นโยบายสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จะเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราทำธุรกิจ
ทิศทางนโยบายสิ่งแวดล้อมของอเมริกาในยุคโจ ไบเดน จะเป็นการกลับลำ 180 องศา จากทิศทางนโยบายสิ่งแวดล้อมในยุคของทรัมป์อย่างชัดเจน ไบเดนจะมาพร้อมกับการชูนโยบายสิ่งแวดล้อมเต็มสูบ ตรงข้ามกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนมีอยู่จริงและเป็นวิกฤติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นโยบายสิ่งแวดล้อมอาจเป็นเรื่องที่ดูไม่หวือหวา ไม่น่าจับตามองเท่ากับนโยบายเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ในปี 2020 จากข้อมูลของ New York Times สหรัฐฯ ต้องสูญเงินกว่า 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 3 ล้านล้านบาท ไปกับภัยธรรมชาติซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2019
อีกอย่างที่ทำให้นโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่น่าจับตามองคือ การที่สิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นเสมอ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่มันจะไปกำหนดภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม การขนส่งและคมนาคม การทำเกษตร วิธีการใช้งานทรัพยากร ซึ่งหมายความว่าตัวละครทางเศรษฐกิจ เช่น บริษัท ต้องจับตามองการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอย่างมาก
และนี่คือก้าวย่างของมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายจะกระทบเศรษฐกิจโลกแน่นอน
โจ ไบเดน จัดทีมชุดใหญ่ แก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อม
คณะทำงานที่ถูกเติมเต็มไปด้วยผู้มากประสบการณ์ในวงการสิ่งแวดล้อมของ โจ ไบเดน ทั้งในคณะรัฐมนตรี และทีมทำงานของประธานาธิบดีสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
คณะทำงานส่วนใหญ่ของไบเดนในด้านสิ่งแวดล้อมมักจะมีภูมิหลังคือ หากไม่เคยเคยทำงานผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมในวาระของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา หรือมีความถนัดเฉพาะทางมาอย่างยาวนาน ก็จะเป็นผู้ที่สนับสนุน Green New Deal ชุดข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทะเยอทะยาน ตัวอย่างเช่น
- Deb Haaland รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นชนพื้นเมืองอเมริกัน เป็นตัวแทนผลประโยชน์ในพื้นที่ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติของคนพื้นเมืองอเมริกัน
- Gina McCarthy หัวหน้าสำนักงานนโยบายสิ่งแวดล้อมประจำทำเนียบขาว เคยทำงานในสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ในรัฐบาลโอบามา
- Jennifer Granholm รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยทำงานผลักดันพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมรถในสมัยโอบามา ในฐานะผู้ว่าการรัฐมิชิแกน
- Michael Raegan หัวหน้าสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ มีประสบการณ์ในการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา
- Brendy Mallory ประธานสภาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำงานเป็นทนายความด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน
ที่สำคัญ ไบเดนได้ตั้ง John Kerry อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลโอบามา เป็น ผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ (Special Presidential Envoy for Climate) เขาเป็นสถาปนิกผู้ให้กำเนิดความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกล่าสุดอย่าง Paris Agreement 2016
ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในรัฐบาลโจ ไบเดน ก็มุ่งมั่นเรื่องวิกฤติภูมิอากาศ
ไบเดนยังตั้งคนที่มีความมุ่งมั่นเรื่องสิ่งแวดล้อมในตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น
- Janet Yellen รัฐมนตรีคลัง สนับสนุนนโยบายพลังงานสะอาดมายาวนาน
- Pete Buttigieg รัฐมนตรีคมนาคม เคยลงสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีและชูนโยบายสิ่งแวดล้อม
- Brian Deese ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ เคยมีบทบาทในการเจรจาร่างข้อตกลงปารีส
นอกจากนี้ ชัยชนะล่าสุดในจอร์เจีย ทำให้เดโมแครตสามารถส่งสมาชิกวุฒิสภาเข้าสู่สภาซีเนตเพิ่ม 2 คน และได้คุมเสียงข้างมากในสภาสูงสหรัฐฯ นี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2011 ที่เดโมแครตมีเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภา นั่นหมายความว่า โจ ไบเดน สามารถเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้าและใช้งบประมาณสูงได้มากยิ่งขึ้น
โดยไบเดน จะมาพร้อมแนวทางนโยบายสิ่งแวดล้อม ดังนี้
แก้ไขสิ่งที่ทรัมป์ทำพัง คือภารกิจแรก
จากข้อมูลของ Washington Post โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกหรือผ่อนคลายกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมไปกว่า 125 ฉบับ ซึ่งนั่นทำให้บริษัทเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงอย่างมาก เช่น
- ผ่อนคลายกฎหมายปกป้องสัตว์ป่าใกล้สูญพันธ์
- ผ่อนคลายเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
- ผ่อนคลายกฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- อนุญาตให้เข้าไปขุดเจาะน้ำมันในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอาร์กติก ในมลรัฐอลาสก้า
- ลดมาตรฐานด้านพลังงานของรถยนต์
ภารกิจเร่งด่วนอย่างแรกคือการย้อนคืนกระบวนการที่ทรัมป์ได้ทำตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง และกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ที่เอื้อให้ภารกิจในการจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศเป็นไปได้มากขึ้น
กลับมามีบทบาทนำระดับโลกในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากเรื่องระดับชาติแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ยังนำอเมริกาออกจากความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศระดับโลกอย่างข้อตกลงปารีส ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะเป็นต้นทุนต่อการพัฒนาของประชาชนอเมริกัน
ภารกิจเร่งด่วนที่สุดของไบเดนคือ การนำอเมริกากลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสอีกครั้ง และแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศพันธมิตรอย่างประเทศในสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกระดับโลกที่จะช่วยแก้ปัญหาใหญ่อย่างวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การแต่งตั้ง John Kerry ผู้มากประสบการด้านการทูตและการระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสถาปนิกที่ก่อให้เกิดข้อตกลงปารีส ให้มาช่วยเหลือไบเดนในตำแหน่งผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ (Special Presidential Envoy for Climate) ก็สะท้อนให้เห็นว่าไบเดนจริงจังเรื่องความร่วมมือระดับโลก โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม
การปฏิวัติพลังงานสะอาด
โจ ไบเดน มีแผนที่จะ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือ 0 ภายในปี 2035 จึงมีแผนที่จะจัดทำนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากมาย เช่น
- ออกนโยบายทางภาษีที่สร้างแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
- เพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาด
- สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับแบตเตอรี่
- วางแผนจะสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะทุ่มเงินกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ปรับให้ภาครัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด ส่วนก่อสร้างของภาครัฐจะต้องมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การหันหน้าหาพลังงานสะอาดของรัฐบาลใหม่ เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน เช่น Tesla ที่เติบโตขึ้นอย่างมากในปี 2020 จนทำให้ Elon Musk ขึ้นเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก (ก่อนจะถูก Jeff Bezos แซงอีกครั้ง)
สรุป
ต่อจากนี้ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอเมริกาจะถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อตอบรับนโยบายของโจ ไบเดน ธุรกิจของสหรัฐฯ จะมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น และด้วยการลงทุนทั่วโลกของบริษัทสหรัฐฯ นั่นจึงบีบบังคับให้บริษัทที่ข้องเกี่ยวกันในสายพานการผลิตปรับตัว
ผนวกกับการที่สหรัฐฯ กลับเข้ามาผลักดันการต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศในเวทีโลกอีกครั้ง จึงทำให้รัฐบาลจากประเทศต่างๆ และบริษัทจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ที่มา – NYTimes, Washington Post (1) (2) (3), Quartz (1) (2), MSNBC, Vox
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา