แนวคิดใหม่การทำงาน: ไม่อยู่กันเป็นครอบครัว ไม่ใช่ทีมนักกีฬามืออาชีพเสมอไป แต่อยู่กันแบบคนในหมู่บ้าน

วัฒนธรรมการทำงาน (Work Culture) คือหนึ่งในหัวใจหลักของทุกองค์กร

หลายบริษัทระดับโลกที่ยิ่งใหญ่เติบโตและประสบความสำเร็จได้ ก็ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ดีทั้งนั้น และแน่นอน องค์กรแต่ละที่ก็จัดการไม่เหมือนกัน

ที่นี่เราอยู่กับแบบครอบครัว

โดยส่วนใหญ่แล้ว หลายๆ บริษัทชอบขายความเป็น “ครอบครัว” โดยจะบอกเสมอว่า ที่นี่เราทำงานกันเป็นครอบครัว อยู่กันด้วยไมตรีจิต เสนอภาพของความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สามัคคีพี่น้อง

การทำงานแบบครอบครัว แม้จะขายภาพความอบอุ่น แต่ก็แฝงมาด้วยต้นทุนทางอารมณ์ที่ยากจะรับมือ เช่น เกรงใจหากจะขอเพิ่มเงินเดือน ไม่กล้าลาออกหรือเปลี่ยนงานเพราะรู้สึกถึงบุญคุณ และความสนิทสนม

ไม่แปลกที่บริษัทยุคใหม่จำนวนไม่น้อย จึงเลือกเดินเส้นทางสายใหม่ และบอกชัดเจนว่า “เราจะไม่อยู่กันเป็นครอบครัว” อีกต่อไป

ที่นี่เราทำงานกันเป็นทีม

บริษัทรุ่นใหม่ๆ หันมาบอกว่า “เราทำงานเป็นทีม” ซึ่งทีมในที่นี้หมายถึง ทีมนักกีฬา ทีมทำงานแบบมืออาชีพ 

ซีอีโอ Shopify บริษัทอีคอมเมิร์ซที่บอกว่า เราจะไม่ทำงานกันแบบครอบครัว เราจะทำงานกันเป็นทีม เพราะการอยู่ในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ถึงที่สุด เราเลือกเกิดไม่ได้

พูดอีกอย่างคือ ถ้าเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว เราเลิกที่จะไม่เป็นครอบครัวกันไม่ได้ เพราะผูกพันกันเหนียวแน่น วิธีคิดแบบนี้ พอนำมาใช้กับโลกการทำงานจึงมีปัญหา เนื่องจากมันจะทำให้เราไม่กล้าปลดคนที่มีผลงานย่ำแย่ออกจากบริษัท ดังนั้นเราจึงต้องทำงานกันเป็นทีมมืออาชีพ

  • วัฒนธรรมการทำงานแบบเป็นทีมมืออาชีพ ต้องดู Netflix เพราะคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด 

Netflix slide

ถ้าไปดูในสไลด์อันโด่งดังของ Reed Hastings ซีอีโอ Netflix เขาบอกชัดมากๆ ว่า วัฒนธรรมการทำงานในองค์กรของ Netflix คือ “We’re a team, not a family” 

นั่นหมายความว่า การทำงานใน Netflix จะเข้มข้นมากๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดคนเข้า จะมาทำงานด้วยกันต้องเป็นระดับหัวกะทิ หรือเบอร์ต้นๆ ของตลาดเท่านั้น ส่วนใครที่ทำงานไปแล้ว ประเมินออกมาพบว่า อยู่ในระดับกลางๆ ไม่โดดเด่น ไม่เป็น Star ไม่เฉิดฉาย ทางบริษัทก็พร้อมที่จะจ้างให้ออกจากงาน เพราะอยู่ไปก็ไม่เป็นผลดีกับการทำงานในระยะยาว

informal meeting in modern open plan office
informal meeting in modern open plan office Photo: Getty Images

ข้อเสนอใหม่ วัฒนธรรมการทำงานที่เหมือนอยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน

ข้อเสนอใหม่ในประเด็นวัฒนธรรมการทำงานแห่งศตวรรษที่ 21 เสนอว่า การทำงานในโลกยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องอยู่กันแบบครอบครัว ไม่ต้องทำงานกันเป็นทีมกีฬามืออาชีพเสมอไป

  • ประเด็นคือ ให้สร้างความรู้สึกของการทำงาน และอยู่ร่วมกันเป็น “หมู่บ้าน” หรือ Village

การสร้างวัฒนธรรมการทำงานให้เป็นเสมือนการทำงานร่วมกันในหมู่บ้าน หมายความว่า การทำงานในออฟฟิศก็คือการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน ที่แห่งนี้มีคนหลากหลาย มีความหลากหลาย ทุกคนไม่จำเป็นต้องคิดเห็นเหมือนกันในทุกๆ เรื่อง แต่อยู่รวมกัน และทำงานร่วมกันได้

ที่สำคัญคือ ต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป แต่ในขณะเดียวทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน ชุมชน บริษัท หรือองค์กรนี้เท่าๆ กัน   

คนทำงานในโลกยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพของความเป็นครอบครัว (ที่มีลำดับชั้นทางอำนาจในความสัมพันธ์สูง) เพื่อจะปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานในทางที่ดี เพราะเราสามารถปฏิบัติต่อกันดีๆ ได้โดยไม่ต้องมองว่าเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว

Photo by Felix Mittermeier on Unsplash

มากกว่านั้น วิธีคิดแบบหมู่บ้านทำให้เรามองเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ดังนั้น ใครจะออกจากหมู่บ้านหรือบริษัท เพราะมองคุณค่าต่างออกไปจากเดิม เมื่อเส้นทางเดิมที่เลือกไม่ตอบโจทย์ชีวิตแล้ว การย้ายหมู่บ้าน ย้ายที่ทำงานถือเป็นเรื่องที่ปกติที่สุด สามัญที่สุด ดาษดื่นที่สุด เกิดขึ้นได้ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องรู้สึกสำนึกในบุญคุณใคร จนไม่กล้าออกไปแสวงหาชีวิตใหม่ (ที่จะดีหรือเลวกว่าเดิม เป็นอีกเรื่อง)

แต่อย่าลืมว่า วัฒนธรรมการทำงานที่มองว่าสถานที่ทำงานเป็นหมู่บ้านก็ไม่ได้มีแต่ด้านดี เพราะมันมีด้านมืดด้วย

การอยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน ย่อมหลีกหนีวัฒนธรรมการซุบซิบ-นินทาไปไม่ได้ หรือบางครั้งชีวิตในหมู่บ้านก็แสนจะน่าเบื่อ ไม่มีอะไรน่าสนใจสักเท่าไหร่ แต่ประเด็นก็คือนี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เองมิใช่หรือที่เป็นเรื่องปกติที่สุดของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เนื่องจากมันสะท้อนด้านสำคัญคือธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ที่สามารถขึ้น-ลง-ดี-ร้าย สลับกันไปได้อย่างไม่มีสิ้นสุด

ต่างจากทั่วๆ ไปที่เวลาได้ยินเรื่อง “วัฒนธรรมการทำงาน” บริษัทต่างๆ ก็มักจะเสนอกันแต่ด้านที่ดี โดยลืมเสนออีกด้านของความเป็นจริง

นั่นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่า สิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่ขายกันตลอด คือการตลาดที่บอกเพียงว่า อยู่ที่นี่อบอุ่น ทำงานที่นี่เป็นกันเอง พี่ๆ น่ารัก หรือไม่ก็บอกว่า ที่นี่เข้มแข็ง สุดยอด ดีเลิศ ทำงานแบบมืออาชีพ ซึ่งจริงๆ แล้ว หลายครั้งก็ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของโลกการทำงานในองค์กรอย่างครบถ้วน

สรุป

วัฒนธรรมการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะผลักดันให้เกิดสิ่งแวดล้อมของการทำงาน ซึ่งสุดท้ายแล้ว จะเลือกแบบไหน จะครอบครัว จะทีม จะหมู่บ้าน ก็เป็นเรื่องของแต่ละองค์กร เพราะแต่ละบริษัทไม่จำเป็นต้องมีแนวทางที่เหมือนกัน

แนวทางไหนเหมาะสมกว่า ก็เลือกแนวทางนั้น

แต่ถ้าสุดท้าย บริษัทต่างๆ ยังจะดึงดันและฝืนขายภาพครอบครัวสู่สาธารณะ แล้วเมื่อพนักงานได้เข้ามาทำงานในองค์กร กลับพบว่าไม่เป็นความจริง เพราะที่บอกว่าครอบครัวกลับหมายถึงวิถีการทำงานที่ไร้สมดุล Work ไร้ Balance หรือหลายครั้งเกรงใจในความสัมพันธ์(แบบครอบครัว)จนต้องทำงานหนักล่วงเวลาบ่อยๆ ไร้ซึ่งสิ่งตอบแทน

ดังนั้นหากไม่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงาน ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นเพียงกับดักทางการตลาดอันตื้นเขิน และที่สำคัญคือไม่ได้สะท้อนภาพของ Future of Work ที่ดีเลย

อ้างอิง Quartzสไลด์การทำงานอันโด่งดังของ Reed Hastings แห่ง Netflix

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา