/BioNTech, CanSino (จีน), Janssen (Johnson & Johnson) (อังกฤษ), Oxford/AstraZeneca และ Sinovac (จีน) นอกจากนี้ ชิลียังมีการทดลองทางคลินิกในประเทศด้วย คือวัคซีน CanSino, Janssen (Johnson & Johnson), Oxford/AstraZeneca, ReiThera (อิตาลี) และ Sinovac

ด้านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเซเชลส์พึ่งพาวัคซีนจากจีน Sinopharm ในจำนวนมาก ข้อมูลจาก Covid 19 Track Vaccines ระบุว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อนุมัติวัคซีนให้ใช้ในประเทศคือ Moderna, Pfizer/BioNTech, Sputnik V, Oxford/AstraZeneca และ Shinopharm (Beijing) และยังมีการทดลองทางคลินิกในประเทศด้วยวัคซีน 3 แบรนด์นี้ Gamaleya (Sputnik V), Sinopharm (Beijing), Sinopharm (Wuhan) ขณะที่เซเชลส์ อนุมัติวัคซีนให้ใช้ในประเทศ ดังนี้ Moderna, Gamaleya (Sputnik V), Serum Institute of India (Covishield), Sinopharm (Beijing)

ขณะที่อุรุกวัย อนุมัติวัคซีน 2 แบรนด์คือ Pfizer/BioNTech และ Sinovac มีการฉีดวัคซีนจาก Sinovac มากกว่า Pfizer-BioNTech ส่วนอังกฤษ มีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนในประเทศ 4 แบรนด์คือ Moderna, Pfizer/BioNTech, Janssen (Johnson & Johnson), Oxford/AstraZeneca มีการทดลองทางคลินิก 8 แบรนด์ด้วยกัน ดังนี้ Novavax (สหรัฐอเมริกา), Curevac (เยอรมนี), Moderna, Pfizer/BioNTech, Janssen (Johnson & Johnson), Oxford/AstraZeneca, Valneva (ฝรั่งเศส), Codagenix Inc (สหรัฐอเมริกา)

(หมายเหตุ* การอนุมัติวัคซีนให้ใช้ภายในประเทศ  ไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นๆ จะจัดหาวัคซีนชนิดนั้นๆ ได้หรืออาจจะมีบ้างแต่มีปริมาณเล็กน้อย)

Coronavirus Covid-19
Microscopic illustration of the spreading 2019 corona virus that was discovered in Wuhan, China. The image is an artisic but scientific interpretation, with all relevant surface details of this particular virus in place, including Spike Glycoproteins, Hemagglutinin-esterase, E- and M-Proteins and Envelope.

ไวรัสเดลตาตัวที่แพร่พันธุ์เร็วที่สุดในอังกฤษ แพร่หนักในหมู่คนหนุ่มสาว-คนสูงวัยที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน

สำหรับอังกฤษ มีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นสูงมาก จากเดิมที่อังกฤษพบไวรัสอัลฟา (alpha) เป็นแห่งแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จากนั้นก็พบไวรัสสายพันธุ์เดลตา (delta ที่มาจากอินเดีย) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในจีนเมื่อปลายปี 2019

สายพันธุ์เดลตานี้ทาง WHO เคยคาดการณ์ว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายกว่า 80% ทั่วโลกและจะกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์หลัก จากเดิมที่อังกฤษมีสายพันธุ์อัลฟาเป็นหลัก หลังจากพบสายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายในประเทศ ไวรัสสายพันธุ์เดลตาก็กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่เชื้อโควดิ-19 ในปัจจุบัน หลังจากกลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาก็ถือว่าเดลตาเป็นสายพันธุ์ที่ครอบคลุมจำนวนผู้ติดเชื้อราว 90% การติดเชื้อสายพันธุ์เดลตานี้แพร่กระจายอย่างหนักในหมู่คนหนุ่มสาวและคนสูงวัยที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน

ด้านผู้ผลิตวัคซีน Sinopharm และ Sinovac ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี มีหลายปัจจัยด้วยกันที่สามารถเป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก วัคซีนไม่ได้ป้องกันโควิด-19 ได้ 100% ดังนั้นใครก็ตามที่รับวัคซีนแล้วจึงสามารถติดเชื้อโควิดได้อีก ขณะเดียวกัน วัคซีนสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็สามารถพัฒนาสายพันธุ์เพื่อป้องกันวัคซีนที่มีอยู่ได้

ทั้งนี้ Ben Cowling นักระบาดวิทยาจาก University of Hong Kong’s School of Public Health ระบุว่า หลายประเทศไม่ควรหยุดใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากจีน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อย รายได้ปานกลางและประเทศที่มีศักยภาพในการจัดหาวัคซีนได้จำกัด ซึ่งหลายประเทศที่อนุมัติวัคซีนจาก Sinopharm และ Sinovac ไปใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศร่ำรวยเพื่อให้ได้วัคซีนที่พัฒนาจากสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปได้

ประเทศที่ตัดสินใจใช้วัคซีนจากจีนเหล่านี้ก็จำเป็นต้องยอมรับด้วยว่ารอบวงโคจรของคนป่วยหนักและคนเสียชีวิตจากโควิด-19 ก็จะสั้นลงอย่างไม่ต้องสงสัย เธอบอกว่า บางประเทศก็ปฏิเสธชัดเจนเลยว่าไม่รับวัคซีนที่ผลิตจากจีน เช่น คอสตาริกาที่ปฏิเสธวัคซีนจีนที่พัฒนาโดย Sinovac เมื่อเดือนที่ผ่านมาหลังจากได้ข้อสรุปว่า วัคซีนนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2021

วัคซีนไม่สามารถป้องกันไวรัส/ ติดเชื้อโควิด 100% แต่เทคโนโลยี mRNA สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า

แม้ WHO หรือองค์การอนามัยโลกจะอนุมัติให้ใช้วัคซีน Sinopharm และ Sinovac เพื่อการฉุกเฉินแล้ว แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนจีน 2 แบรนด์นี้ก็ยังต่ำกว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA อย่าง Pfizer-BioNTech และ Moderna ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 90%

วัคซีน Sinopharm นั้นมีประสิทธิภาพต้านการติดเชื้อโควิดอยู่ที่ 79% แต่เรื่องประสิทธิภาพที่มีต่อคนวัย 60 ปีขึ้นไปนั้นยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ส่วนวัคซีน Sinovac นั้นมีประสิทธิภาพราว 50% จนถึงกว่า 80% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเทศที่ทำการทดลองอีก

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ข้อค้นพบจากการทดลองทางคลินิกคือ ไม่สามารถเปรียบได้โดยตรงเพราะการทดลองแต่ละครั้งก็มีความแตกต่างกัน แต่ผลการศึกษาจากฮ่องกงพบว่า ระดับภูมิต้านทานของผู้ที่รับวัคซีน BioNTech สูงขึ้นมากกว่าผู้ที่รับวัคซีนจาก Sinovac ผู้เชี่ยวชาญบางรายก็มองว่าความแตกต่างด้านเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนต้านโควิดน่าจะเป็นคำอธิบายได้ดีถึงประสิทธิภาพในการต้านไวรัสแต่ละสายพันธุ์

Michael Head นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพโลกจากมหาวิทยาลัย Southampton ในอังกฤษระบุว่า ทั้ง Sinovac และ Sinopharm ต่างเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) ฉีดเข้าไปในร่างกายคนเพื่อให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันและผลิตสารแอนติบอดีขึ้น เป็นเทคโนโลยีที่ใช้มานานหลายสิบปีแล้ว ขณะที่ Pfizer-BioNTech และ Moderna เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 เมื่อฉีดเข้าร่างกายคน สารพันธุกรรมนี้จะทำให้ร่างกายคนสร้างโปรตีน กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส

วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว ง่ายต่อการผลิต เป็นที่รู้จักกันดีว่าปลอดภัย แต่มีแนวโน้มที่จะสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อยถ้าเทียบกับวัคซีนประเภทอื่น ขณะที่ Cowling นักระบาดวิทยาระบุว่า การทดลองระยะสามของวัคซีนเชื้อตายพบว่า มันช่วยทำให้ไม่มีอาการหนักมากหรือเสียชีวิตจากโควิดได้ ซึ่งวัคซีนจีนก็มีแนวโน้มว่าคนติดเชื้อที่มีอาการอ่อนๆ นี้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็จะมีคนที่ป่วยอาการหนักในจำนวนที่น้อยโดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว

Sinovac
ภาพจาก Sinovac

เมื่อพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำ ก็ยิ่งต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งภูมิคุ้มกันหมู่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อไวรัสไม่ได้แพร่พันธุ์รวดเร็ว คนต้องมีภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีนหรือฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิดก่อน หลายประเทศพยายามสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิดระยะแรกเริ่ม แต่ก็ยังไม่พบว่ามีประเทศใดประสบความสำเร็จ

เรื่องนี้มีงานศึกษาจาก University of New South Wales’s Kirby Institute ในซิดนีย์ระบุว่า รัฐนิวเซาท์เวลส์จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ถ้าประชากรราว 66% ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้านโควิดได้มากถึง 90% โดยสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนจะต้องเพิ่มขึ้นถึง 86% ถ้าหากว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพถึง 70% และภูมิคุ้มกันหมู่จะไม่เกิดขึ้นได้หากได้รับวัคซีนต่ำกว่า 60%

สรุป

บทสรุปจากงานวิเคราะห์โดย CNBC สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่ที่พึ่งพาวัคซีนจากจีนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Sinopharm หรือ Sinovac ล้วนมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้จะมีการพยายามยืนยันว่า อย่างน้อยการฉีดวัคซีนจากจีนสองแบรนด์นี้ก็ไม่ทำให้เกิดอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโควิดได้

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาก็ยืนยันอีกเสียงว่าอาจไม่จำเป็นต้องปฏิเสธวัคซีนสองแบรนด์นี้ถ้าเป็นประเทศที่มีรายได้น้อย รายได้ปานกลาง มีศักยภาพในการจัดหาวัคซีนต่ำ แต่ต้องยอมรับว่าอาจพบคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นและคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ ประเทศอื่นที่พิสูจน์แล้วว่าวัคซีนประสิทธิภาพต่ำไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในการป้องกันโควิด-19 ก็หาทางปฏิเสธได้ และงานวิจัยรวมถึงงานศึกษาหลายชิ้นก็พิสูจน์แล้วว่า ประเทศที่ใช้วัคซีนประสิทธิภาพสูงย่อมทำให้ประชาชนที่รับวัคซีนมีภูมิต้านทานสูงกว่าประเทศที่รับวัคซีนประสิทธิภาพต่ำ เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนได้ไม่มากพอและรับวัคซีนได้ไม่รวดเร็วพอๆ กับไวรัสที่พัฒนาสายพันธุ์ตลอดเวลา ภูมิต้านทานก็ไม่เกิด วงโคจรของการติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นในระยะสั้น คนป่วยมากขึ้น เสียชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย

ที่มา – CNBC (1), (2), Our World in Data, Covid 19 Vaccine Tracker

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา