ชาตินิยมอย่างเดียวเอาไม่อยู่ จีนกังวลประสิทธิภาพ เตรียมนำเข้าวัคซีนประเทศอื่นเพิ่ม

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดจีนกำลังเตรียมหาวัคซีนมาใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากที่ประสิทธิภาพของวัคซีนเริ่มสร้างความกังวล

Sinovac China Vaccine

วัคซีนจีนมีหลากหลายแบรนด์ด้วยกัน ดังนี้

  • Sinovac หรือ CoronaVac เป็นวัคซีนที่พัฒนาที่ปักกิ่ง ผลิตโดยบริษัท Sinovac
  • Sinopharm หรือ BBIBP-CorV ผลิตโดยวิสาหกิจจีน มีการพัฒนาวัคซีนจาก 2 แห่งคือที่ปักกิ่งและที่อู่ฮั่น
  • CanSino วัคซีนต้านโควิด-19 นี้พัฒนาโดย CanSinoBIO ใช้ฉีดเพียง 1 โดสเท่านั้น ใช้ adenovirus ของมนุษย์เป็นตัวนำสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลส์มนุษย์เพื่อให้สร้างโปรตีนต่อ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ของจีนมีการทำงานแบบเดียวกับวัคซีนของรัสเซีย Sputnik V
  • Anhui Zhifei Logcom & Chinese Academy of Sciences หรือ ZG2001

วัคซีนจีนประสิทธิภาพต่ำ หัวหน้าศูนย์ป้องกันโรคระบาดในจีนยังเป็นกังวล

SCMP เผยว่า ผลการทดลองในบราซิลพบว่าวัคซีน Sinovac นั้นมีประสิทธิภาพ 50.4% ขณะที่ตุรกีมีประสิทธิภาพ 83.5% ซึ่งก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติเคยระบุไว้ว่าวัคซีนควรมีประสิทธิภาพราว 50%

ในเรื่องของการเตรียมนำวัคซีนประเทศอื่นมาใช้นี้ สื่อท้องถิ่นของจีนรายงานว่า Gao Fu หัวหน้าศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดจีนกล่าวไว้ในที่ประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า กำลังพิจารณาที่จะแก้ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของวัควีนที่ใช้อยู่ เนื่องจากยังมีประสิทธิภาพไม่สูงนัก ดังนั้นการแก้ปัญหาคือการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เป็นไปได้ว่าจีนน่าจะจัดหาวัคซีนเพิ่มผ่านกรอบการทูตแบบทวิภาคีหรือการทูตสองฝ่ายหรือที่เรียกว่าการทูตวัคซีนนั่นเอง

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนจัดหาวัคซีนให้หลายประเทศทั่วโลกราว 40 ล้านโดส มีทั้งบราซิล เซอร์เบียร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้านสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรก็จัดหาวัคซีน Johnson & Jonson ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วราว 1 พันล้านโดส

Sinovac Biotech วัคซีน จีน
(Photo by Andressa Anholete/Getty Images)

อย่างไรก็ดี FT รายงานว่า ชิลีก็ต้องพึ่งพาวัคซีน Sinovac จากจีนเช่นกัน ซึ่งการศึกษาชิ้นล่าสุดพบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนของชิลีแค่เพียง 1 โดส มีประสิทธิภาพเพียง 3% เท่านั้น เมื่อเทียบกับ 2 โดสถึงจะได้ 56% แต่ทางผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขท้องถิ่นไม่ได้มองว่ามีความเชื่อมโยงใดๆ กับประสิทธิภาพของวัคซีนล่าสุด

ทั้งนี้ ในโซเชียลมีเดียก็มีก็โพสต์ข้อความจาก Yanzhong Huang นักวิจัยอาวุโสด้านสาธารณสุขโลกจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) ซึ่งก็เป็นข้อความที่ถูกเซ็นเซอร์ด้วย โดย Huang ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลออกมายอมรับอย่างเปิดเผย ถึงความกังวลที่มีต่อการฉีดวัคซีน ซึ่งกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนฉีดวัคซีนไปแล้วราว 65 ล้านโดส

ผลการทดลองทางคลินิกระยะ 3 ยังไม่เปิดเผย หลายประเทศวิจารณ์หนัก

การผลิตวัคซีนของผู้ผลิตจากจีนไม่ได้เปิดเผยการทดลองระยะที่ 3 ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นขาดความโปร่งใส ด้าน Sinopharm อ้างว่าประสิทธิภาพของวัคซีนสูงราว 79% สูงพอๆ กับวัคซีนของ AstraZeneca ด้าน AstraZeneca เองก็ปรับแก้ไขประสิทธิภาพให้มีอัตราลดลงหลังจากเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ทาง Sinopharm ก็ไม่ได้เปิดเผยการทดลองระยะ 3 แต่อย่างใด

Xi Jinping สี จิ้นผิง ประธานาธิบดี จีน
Xi Jinping ภาพจาก Shutterstock

ด้าน Peter English อดีตที่ปรึกษาศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ สาธารณสุขอังกฤษ กล่าวว่า เรื่องที่จีนไม่เผยแพร่ผลการทดลองระยะที่ 3 เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก ด้านผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกงระบุว่า CoronaVac หรือวัคซีน Sinovac นี้มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 51% สำหรับคนที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี ซึ่งก็มีการเปิดเผยผลการทดลองแค่เพียงระยะ 1 และ 2

CGTN สื่อจีนที่ถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน เผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีการสัมภาษณ์ Yin Weidong ผู้ที่เป็น CEO เป็นดั่งหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนบริษัท Sinovac Biotech ระบุว่าภารกิจของ Sinovac ยังไม่สมบูรณ์ ยังมีสิ่งที่ต้องทำต่อ นั่นก็คือการควบคุมโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ

Sinovac มั่นใจ พัฒนาและวิจัยวัคซีนดีแล้ว ผลทดลองระยะ 3 ศึกษาจากประเทศพันธมิตร

Yin ของ Sinovac ระบุว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นแค่การเริ่มต้น เพราะโควิด-19 เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าต่อไปจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก เหมือนกับมนุษย์กำลังพบเจอกับศัตรูที่เข้ามาโจมตี ศัตรูย่อมไม่บอกเราอยู่แล้วว่าจะโจมตีเราอย่างไร มันมีแต่ความท้าทายและความไม่แน่นอนในการผลิตวัคซีน

ส่วนกรณีคำถามเรื่องการทดลองระยะ 3 ที่ทั่วโลกให้ความสนใจอยู่นั้น Yin ระบุว่า เขาพอใจมากกับข้อมูลที่มีอยู่ สาเหตุที่เขาพอใจ เขาบอกว่าเพราะอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในจีนอยู่ในระดับต่ำ เราไม่สามารถทำการศึกษาทดลองระยะ 3 ในจีนได้ นี่เป็นความจริง หรือเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ ในอดีต วัคซีนจีนและบริษัทจีนมีน้อยมาก ซึ่งการทดลองระยะ 3 เราต้องประเมินการศึกษานอกประเทศจีน ส่วนเรื่องที่เราจะประเมินการทดลองระยะ 3 จากนอกประเทศจีนได้อย่างไร นี่เป็นคำถามที่ยาก แต่ไม่สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือโรคระบาดเกิดขึ้นในจีนและเกิดในหลายประเทศ

เงื่อนไขสำคัญในการทดลองประกอบด้วย 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ ประเทศนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างหนักและโรคมีความรุนแรง เรื่องที่สองคือ ประชากรจำนวนมากต้องการวัคซีน (Yin ถามผู้สัมภาษณ์กลับด้วยว่า อยู่เฉยๆ คุณจะอยากฉีดวัคซีนเหรอ หมายความว่า อาจหาอาสาสมัครที่สมัครใจจะทดลองวัคซีนได้ลำบาก เว้นแต่คนที่ได้รับผลกระทบหรือป่วยแล้ว อาจจะสมัครใจที่จะรับการทดลองนั้นๆ) เรื่องที่สามคือ ประเทศหุ้นส่วนของเรามีการวิจัยและพัฒนาที่ค่อนข้างอ่อนแอ ต้องการความช่วยเหลือ

China COVID-19 Face Masks
ภาพจาก Shutterstock

ตอนนี้จีนมีการทดลองทางคลินิกในหลายประเทศ ทั้งบราซิล อินโดนีเซีย ตุรกี และชิลี ตอนนี้ผลการทดลองระยะ 3 เปิดเผยแล้ว จีนเริ่มทดลองที่บราซิลที่ถือว่ามีการติดโควิด-19 มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (ข้อมูลจาก JHU ระบุว่า บราซิลมีการติดเชื้อโควิด-19 เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและอินเดีย มีผู้ติดเชื้อรวม 13,482,023 คน รักษาหาย 11,878,958 คน เสียชีวิต 353,137 คน/ ทั่วโลกเสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้ว 2,938,439 คน รักษาหาย 77,516,666 คน ติดเชื้อรวม 136,157,645 คน)

นอกจากประสิทธิภาพวัคซีนจะต่ำจนทำให้สาธารณสุขจีนเองยังเป็นกังวลแถมยังไม่เปิดเผยข้อมูลการทดลองระยะ 3 แต่จีนก็ยังตั้งเป้าผลิตวัคซีนต้านโควิดภายในปี 2022 ให้ได้ 5,000 ล้านโดส โดยหัวหน้าสมาคมวัคซีนแห่งประเทศจีนเผย ประเทศจีนตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพในการผลิตวัควีนต้านโควิด-19 ให้ได้ 5,000 ล้านโดสภายในปีหน้าหรือปี 2022 โดยตอนนี้จีนกำลังเร่งฉีดวัคซีนภายในประเทศมากขึ้น

Feng Duojia เผยเป้าหมายดังกล่าวในงานประชุมของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยจีนเตรียมเพิ่มการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ราว 20 เท่าจากการผลิตเดิมหรือที่ส่งวัคซีนไปยังต่างประเทศด้วย ซึ่งจีนเริ่มรณรงค์สร้างภูมิคุ้มก้ันโรคโควิด-19 อย่างช้าๆ เนื่องจากขาดแคลนกำลังการผลิตที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนได้ ปัจจุบันจีนฉีดวัคซีนไปแล้วราว 130 ล้านโดส ส่งออกไปแล้วกว่า 100 ล้านโดส ราว 100 ประเทศ

Wuhan China COVID-19 Coronavirus โควิด-19
ภาพจาก Shutterstock

อัพเดต*3 พฤษภาคม 2564*
The Economist ได้จัดอันดับแบรนด์วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอันดับ 1. Pfizer/BioNTech อันดับ 2. แบรนด์ Moderna อันดับ 3. แบรนด์ Sputnik V (แบรนด์นี้จดทะเบียนวัคซีนต้านโควิดรายแรกของโลก แต่ความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ เพราะไม่เปิดเผยข้อมูลช่วงทดลองระยะแรก เพิ่งจะมาเปิดระยะ 3)
.
อันดับ 4 คือแบรนด์ Novavax (ทดลองในอังกฤษ มีการทดลอง 2 ที่คืออังกฤษและแอฟริกาใต้ แอฟริกาใต้ประสิทธิภาพต่ำกว่ามาก) อันดับ 5 แบรนด์ AstraZeneca (ประสิทธิภาพสูงขึ้นมากถ้าฉีดโดสที่ 2 ในสัปดาห์ที่ 12 ขึ้นไป) อันดับ 6 Johnson & Johnson ตามด้วยอันดับที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดคือ Novavax (ที่ทดลองในแอฟริกาใต้) และ Sinovac

ไปดูประเทศอื่นที่เขานำวัคซีน Sinovac ไปใช้กัน

บราซิล พบว่า วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพเพียง 50.4% ตอนนี้เป็นพื้นที่โควิดสายพันธุ์ใหม่ ในบราซิลนำเข้าวัคซีน Sinovac ไปแล้วราว 40 ล้านโดส ปัจจุบัน บราซิลติดโควิด-19 เป็นอันดับ 3 ของโลก คนติดเชื้อรวม 14.7 ล้านคน รักษาหายอันดับ 2 ของโลก 13.08 ล้านคน เสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก 4.07 แสนคน

ส่วน ตุรกี วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพการใช้งานอยู่ที่ 83.5% นำเข้าวัคซีนราว 20 ล้านโดส ตุรกีมีคนติดเชื้ออันดับ 5 ของโลกรวม 4.8 ล้านคน รักษาหาย 4.48 ล้านคน เสียชีวิต 40,884 คน

ตุรกีเพิ่งจะสั่งล็อคดาวน์ประเทศเต็มรูปแบบครั้งแรก หลังจากที่เดือนเมษายนมีคนติดเชื้อโควิด-19 ต่อวันอยู่ 60,000 คนต่อวันและเสียชีวิตมากกว่า 300 คน ถ้าเทียบกับประเทศในยุโรปนับตั้งแต่มกราคม ปี 2020 ถึง 25 เมษายน ปี 2021 ตุรกีมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด เฉลี่ยรายสัปดาห์อยู่ที่ 52,000 คน

ตุรกีมีประชากรราว 82 ล้านคน มีคนฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 22 ล้านคน มีคนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ราว 13.6 ล้านคน ตุรกีใช้วัคซีนจาก Sinovac เป็นหลัก มีแบรนด์อื่นบ้างประปราย

รัฐบาลตุรกีประกาศคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้านเป็นเวลายาวนาน 18 วัน เริ่ม 29 เมษายนที่ผ่านมาจนถึง 17 พฤษภาคมหลังจากที่มีการติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นก็แบนการขายแอลกอฮอลล์ขณะล็อคดาวน์ด้วย

ชิลี ก็พึ่งพาวัคซีนจากจีนเช่นกัน พบว่า ประสิทธิภาพของ Sinovac 1 โดส มีประสิทธิภาพเพียง 3% เท่านั้น ขณะที่ 2 โดสถึงจะได้ประสิทธิภาพอยู่ที่ 56% นำเข้าวัคซีน Sinovac ไปแล้วกว่า 10 ล้านโดส ชิลีมีคนติดเชื้ออันดับที่ 23 ของโลก รวม 1.2 ล้านคน รักษาหาย 1.14 ล้านคน เสียชีวิต 2.65 หมื่นคน

อินโดนีเซีย นำเข้าวัคซีน Sinovac เกือบ 30 ล้านโดส ติดเชื้ออันดับที่ 18 ของโลกรวม 1.67 ล้านคน รักษาหาย 1.53 ล้านคน เสียชีวิต 45,796 คน

covid china
WUHAN, CHINA – FEBRUARY 12 (Photo by Stringer/Getty Images)

สรุป

ซีอีโอจาก Sinovac ใช้วิธีทดลองและศึกษาระยะ 3 กับประเทศที่ระบุเงื่อนไขไว้ดังนี้ เป็นประเทศที่มีการติดโควิด-19 อย่างหนัก มีอาการของโรคและแพร่เชื้อรุนแรง และเป็นประเทศพันธมิตรที่มีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ยังไม่แข็งแกร่งนัก ต้องการความช่วยเหลือ

ในจีนมีการควบคุมโรคได้ดีแล้วจึงทำการทดลองได้ยาก จึงเลือกทดลองจากคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่วนผลลัพธ์เป็นที่พอใจสำหรับ Sinovac แต่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ ส่วนใครที่ต้องการค้นหาคำตอบจากการทดลองทางเทคนิคระยะ 3 ลองสืบค้นการติดเชื้อ การแพร่กระจายเชื้อ การควบคุมโรคจากประเทศเหล่านี้เพิ่มเติม บราซิล อินโดนีเซีย ตุรกี และชิลี

ที่มา – Caixing Global, Financial Times (1), (2), The Economist, BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา