ถอด 5 บทเรียนชีวิตสู่ความสำเร็จจากประสบการณ์ 27 ปี ของ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon

Jeff Bezos ได้ลงจากตำแหน่ง CEO ของ Amazon แล้วเมื่อไม่กี่วันก่อน แต่แย้งไม่ได้เลยว่าเขาคือหนึ่งในผู้ปฏิวัติวงการช็อปปิ้งทั่วโลกในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ยังไม่รวมการลงทุนในบริการคลาวด์ หรือแม้แต่การท่องอวกาศอีกด้วย และนี่คือบทเรียนสำคัญ 5 ประการจากเขา ตลอดระยะเวลา 27 ปี

ยอมเสี่ยง อย่ากลัวความผิดพลาด

“เมื่อคุณลองจิตนาการดูว่าคุณจะเสียดายอะไรบ้างตอนอายุ 80 ส่วนใหญ่คุณก็จะนึกถึงแต่สิ่งที่ไม่ได้ทำ สิ่งต่างๆ ที่คุณไม่ได้ลองทำ คุณจะไม่ค่อยเสียใจในภายหลังเรื่องความผิดพลาด หรืออะไรก็ตามที่ทำไม่สำเร็จหรอก” Bezos กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2018

Bezos ใช้วิธีคิดนี้เพื่อตัดสินใจทางเลือกที่สำคัญๆ ในชีวิตอย่างเช่น การลาออกจากงานสายกองทุนใน Wall Street เพื่อเปิดร้านขายหนังสือออนไลน์ของตัวเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Amazon ในปี 1995 หรือจะเป็นการตัดสินใจสารภาพกับคนที่ตนเองรักก็ตาม

อีกหนึ่งตัวอย่างก็คือความเชื่อมั่นใน Andy Jassy (CEO คนถัดไปของ Amazon) ผู้ที่นำเงินลงทุนจาก Bezos ไปสร้างสตาร์ทอัพด้านคลาวด์ที่กลายมาเป็น Amazon Web Services ในปัจจุบัน

ตัดสินใจที่ดี ต้องมีคุณภาพและรวดเร็ว

Bezos เชื่อเสมอว่าปัจจัยหลักของการทำธุรกิจนวัตกรรมที่มีความสำเร็จคือ “การตัดสินใจอย่างมีคุณภาพให้รวดเร็วที่สุด” 

ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของ Amazon ในปี 2015 Bezos อธิบายว่า การตัดสินใจในบริษัทไม่ได้มีผลถาวรเสมอไป ส่วนใหญ่คำสั่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เหมือนกับ “ประตูที่เปิดได้สองทาง” ดังนั้น วิธีที่จะหาทางออกที่ดีที่สุดก็คือการรีบเลือกหนึ่งทางก่อน ถ้าผลไม่ดีเท่าที่ควร ก็ยกเลิกมันเสีย ไม่จำเป็นจะต้องกลัวว่าจะมีผลเสียต่อบริษัทหรือไม่

ความกลัวจะทำให้ “ตัดสินใจได้ไม่เร็วพอ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่จำเป็น ทดลองได้ไม่เพียงพอ และทำให้มีนวัตกรรมน้อยลง”

Bezos ยังกล่าวในปี 2018 อีกว่า “การตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของผมทั้งหมด ทั้งด้านธุรกิจและชีวิต มาจากการทำตามหัวใจ สัญชาตญาณ และความกล้า ไม่ใช่จากการวิเคราะห์”

หา Passion ของตัวเองให้เจอ

Bezos บอกว่าคำแนะนำที่เขามอบให้พนักงานที่ยังอายุน้อยและลูกๆ ของเขาบ่อยที่สุดก็คือ การหาสิ่งที่ใจรักและหลงไหล (passion) ในชีวิตให้เจอ โดยเชื่อว่าการได้ทำอาชีพที่ตัวเองรักนับเป็นสิ่งที่โชคดีที่สุดแล้ว

ในด้านของ Bezos นอกจากการเป็นนักประดิษฐ์ในโรงรถของเขา Jeff ยังหลงไหลในอวกาศมาตั้งแต่เด็กอีกด้วย ซึ่งความฝันของเขาก็เข้าใกล้ความจริงมาเสมอ หลังจากการก่อตั้งบริษัทท่องอวกาศ Blue Origin และกำลังจะออกบินในเร็วๆ นี้

เปิดรับการไร้ประสิทธิภาพบ้าง ล้มเหลว และเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ

ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นปี 2018 Bezos เขียนถึงความสำคัญของการแบ่งเวลาเพื่อสนองความสงสัยของตัวเอง และค้นคว้าวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่พบเจอ

ถึงแม้ว่าธุรกิจของ Amazon จะตั้งอยู่บนการหาวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็ตาม Bezos เชื่อว่าบางทีก็ต้องมี “ความไร้ประสิทธิภาพ” ที่เขาเรียกว่า การพเนจร บ้าง เพราะหนทางสู่ความสำเร็จไม่เคยเป็นเส้นตรง เขาต้องลองทำและแก้ไขเรื่อยๆ: ประดิษฐ์ เปิดตัว ประดิษฐ์ใหม่ เปิดตัวใหม่ เริ่มใหม่ ทิ้งของเก่า ทำซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะได้ผลลัพท์ที่พอใจ

จงเป็นตัวของตัวเอง อย่าลืมความโดดเด่นเฉพาะตัว

ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นฉบับสุดท้าย Bezos ได้เขียนไว้ว่า “พวกเราทุกคนรู้ว่าความโดดเด่นเฉพาะตัว – ความไม่เหมือนใคร – มีค่ามากแค่ไหน พวกเราโดนสอนให้ ‘จงเป็นตัวของตัวเอง’ แต่ผมอยากจะบอกว่าคุณต้องลงทุนลงแรงในการคงความเฉพาะตัวนั้นไว้ ถึงแม้ว่าโลกจะพยายามทำให้คุณ ธรรมดา ด้วยวิธีนับพัน แค่ไหนก็ตาม จงอย่ายอม”

เขาเสริมอีกว่า “หลายคนเชื่อว่าการเป็นตัวเองมันง่าย แต่ที่จริงแล้วมันต้องใช้เวลาและแรงมากมาย ซึ่งการเป็นตัวเองนั้นสำคัญและคุ้มค่ามาก แค่อย่าคิดว่ามันจะง่ายหรือไม่มีสิ่งที่ต้องแลกก็พอ”

ตลอดระยะเวลา 27 ปีของการเป็นหัวเรือใหญ่ของ Amazon ได้รวมเป็น 5 บทเรียนจาก Jeff Bezos ที่เน้นเรื่องการทำตามหัวใจของตัวเองและตัดสินใจให้มีคุณภาพ แต่ในอีกด้านหนึ่ง Bezos ก็มีปัญหาหลายประการที่ต้องพบเจอเหมือนกัน

Jeff Bezos
<> on September 13, 2018 in Washington, DC.

มีคนรักย่อมมีคนเกลียด

Bezos โดนต่อว่าในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการไม่จ่ายภาษี หรือจะเป็นกลยุทธ์การผูกขาดตลาดของ Amazon ก็ตาม ถึงแม้ว่าพนักงานที่ใกล้ชิดจะเห็นว่า Bezos ไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว แต่ความมุ่งมั่นจนเกินไปก็อาจจะทำให้เขามองข้ามไปหลายๆ อย่างโดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการพนักงานระดับทั่วไปที่ไม่ใช่ระดับผู้บริหาร

สรุป

ในฐานะผู้ก่อตั้ง Jeff Bezos แสดงให้โลกรู้แล้วว่าเขามีวิสัยทัศน์ที่โดดเด่น พร้อมด้วยความสามารถมากพอที่จะทำให้กลายเป็นความจริงได้ บทเรียนความสำเร็จต่างๆ ก็สำคัญ แต่เราก็ควรมองข้อเสียด้านการดูแลพนักงานที่ไม่ดีพอไว้ด้วยเช่นกัน

ที่มา – CNBC, BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา