G7 เตรียมบริจาควัคซีนผ่าน COVAX พร้อมผนึกกำลังต้านจีน-ขุดที่มาโควิดระบาด

Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษเขียนบทความเผยแพร่ใน Nikkei Asia ระบุว่า กลุ่มประเทศ G7 ควรบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประเทศกำลังพัฒนาราว 1,000 ล้านโดส ส่วนการประชุมในกลุ่มสุดยอดผู้นำจากประเทศ G7 เองก็ตกลงกันว่าจะบริจาควัคซีน 1,000 ล้านโดสให้ครอบคลุมประชากรราว 80% ของโลกเพื่อให้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้

G7 donate vaccine to Covax & anti China

จากการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 (แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, อังกฤษและสหรัฐอเมริกา) ที่คอร์นวอล์ อังกฤษ ได้มีแผนร่วมกันว่าจะยุติโรคระบาดภายในเดือนธันวาคม 2022 ในเอกสารยังไม่ได้มีการสรุปรายละเอียดที่ชัดเจน แต่มีเรื่องที่กลุ่ม G7 ให้ความสำคัญ ดังนี้

  • G7 จะให้ความสำคัญในการจัดการเรื่องการบังคับใช้แรงงานในห่วงโซ่อุปทานโลก ทั้งในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมถึงการบังคับใช้แรงงานในหมู่ของคนชนกลุ่มน้อย แม้ประเด็นนี้กลุ่ม G7 ทั้งหลายจะไม่ได้ระบุถึงประเทศจีนโดยตรง แต่ทุกประเด็นที่ว่ามาล้วนเกี่ยวข้องกับจีนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้แรงงานชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงของจีนทั้งในภาคสิ่งทอและพลังงานแสงอาทิตย์
  • กลุ่ม G7 เรียกร้องให้มีการโน้มน้าว WHO เพื่อศึกษาที่มาของต้นตอโควิด-19 ระบาด
  • มีการเรียกร้องให้รัสเซียดูแลกลุ่มบัญชีที่ในเขตแดนประเทศตนเองที่มีส่วนในการโจมตีไซเบอร์ จนนำไปสู่การก่ออาชญกรรมทางไซเบอร์ (บริษัทท่อส่งน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ ก็เพิ่งถูกโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่)
  • กลุ่ม G7 ยังยินดีที่จะมีการกลับมาเจรจาเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านและประณามกลุ่มกองกำลังติดอาวุธด้วย

นโยบายด้านการเงิน การคลัง การค้าและการท่องเที่ยว

  • ทั้งหมดมีความตกลงร่วมกันว่าจะยุติข้อจำกัดทางการค้าที่ไม่จำเป็นในการส่งออกวัคซีน
  • ให้ความสำคัญกับการคลังสาธารณะ
  • สนับสนุนให้มีมาตรฐานในการเดินทางระหว่างประเทศร่วมกัน รวมถึงการยืนยันสถานะของการฉีดวัคซีนผ่านใบรับรองด้วย

ร่างความตกลงด้านความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

  • ให้ความตกลงร่วมกันว่าจะเร่งทำให้รถยนต์ปราศจากการปล่อยมลพิษ
  • เหล่าผู้นำหารือกันเรื่องเงินทุนสำหรับแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท
  • G7 ตระหนักถึงศักยภาพของตลาดคาร์บอนและราคาคาร์บอนที่มีส่วนขับเคลื่อนให้มีการปล่อยก๊าซน้อยลง

ในส่วนของ Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บทความที่เขาเขียนลง Nikkei Asia นั้นพูดถึงทั่วโลกร่วมมือกันมากขึ้นเพราะโรคระบาด นอกจากนี้ในที่ประชุม G7 ผู้นำอังกฤษยังได้เชื้อเชิญนายกรัฐมนตรีอินเดีย, ออสเตรเลีย รวมถึงประธานาธิบดีเกาหลีใต้และแอฟริกาใต้ ถือเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มโลกเสรีประชาธิปไตยและยังเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดของโลกสำหรับประเทศที่มีระดับเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุดมารวมตัวกัน

นอกจากนี้ Boris ยังระบุว่าอังกฤษเองก็มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ผ่านโครงการ Covax ราว 80 ล้านโดส วัคซีนที่จัดส่งให้ทั้งหมดก็คือวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดยมีรัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุน อีกทั้งยังร่วมบริจาคผ่านโครงการ Covax อีกราว 548 ล้านปอนด์หรือประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทและยังเตรียมบริจาควัคซีนเพิ่มอีกจำนวนมาก Boris ระบุว่า เขาต้องการให้กลุ่ม G7 จัดหาวัคซีนเพื่อบริจาคให้ประเทศกำลังพัฒนาอีกราว 1 พันล้านโดสเพื่อให้ทุกคนในโลกได้รับวัคซีนภายในปลายปีหน้า ปี 2022

จากนั้น เขาก็ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์พยายามผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ได้โดยใช้เวลาเพียงแค่ 300 วันเท่านั้น ตอนนี้กลุ่ม G7 กำลังเร่งพยายามพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ให้เร็วขึ้นเพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ จากเดิมที่ใช้ความพยายามมากถึง 300 วันจะเร่งให้เร็วขึ้นเป็นระยะเวลาเพียง 100 วัน

อย่างไรก็ดี เรื่องการบริจาควัคซีน 1,000 ล้านโดสจากกลุ่มประเทศร่ำรวยให้แก่กลุ่มประเทศยากจนนั้น ไม่ใช่แค่การแสดงน้ำใจและความเป็นห่วงเป็นใยจากประเทศที่มีความสามารถและมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนได้เหนือกว่าประเทศอื่นใดในโลกจากกลุ่ม G7 เท่านั้น แต่ยังต้องยกเครดิตให้กับความพยายามเรียกร้องของ WHO ที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ให้ประเทศร่ำรวยเร่งบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประเทศยากจน รวมถึงองค์การ Unicef ที่เรียกร้องให้กลุ่มประเทศร่ำรวย กลุ่มประเทศ G7 ช่วยบริจาควัคซีนแก่ประเทศยากจน 1,000 ล้านโดสผ่านโครงการ Covax เป็นการเร่งด่วน

ที่มา – Bloomberg, Nikkei Asia, Aljazeera, Unicef

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา