Pandora บริษัทเครื่องประดับอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพชรธรรมชาติที่ได้จากการทำเหมือง และหันไปใช้เพชรสังเคราะห์จากห้องแล็บ (Lab-Grown Diamond) โดยก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือการออกคอลเล็คชั่นแรกที่ใช้เพชรสังเคราะห์จากห้องแล็บ
คอลเล็คชั่นใหม่ของ Pandora ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เมื่อวานนี้ Pandora ได้ออกคอลเล็คชั่นใหม่ชื่อว่า Pandora Brilliance เป็นคอลเล็คชั่นแรกของ Pandora ซึ่งมีทั้งต่างหู สร้อยคอ และแหวน ที่ทำมาจากเพชรสังเคราะห์จากห้องแล็บ วางจำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ 250 ปอนด์ หรือประมาณ 10,850 บาท โดยวางจำหน่ายในสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรก
เพชรสังเคราะห์จากห้องแล็บไม่ใช่ของปลอม ของทดแทน หรือของเกรดเทียบเท่า เพราะเพชรดังกล่าวเป็นเพชรแท้ๆ ที่เกิดจากการเลียนแบบกระบวนการเกิดแร่เพชรตามธรรมชาติ เพชรที่ออกมาก็มีคุณสมบัติทั้งทางกายภาพ ทางเคมี และทางแสงไม่ต่างจากเพชรแท้ตามธรรมชาติ
การปรับตัวของ Pandora: ธุรกิจปัจจุบันมีหลายเรื่องต้องคิด
มีหลายเหตุผลที่ทำให้ Pandora ต้องปรับตัวในครั้งนี้ แต่เหตุผลที่ชัดที่สุดคือเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยทาง Alexander Lacik ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Pandora ได้ออกมาบอกเองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นสิ่งถูกต้องที่ควรจะทำ และเป็นก้าวแรกของการปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนที่ใหญ่ไปกว่านี้
อีกประเด็นหนึ่งทำให้ Pandora ให้ความสนใจกับเพชรแท้จากห้องแล็บคือปัจจัยเรื่องราคา
รายงานของ Bain & Co. บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ต้นทุนในการผลิตเพชรในห้องแล็บลดลงมากกว่า 10 เท่า จากปี 2018 แถมคุณภาพตามหลัก 4Cs ไม่ต่างจากเพชรตามธรรมชาติทั้งในในเรื่องของการเจียระไน (Cut) สี (Color) น้ำหนักกะรัต (Carat) และความสะอาด (Clarity)
ในรายงานยังเปิดเผยอีกว่า ราคาของเพชรแท้จากแล็บจะถูกกว่าเพชรตามธรรมชาติ และที่สำคัญอาจสวยกว่าด้วย ส่วนเรื่องราคาที่ถูกลง แน่นอนว่าจะมีส่วนที่ทำให้ผู้บริโภคหันมามองว่าเครื่องประดับจากเพชรของ Pandora เหมาะที่จะสวมใส่ในทุกๆ วัน และมีได้ทีละหลายๆ ชิ้น เป็นการกระตุ้นยอดขายไปในตัว
อีกปัจจัยคือสิทธิมนุษยชน เมื่อปีที่ผ่านมา รายงานจาก Human Right Watch เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในระดับโลกเปิดเผยว่า มีผู้ผลิตอัญมณีเพียงแค่บางเจ้าเท่านั้นที่สามารถเสาะหาเหมืองเพชรที่ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษชนได้ แต่บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการผลิต เพราะในอีกด้านหนึ่งการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น การใช้งานเกินกำลัง การใช้กำลังกดขี่ รวมถึงการลดทอนสวัสดิการแรงงานต่างๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนการผลิตต่ำลง
- Biden เตรียมกระตุ้นกลุ่ม G7 ร่วมกดดันจีนกรณีบังคับใช้แรงงานอุยกูร์
- Kagome ซอสญี่ปุ่นอันดับ 1 ระงับนำเข้ามะเขือเทศซินเจียง จีน
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวเผยว่า Pandora เป็นหนึ่งในบริษัทที่ทำได้ดีในประเด็นด้านนี้ และการหันไปใช้เพชรแท้จากห้องแล็บก็เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ เพราะยิ่งการผลิตเพชรแท้จากห้องแล็บมีต้นทุนถูกลง ก็ยิ่งทำให้ Pandora ไม่ต้องพึ่งพาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อกดต้นทุนให้ต่ำ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังได้เพชรที่มีคุณภาพคงเดิม
ที่มา – BBC, The Guardian, CNBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา