จีนเร่งลงทุน ท่าเรือ-ไฮเวย์-โรงงานโซลาร์เซลล์ ในอาเซียน ประกาศความเป็นใหญ่เหนือตะวันตก

การแข่งขันระหว่าง จีน และ สหรัฐ มีให้เห็นอยู่ตลอด โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งจีนมองว่าเป็นเขตอิทธิพล เป็นสวนหลังบ้านของจีนเพราะมีความสำคัญในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ และยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในอนาคต 

xi jinping

เราเห็นได้ชัดจากการที่เส้นทางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนคาดผ่านพื้นที่แห่งนี้พอดิบพอดี นั่นหมายความว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนซึ่งเสริมสร้างความเกี่ยวโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันและในขณะเดียวกันก็เป็นการยอมรับอิทธิพลของจีนไปด้วย 

หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของการแผ่ขยายอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีนคือการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับตนเองในเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ซึ่งเป็นกรณีที่จีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคู่กรณีกันเองโดยตรง

วันนี้ Brand Inside จะพาไปดูพลวัตรทางเศรษฐกิจ จับตาดูความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนในการลงทุนในภูมิภาคนี้

จีน ลงทุนทุกมิติ ครอบคลุมทั้งภูมิภาค

จีนมีการลงทุนมหาศาลในแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ดังนี้

มาเลเซีย

กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมมาเลเซียประกาศเมื่อปลายเดือนมิถุนายนว่า Risen Energy บริษัทเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ จะลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งหลักๆ จะเป็นการสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนโซลาร์เซลล์ภายใต้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.2 แสนล้านบาท) 

ประจวบเหมาะกับที่ 1 วันก่อนหน้านี้เพิ่งจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีแบบเสมือนจริง (ออนไลน์) ว่าด้วยโครงการ BRI โดยจีนตกลงที่จะช่วยลงทุนเพื่อช่วยให้มาเลเซียเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้คาร์บอนลดลง และยังตกลงที่จะมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีกด้วย

อินโดนีเซีย

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน จีนเพิ่งจัดประชุมระดับรัฐมนตรีกับประเทศอาเซียน ณ นครฉงชิ่ง ในการประชุมดังกล่าว Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวกับ Luhut Binsar Pandjaitan รัฐมนตรีกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลของอินโดนีเซียว่า จะช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานและจะนำเข้าสินค้าเพิ่ม

ก่อนหน้านี้ จีนก็ให้ความช่วยเหลือในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางทะเล เช่น ท่าเรือ ให้อินโดนีเซียไม่น้อย เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างทะเลและบกภายใต้ BRI แบบไร้รอยต่อ และเป็นการสร้างอิทธิพลในทะเลจีนใต้และแปซิฟิก

Chinese Foreign Minister Wang Yi addresses reporters as U.S. Secretary of State John Kerry listens at the Ministry of Foreign Affairs in Beijing, China, following a bilateral meeting on May 16, 2015. [State Department Photo/Public Domain]
กัมพูชา

เป็นที่ทราบกันดีว่ากัมพูชาคือประเทศที่ชนชั้นนำทางการเมืองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน กรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดว่าจีนเข้ามาลงทุนในกัมพูชามหาศาลคือ สีหนุวิลล์ เมืองท่องเที่ยวติดทะเลที่ทุนจีนหอบเงินกันมาลงทุนมหาศาลจนกลายเป็นเมืองศูนย์รวมความบันเทิงครบวงจร แต่ในทางกลับกันชาวกัมพูชาก็แทบจะไม่มีที่ยืนในเมืองเกิดของตัวเอง

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา จีนเพิ่งตกลงที่จะเร่งความร่วมมือในการยกระดับระบบขนส่ง โดยทางการจีนจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาช่วยเหลือ

Hun Sen Cambodia, Xi Jinping China
BEIJING, CHINA – APRIL 29: Cambodia’s Prime Minister Hun Sen arrives to meet with China’s President Xi Jinping at the Great Hall of the People on April 29, 2019 in Beijing, China. (Photo by Madoka Ikegami – Pool/Getty Images)

ลาว

ต้นเดือนที่ผ่านมา จีนตกลงที่จะช่วยเหลือลาวในการสร้างไฮเวย์ระยะทางรวมกว่า 580 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณกว่า 5.1 พันล้านดอลลาร์ (1.67 แสนล้านบาท)

เวียดนาม

สำนักข่าวท้องถิ่นของเวียดนามระบุเองว่าตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเมษายน จีนเข้ามาลงทุนในเวียดนามถึง 61 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนโดยรวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (3.2 หมื่นล้านบาท​) ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ไม่ถูกกับจีน (เห็นได้ชัดจากการลังเลที่จะรับวัคซีนจีน) และมีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้โดยตรงเพราะมีพรมแดนประชิดกัน จีนจึงมุ่งหมายที่จะเข้ามาลงทุนสร้างอิทธิพลเพิ่มเติม

ไม่ใช่แค่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วัคซีนคืออีกหนึ่งเครื่องมือ

หลังจากโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก จีนพยายามทำ ‘การทูตวัคซีน’ สวมบทมิตรประเทศที่ดีแจกจ่ายวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่สิงคโปร์ที่ฉีดวัคซีน mRNA เป็นหลัก รวมถึงเวียดนามที่รับวัคซีนจีนด้วยท่าทีลังเล

Sinovac Biotech วัคซีน จีน
(Photo by Andressa Anholete/Getty Images)

อย่างไรก็ตามการทูตวัคซีนดูเหมือนจะไม่ได้ผลมากนักเพราะในขณะที่จีนพยายามเล่นบทดี จีนกลับมีท่าทีแข็งกร้าวในเวทีโลก ทั้งกรณีซินเจียง การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง ท่าทีก้าวร้าวต่อไต้หวัน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ทำให้นานาประเทศยังมองจีนด้วยความระแวดระวังมากกว่าไว้ใจ

นอกจากนี้ วัคซีนจีนทั้ง Sinovac และ Sinopharm ยังมีผลลัพธ์ในการป้องกันโควิด-19 ที่ยังด้อยกว่าวัคซีนตัวท็อปอย่าง Pfizer และ Moderna ทั้งในงานวิจัยและกรณีศึกษาในโลกจริง โดยเฉพาะเมื่อโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาด จีนที่ฉีดวัคซีนของตัวเองเป็นหลักถึงกับต้องใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้ง รวมถึงพยายามหาวัคซีนอื่นเข้ามาใช้

ตะวันตกสู้ทุกทาง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานยันวัคซีน

โจ ไบเดน พาสหรัฐกลับมาสู่ความร่วมมือในเวทีโลกเพื่อต้านจีนอีกครั้ง อย่างในกรณีล่าสุดก็ผลักดันโครงการ Blue Dot Network โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชน โปร่งใส และยั่งยืน ร่วมกับประเทศในกลุ่มอินโดแปซิฟิกทั้งญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ท้าชน BRI โดยตรง

G7
(Photo by Leon Neal – WPA Pool/Getty Images)

เท่านั้นไม่พอ สหรัฐยังผลักดันแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกกรอบชื่อ Build Back Better World (B3W) ร่วมกับพันธมิตรในกลุ่ม G7 (แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, และสหรัฐอเมริกา) 

B3W ไม่ใช่ความร่วมมือเดียวที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศประชาธิปไตยในการประชุม G7 ครั้งล่าสุด ณ เมือง Cornwall ประเทศอังกฤษเท่านั้น เพราะยังมีการตกลงร่วมกันว่าจะบริจาควัคซีน 1 พันล้านโดส ผ่านโครงการ COVAX ให้กับประชากร 80% ของโลก โดยมีประเทศยากจนเป็นเป้าหมายหลัก

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน