วัฒนธรรมการทำงานแบบ Netflix: ใครเก่งมากๆ ตบรางวัลอย่างงาม ใครเก่งกลางๆ จ้างออก

นอกจากการเข้ามา disrupt สื่อเก่าของ Netflix สตรีมมิ่งยอดฮิตเบอร์หนึ่งของโลก จนมีมูลค่ากิจการแซงหน้าไปไกลแล้ว คำถามคือ อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของ Netflix พวกเขามีวิธีหรือวัฒนธรรมการทำงานอย่างไร?

Netflix

เบื้องหลังความสำเร็จ Netflix คือไม่มีกฎระเบียบในที่ทำงาน

ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้ Netflix ประสบความสำเร็จ จนมาถึงจุดนี้ได้

เชื่อว่าคุณค่า 2 ประการที่ Netflix จะตอบกลับมาอย่างรวดเร็วเลยคือ “เสรีภาพ” และ “ความรับผิดชอบ”

แต่เสรีภาพกับความรับผิดชอบ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ในอากาศ หากแต่มีที่มาที่ไป เพราะอย่างน้อยที่สุดเสรีภาพเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาดความรับผิดชอบ และในคราวเดียวกัน ความรับผิดชอบที่ดีก็อาจเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับเสรีภาพอย่างเต็มที่

เคล็ดลับสุดยอดของ Netflix คือการจ้างคนเก่ง เก่งระดับหัวกะทิ เก่งจนกระทั่งไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ใดๆ มาบังคับ เก่งขนาดที่บริษัทพร้อมจะมอบเสรีภาพให้อย่างเต็มใจ ไม่เคอะเขิน

หากคุณเป็นพนักงานประจำของ Netflix คุณจะมีวันลาไม่จำกัด เว้นเสียแต่ว่าทำสายการเงินหรือบัญชี บริษัทจะร้องขอให้คุณต้องเข้าบริษัทในช่วงต้นและปลายของไตรมาส เพื่อจัดการงานเอกสาร หรือในอีกหนึ่งเงื่อนไขคือ แม้ Netflix จะบอกว่าลางานได้ไม่จำกัด แต่ถ้าคุณคิดจะลางานติดต่อกัน 30 วัน ก็อาจจะต้องติดต่อฝ่ายบุคคลหรือ HR เพื่อพูดคุยกันเสียก่อน

  • Netflix ระบุว่า “เราจ้างคนที่เป็นผู้ใหญ่มาทำงานด้วย” ดังนั้น กฎระเบียบจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะต้องมาบังคับกัน

อย่างเช่นเรื่องทางการเงิน Netflix จะมีคำเพียง 5 คำเท่านั้น ที่บอกไว้ให้พนักงานปฏิบัติตามคือ “Act in Netflix’s best interests” หรือแปลเป็นไทยในบริบทนี้คือ “ใช้เงินอย่างไรก็ได้ แต่ให้ผลประโยชน์สูงสุดเป็นของ Netflix” ผลปรากฎว่า พนักงานของ Netflix ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดมากขึ้น ดูได้จากการจองเครื่องบินหรือที่พักในนามของบริษัท พนักงานใช้เงินเสมือนว่ากำลังใช้เงินจากกระเป๋าของตัวเอง

  • มองจากมุมนี้จะเห็นได้ว่า การไม่มีกฎ (No Rules) ของ Netflix ได้สร้างวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ ความเชื่อใจกันในขั้นสูง (high trust culture)

Patty McCord บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างวัฒนธรรมของ Netflix เคยบอกไว้ว่า “ถ้าคุณเลือกจ้างคนที่มาทำงานโดยเอาผลประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งเข้าใจและสนับสนุนให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เชื่อเถอะว่า 97% ของพนักงานจะทำสิ่งที่ถูกต้อง … แต่บริษัทส่วนใหญ่มักใช้เวลาและเงินไปกับการสร้างกฎระเบียบมากมายเพื่อบังคับใช้กับคนเพียงแค่ 3% ดังนั้น เราจึงทุ่มเทอย่างหนักเพื่อที่จะไม่จ้างคนใน 3% นี้ และเราก็จ้างพวกเขาออก หากเราพบว่าเราจ้างเขามาทำงานด้วยความผิดพลาด”

ออฟฟิศ ทำงาน Office Work
Photo: Shutterstock

ใครเก่งมากๆ ตบรางวัลอย่างงาม, ใครเก่งกลางๆ จ้างออก

นอกจากเรื่องการไม่มีกฎระเบียบที่จุกจิกของ Netflix ในที่ทำงานแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นเคล็ดลับความสำเร็จคือ การให้คุณค่ากับคนเก่งระดับ Top

  1. Netflix ลงทุนจ้างคนที่เก่งระดับสุดยอด (high-performance) เนื่องจากจะตอบโจทย์เรื่องการทำงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังสอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์กรที่เน้นให้เสรีภาพและความรับผิดชอบอีกด้วย
  2. สร้างวัฒนธรรมที่ให้รางวัล (rewards) กับคนเก่งระดับสุดยอดทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกัน คนที่เก่งแบบกลางๆ หรือมีผลงานไม่เข้าตา ก็จะถูกจ้างออกจากบริษัทด้วยจำนวนเงินที่ยุติธรรม (มีแหล่งข่าวระบุว่าให้ 3-4 เดือน)
  • อาจฟังดูโหดร้าย แต่นี่คือวัฒนธรรมของ Netflix หนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จในยุคสมัยของเรา

อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องบอกว่า ใครที่คิดจะร่วมงานกับ Netflix ต้องลองเข้าไปอ่านสไลด์สุดคลาสสิกของซีอีโอ Netflix อันโด่งดัง ที่เขาพูดถึงวัฒนธรรมและปรัชญาการทำงานของบริษัท โดยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2009 ปัจจุบันมีคนคลิกเข้าชมสูงถึง 18 ล้านครั้งแล้ว

อ่านจบแล้ว, ถ้าใช่-ถ้าตรงกับจริตการทำงาน ก็สมัคร

แต่ถ้าอ่านจบแล้ว, ความต้องการไม่ตรงกัน ก็จะได้ไม่เสียเวลาทั้งคู่ ทั้งฝั่งนายจ้างและผู้สมัคร

ข้อมูล – Forbes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา