รู้จัก Pandora แบรนด์เครื่องประดับอัญมณีเบอร์ 1 ของโลก กับกลยุทธ์สร้างธุรกิจเติบโตแสนล้านบาท

Pandora (แพนดอร่า) แบรนด์เครื่องประดับอัญมณีจากเดนมาร์ก ที่มียอดขายทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว ล่าสุดมีรายได้รวมกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าเครื่องประดับแบรนด์นี้ผลิตในไทยทุกชิ้น และสร้างมูลค่าการส่งออกให้ไทยอย่างมหาศาล

ตั้งไลน์ผลิตในไทยมาเกือบ 30 ปี

ตอนนี้สาวๆ หลายคนคงอยากให้แฟนหนุ่มซื้อเครื่องประดับของ Pandora ให้ โดยเฉพาะกับตัว Bracelet หรือสร้อยข้อมือ ที่สามารถตกแต่งด้วย Charm หรือตุ้มห้อยในรูปแบบต่างๆ เพื่อบ่งบอกความเป็นตัวเอง และเปรียบเหมือนตัวแทนความทรงจำของช่วงเวลาสำคัญต่างๆ เช่น First Date กันที่ไหน หรือประทับใจกันเพราะอะไร

แต่รู้หรือไม่ว่าเครื่องประดับที่นิยมกันอยู่ตอนนี้ ทุกขั้นตอนถูกผลิตในประเทศไทยทั้งหมด และไม่ใช่แค่เพิ่งตั้งโรงงานจากความนิยมในประเทศ แต่สร้างโรงงานที่กรุงเทพมาตั้งแต่ปี 2532 หรือถัดจากการก่อตั้ง Pandora ขึ้นที่ประเทศเดนมาร์กในปี 2525 โดยสามีภรรยา Per กับ Winnie Enevoldsen ซึ่งถึงตอนนี้ก็กินเวลามาเกือบ 30 ปีแล้ว

บรรยากาศโรงงานในประเทศไทยที่กรุงเทพ

เดินหน้า Universe of Jewelry

ส่วนเหตุผลการก่อตั้ง Pandora ขึ้น ก็เพราะทางครอบครัว Enevoldsen ต้องการทำตลาดสินค้าเครื่องประดับแบบ Affordable Luxury ต่างกับแบรนด์อื่นๆ ในตอนนั้น ที่มีแต่สินค้าราคาสูง ประกอบกับต้องการวางตัวเองเป็น Universe of Jewelry ที่มีทุกอย่าง และตอนนี้ก็ทำได้แล้ว ผ่านสินค้าอย่างเช่น สร้อยคอ, ต่างหูและแหวน ที่ทำมาจากเงินกับทองคำ

นีลส์ เฮแลนเดอร์ รองประธานอาวุโสสายงานการผลิตและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด เล่าให้ฟังว่า หลังก่อตั้งบริษัทไม่นาน ครอบครัว Enevoldsen ได้เข้ามาเที่ยวประเทศไทยเพื่อหาอัญมณีไปจำหน่ายในเดนมาร์ก แต่เมื่อเจอกับฝีมือ และความประณีตของช่างไทย จึงตัดสินใจตั้งโรงงานที่นี่ และเป็นฐานผลิตเดียวที่ส่งสินค้าออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

การขึ้นรูป Charm ที่ทำมาจากแก้วโดยช่างฝีมือชาวไทย

เบอร์หนึ่งของแบรนด์เครื่องประดับ

ขณะเดียวกัน Pandora ยังเป็นเบอร์หนึ่งของแบรนด์เครื่องประดับในโลกตอนนี้ ผ่านกำลังการผลิตที่มหาศาล โดยปี 2559 ผลิตไปทั้งหมด 122 ล้านชิ้น รวมถึงมีจุดขายกว่า 8,000 แห่งทั่วโลก ผ่านช่างฝีมือในประเทศไทยที่เป็นพนักงานประจำกว่า 12,000 คน แต่ด้วยการจำหน่าย Affordable Luxury ทำให้ยอดขายยังไม่ใช่เบอร์หนึ่งเมื่อเทียบกับแบรนด์คู่แข่ง

และการลงทุนในประเทศไทยของยักษ์ใหญ่เครื่องประดับรายนี้ยังมีในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะใช้เงินกว่า 9,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงาน และศูนย์นวัตกรรม 3 แห่งตั้งแต่ปี 2558-2562 ประกอบด้วย โรงงานแห่งที่ 2 ในจังหวัดลำพูน ที่รองรับพนักงานได้กว่า 5,000 คน และศูนย์นวัตกรรมกับ โรงงานในกรุงเทพอีก 2 แห่ง เพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัว

Bracelet และ Charm ที่เสร็จสมบูรณ์ รวมถึงเป็นทีนิยมไปทั่วโลก ที่กว่าจะเสร็จต้องผ่านมือช่างฝีมือกว่า 30 คน

วางเป้าเติบโต 2 ดิจิท อย่างต่อเนื่อง

สำหรับเป้าหมายในปีนี้ Pandora ต้องการรักษาอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลักต่อเนื่องจากปี 2559 และ 2558 ที่ทำได้ 21% กับ 30% ตามลำดับ ผ่านการใช้กลยุทธ์ออกสินค้าใหม่ 7 ครั้ง/ปี ต่างจากคู่แข่งแบรนด์ Luxury ที่ออกสินค้าใหม่แค่ 2 ครั้ง/ปี ประกอบกับเรื่องสินค้าแบบ Hand-Finished หรือประกอบด้วยมือเกือบทั้งหมด ก็น่าจะสร้างความแตกต่างได้

อย่างไรก็ตาม หากใครต้องการครอบครองเครื่องประดับแบรนด์นี้อาจต้องสำรวจราคากันดีๆ เพราะแม้จะผลิตในประเทศไทย แต่ด้วยข้อตกลงกับ BOI เกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการลงทุน ทำให้สินค้าทั้งหมดของโรงงานในไทยต้องส่งออกไปขายในต่างประเทศเท่านั้น ส่วนที่เห็นมีหน้าร้านในไทย ก็เพราะมีตัวแทนจำหน่ายติดต่อเข้ามาขายทำให้ราคาสูงกว่าประเทศอื่นเล็กน้อย

สรุป

อุตสาหกรรมเครื่องประดับอัญมณีในประเทศไทยขึ้นชื่อในระดับโลกอยู่แล้ว และยิ่ง Pandora ได้รับความนิยมในตอนนี้ ก็คงสร้างงานให้กับคนไทยจำนวนมาก ส่วนในมุมตลาดโลก เมื่อ Pandora วางตัวเป็น Affordable Luxury ก็น่าจะฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปได้ เพราะเมื่อเงินไม่มี ใครๆ ก็อยากซื้อของดี ราคาไม่แพงกันทั้งนั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา