[วิเคราะห์] เมื่อแบงก์-ภาครัฐใช้ Digital ID (NDID) เปิดบัญชีโดยไม่ต้องไปสาขา ข้อมูลเราจะปลอดภัยไหม?

ทุกวันนี้อยากเปิดบัญชีเงินฝาก หุ้น ซื้อประกันฯ ลูกค้าต้องไปที่สาขา เซ็นเอกสารในกระดาษเพื่อเป็นหลักฐาน แต่สิ้นปี 2562 นี้คนไทยจะไม่ต้องไปสาขาธนาคาร (ที่ไม่เคยเปิดบัญชี) ก็สามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้แล้ว

แบงก์ไทยแห่เชื่อม NDID ข้ามธนาคารเตรียมบริการเปิดบัญชีไม่ต้องไปสาขา

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปิดตัว ริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) หรือระบบที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถพิสูจน์และระบุตัวตน ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เฟสแรกจะเปิดให้บริการไตรมาส 4 ปี 2562 นี้ โดยเริ่มจากธุรกิจธนาคาร ให้ลูกค้าที่เคยเปิดบัญชีธนาคารและระบุตัวตน (สร้าง Digital ID) ไว้กับธนาคารแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นสามารถเปิดบัญชีธนาคารแห่งอื่นได้โดยไม่ต้องไปสาขาแบงก์อีกแห่ง เช่น บริการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านมือถือในแบงก์ที่ประชาชนไม่เคยใช้บริการมาก่อน รวมถึงการเปิดบัญชีหุ้น ซื้อประกันชีวิต ฯลฯ

ขณะนี้หลายธนาคารเริ่มเผยรูปแบบบริการใหม่ให้เห็น เช่น ธนาคารกสิกรไทย เตรียมบริการ เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัลบน K PLUS ซึ่งรูปแบบที่ทดสอบอยู่คือ ลูกค้าต้องยืนยันตัวตน ด้วยอุปกรณ์ที่จุดให้บริการยืนยันตัวตน (K CHECK ID) เช่น เครื่องที่ตั้งอยู่ในสาขา บิ๊กซี (200 สาขา) และที่ทำการไปรษณีย์ (20 สาขา) และจะพิสูจน์ตัวตนด้วยเทคโนโลยีสแกนใบหน้าจากการถ่ายภาพผ่าน K PLUS ในเวลา Real-Time

เคแบงก์น่าจับตามองเพราะมีฐานลูกค้าที่ใช้งาน K PLUS 11 ล้านราย น่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ทดลองบริการใหม่ นอกจากนี้ยังมีฐานลูกค้าอีก 18.7 ล้านบัญชีที่พนักงานสาขาต้องคอยสนับสนุนเมื่อลูกค้าต้องการใช้งาน

ส่วนธนาคารธนชาต สิ้นปีนี้คาดว่าจะใช้ NDID มาเจาะฐานลูกค้าที่ต้องการเงินด่วน ขอสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านแอพฯ บนมือถือชื่อ T-FIN โดยลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนตามขั้นตอนของ NDID โดยถ่ายบัตรประชาชนหน้า-หลัง และถ่ายภาพใบหน้า เมื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคลก็สมัครสินเชื่อและทราบผลพร้อมโอนเงินเข้าบัญชีได้เลย เร็วกว่าการขอสินเชื่อแบบเดิมราว 1 สัปดาห์ 

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารทหารไทย (TMB) จับมือ Show case การเปิดบัญชีเงินฝากด้วย NDID ให้ผู้เข้าร่วมงานแบงก์ชาติดูและ คาดว่าจะเปิดบริการใหม่ที่ใช้ NDID ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้เช่นกัน ฝั่งธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นส่วนหนึ่งที่เข้าทดสอบเรื่อง NDID กับธปท.แล้ว ยังเตรียมเทคโนโลยีใหม่การยืนยันตัวตนด้วยการสแกนเส้นเลือดในฝ่ามือ (Palm Vein) ซึ่งอนาคตลูกค้าแบงก์สามารถสแกนฝ่ามือบนเครื่องมือ ก็สามารถชำระเงินในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ได้เหมือนในต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

ประชาชนเสียค่าธรรมเนียมการใช้ NDID – สาขาแบงก์จะลดลงหรือไม่?

ปัจจุบันทาง NDID และผู้ถือหุ้นทั้งหมดมีการพูดคุยเรื่องค่าธรรมเนียมการขอข้อมูลผ่านระบบ NDID แล้ว โดยผู้ขอข้อมูลต้องเสียค่าธรรมเนียม เช่น ลูกค้าเดินเข้าธนาคาร A (ธนาคารต้นทาง) ต้องการให้ดึงข้อมูลจากธนาคาร B (ธนาคารเจ้าของข้อมูล) ที่มี Digital ID ของลูกค้าอยู่แล้ว ดังนั้นธนาคาร A ต้องยอมจ่ายค่าธรรมเนียมให้ธนาคาร B เลยเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ NDID ยังไม่เร่ิมใช้จริง เพราะภาคเอกชนต้องคำนวนต้นทุนเหล่านี้ทั้งหมด

ทั้งนี้ทางธนาคารซีไอเอ็มบีไทย บอกว่า เมื่อลูกค้าต้องการเรียกข้อมูลจากธนาคารต้นทางเพื่อเปิดบัญชีใหม่ แบงก์ที่ขอข้อมูลก็จะได้ลูกค้าใหม่ไปด้วย ดังนั้นระยะแรกที่เริ่มใช้งานมองว่าทางธนาคารจะเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมให้ลูกค้าในระยะแรกที่เริ่มใช้งาน

ขณะเดียวกันหลายฝ่ายมองว่า เมื่อคนไม่ต้องทำธุรกรรมที่สาขา สาขาของธนาคารจะลดลงหรือไม่ ผู้เขียนมองว่า การปรับลดสาขาของธนาคารต้องดูอีกหลายปัจจัย เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ซึ่งมีหน้าที่ในการตอบสนองภาครัฐ ยังต้องขยายสาขาในหลายพื้นที่ตามพันธกิจที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน ส่วนธนาคารพาณิชย์อื่นๆ แม้บางพื้นที่จะปิดสาขาก็มาจากพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป เช่น ไม่ใช้บริการสาขาที่ตั้ง Stand alone แต่ใช้บริการบนมือถือ หรือบนห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันลูกค้ายังต้องการสาขาธนาคารเพื่อสอบถามเชิงลึก และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อติดต่อ Call Center ไม่ได้

เมื่อส่งต่อข้อมูลข้ามแบงก์-เชื่อมภาครัฐจะปลอดภัยหรือไม่?

พื้นฐานของระบบ NDID จะเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลภาครัฐอย่าง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (เช็คข้อมูลในบัตรประชาชน) ฝั่งเอกชนที่ตอนนี้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท NDID เช่น สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย ส่วนบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ต้องรอดูสัดส่วนการถือหุ้นหลังการเพิ่มทุนบริษัท NDID และมีหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ เช่น ธปท. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กรมต่างๆ จากกระทรวงการคลัง ฯลฯ

ดังนั้นระบบ NDID ที่เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน ต้องทำให้ปลอดภัยด้วย ปัจจุบันทุกหน่วยงานในเครือข่ายต้องทดสอบการเชื่อมต่อระบบอย่างรัดกุม (ใน Regulatory sandbox ของธปท.) หน่วยงานที่จะมาเชื่อมต่อในระบบนี้ต้องมีมาตรฐานตามเกณฑ์ผู้กำกับ โดยภาครัฐจะให้ใบอนุญาตการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อทดสอบแล้วเสร็จ ปัจจุบันจะมีแค่ NDID เจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทย

สิ่งที่ต้องจับตามองคือ ธนาคาร สถาบันการเงินต่างๆ จะใช้วิธีไหนเพื่อให้ลูกค้ายินยอม (Consent) เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และขอบเขตการส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจะเป็นอย่างไร เพราะบางแอพพลิเคชั่นจะส่งเงื่อนไขให้ลูกค้าคลิก “ยินยอม” ก่อนจะใช้บริการได้ ซึ่งวิธีนี้จะกลายเป็นการบังคับลูกค้าทางอ้อมให้ต้องส่งต่อข้อมุลส่วนบุคคลทั้งหมดโดยไม่สามารถเลือกได้หรือไม่? โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ NDID อ้างว่าจะทำตามพรบ.ข้อมูลส่วนบุคคลที่จะมีรายละเอียดออกมาเร็วๆ นี้

ในอีกทางหนึ่งแม้ภาคเอกชนบางส่วนจะมีการขายข้อมูล แต่ส่วนใหญ่ทางเอกชนต้องการข้อมูลลูกค้าเพื่อพัฒนาการบริการให้ดีขึ้น

สรุป

เมื่อเทคโนโลยีเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนและภาคเอกชนมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้กำกับอย่าง ธปท. และภาครัฐต้องใส่ใจความปลอดภัยทางข้อมูลของประชาชนให้มากขึ้น เช่น การขายข้อมูล ฉ้อฉล การแจ้งข้อมูลไม่ครบ กระบวนการแก้ปัญหา​ ฯลฯ รวมถึงการออกเกณฑ์ที่กำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีมาตรฐานแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยมากขึ้น

ที่มา DigitalID, EDTA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา