รู้จักกับ Andy Jassy ว่าที่ CEO คนใหม่ของ Amazon ผู้สืบทอดกิจการต่อจาก Jeff Bezos

รู้จักกับ Andy Jassy ผู้มาแทนที่ Jeff Bezos ในฐานะ CEO คนใหม่ของ Amazon โดยจะเริ่มรับตำแหน่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 นี้

Andy Jassy
Andy Jassy CEO คนใหม่ของ Amazon ภาพจาก Amazon

เมื่อ Jeff Bezos ได้ประกาศก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ของ Amazon เป็นการปิดฉากการทำงานในตำแหน่งมานาน 27 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท

หลังจากนี้ Jeff Bezos จะไปดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ดบริหาร และหันไปให้ความสนใจกับการทำธุรกิจใหม่ๆ และงานด้านการช่วยเหลือสังคม ได้แก่กองทุนด้านสิ่งแวดล้อม Bezos Earth Fund, กองทุนช่วยเหลือคนไร้บ้านและคนยากจน Bezos Day One Fund, บริษัทจรวด Blue Origin และ หนังสือพิมพ์ The Washington Post

ผู้ที่จะเข้ามารับตำแหน่งเป็น CEO คนใหม่ของ Amazon แทนที่ Jeff Bezos ที่วางมือไปแล้วไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น “ลูกหม้อเก่าแก่” ของ Amazon เอง นั่นคือ Andy Jassy

Andy Jassy คือใคร: จากวางรากฐานธุรกิจ Cloud สู่ผู้สืบทอดตัวจริงของ Jeff Bezos

ก่อนหน้าที่ Andy Jassy จะเริ่มทำงานกับ Amazon เขาจบการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัย Harvard ในปี 1990

จากนั้นเรียนต่อด้านการบริหารธุรกิจ (MBA) จาก Harvard ในปี 1997 และเริ่มทำงานกับ Amazon ในตำแหน่ง Marketing Manager ตั้งแต่ตอนนั้น

ที่น่าสนใจคือ เขาไม่เคยออกไปทำงานที่อื่นอีกเลย

ผลงานสำคัญที่สร้างความไว้ใจของ Jassy ให้กับ Bezos จนได้รับการเรียกว่าเป็นเงาที่ทำงานเคียงข้างกับ Jeff Bezos เกิดขึ้นในปี 2006 โดย Jassy เป็นผู้สร้างรากฐานให้กับธุรกิจ Amazon Web Services (AWS) ของ Amazon ถือเป็นการเปลี่ยนภาพขององค์กรที่เคยจับธุรกิจ E-Commerce สู่ธุรกิจเทคโนโลยี Cloud Computing ที่สร้างกำไรอย่างมหาศาลให้กับ Amazon อย่างในทุกวันนี้

Jassy เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในภายหลังว่า เขาก็ไม่คาดคิดเหมือนกันว่า AWS จะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้

ย้อนกลับไปในช่วงที่ AWS เปิดให้บริการเมื่อ 15 ปีก่อน Jassy เป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้ง AWS

เมื่อปี 2003 Jassy ริเริ่มการนำเอาธุรกิจ Cloud ไปจับกลุ่มลูกค้าองค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงกลุ่มนักพัฒนาและหน่วยงานราชการทั่วโลกที่ต้องการใช้บริการเก็บข้อมูล Cloud Storage โดยเสนอให้องค์กรต่างๆ ใช้กำลังการประมูลผลของคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งแม้ในปัจจุบันบริษัทที่เป็นลูกค้าจะเติบโตขึ้นมาก แต่บริษัทเหล่านี้ก็ยังคงอาศัยบริการของ AWS อยู่ โดยไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เป็นของตัวเองเช่นเดิม

ปัจจุบัน AWS คือผู้ให้บริการ Cloud เบอร์ 1 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดไว้ถึง 34% ห่างไกลจากเบอร์ 2 ของโลกอย่าง Azure ที่มีเจ้าของคือ Microsoft ที่ครองส่วนแบ่งตลาดไว้เพียง 20% เท่านั้น

ส่วนยอดขายของ AWS ในไตรมาส 4/2020 ทำไว้สูงถึง 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์ สร้างรายได้ให้บริษัทถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นรายได้หลักของบริษัท เพราะกว่าครึ่งของรายได้ Amazon มาจากธุรกิจคลาวด์ที่ Jassy ได้มีส่วนในการปลุกปั้น

ปั้น Cloud จนติดตลาด: AWS ของ Amazon เป็นผู้นำที่หาคู่แข่งเทียบยาก

แม้ในภายหลังบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ จะเข้ามาเล่นในธุรกิจ Cloud เพื่อแข่งขันกับ AWS ทั้ง Azure ของ Microsoft และ Google ที่ลงทุนในเทคโนโลยี Cloud อย่างหนัก ก็ยังไม่สามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก AWS ไปได้ โดยในช่วงกลางปี 2020 ที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ที่ให้บริการเทคโนโลยี Cloud เป็นของ Amazon (AWS) 34% Microsoft (Azure) 20% และตามด้วยรายอื่นๆ ในตลาด เช่น Google Cloud, Alibaba Cloud และ IBM Cloud

สิ่งที่สนับสนุนให้ Jassy ประสบความสำเร็จภายใต้การทำงานใน AWS คือ ความสามารถในการดึงดูดธุรกิจทุกๆ ประเภทให้เข้ามาใช้งาน AWS ตั้งแต่คนทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ไปจนถึงธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ก็ล้วนแล้วแต่ใช้บริการของ AWS ทั้งนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อลูกค้าของ AWS เป็นบริษัทในตลาดหุ้น บริษัทเหล่านี้ต้องแสดงงบการเงินแบบเปิดเผย ทำให้เห็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เข้าสู่ธุรกิจของ AWS อย่างชัดเจน

จากความสำเร็จใน AWS ท้ายที่สุดแล้วก่อนที่ Jassy จะรับตำแหน่ง CEO ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เขาได้รับการแต่งตั้งจาก Jeff Bezos ให้ดำรงตำแหน่งเป็น CEO ของ AWS เมื่อปี 2016 ซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทลูกของ Amazon

การเข้ารับตำแหน่ง CEO ของ AWS เมื่อปี 2016 ทำให้ Jassy ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในทีมบริหารที่ทำงานใกล้ชิดกับ Jeff Bezos มากที่สุดหรือเรียกกันว่า S-team โดยในขณะนั้นหนังสือพิมพ์ Washington Post ที่มี Jeff Bezos เป็นเจ้าของ ถึงกับเรียกว่า “Jassy เป็นเหมือนทายาทคนถัดไปของ Jeff Bezos”

คนที่คุ้นเคยในวงการ Silicon Valley และรู้จัก Jassy บอกว่า เขาเป็นคนที่สามารถระดมกำลังผู้คนเข้ามาทำงานภายใต้ความคิดใหม่ๆ เขาเป็นคนที่สามารถลงลึกไปถึงรายละเอียดของการทำงาน (super deep into the details) และจากนั้นก็ขมวดความคิดและรายละเอียดมาเป็นธุรกิจใหม่ๆ ได้เสมอ

ที่มา – cnbc, foxbusiness, newsweek, wsj

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา