วัคซีนในเอเชียช้า ทำมูลค่ากิจการ Zara แซง Uniqlo กลายเป็นฟาสต์แฟชั่นเบอร์ 1

zara uniqlo

วัคซีนเป็นเหตุ Uniqlo ยอดขายตก ล่าสุด Zara ขึ้นแซง

จากการฟาดฟันของสองแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น ที่ก่อนหน้านี้ Uniqlo กำลังนำมาแต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้วัคซีนในเอเชียยังมีน้อย ในขณะที่ฝั่งตะวันตกเริ่มคลายล็อคดาวน์ไปบ้างแล้ว ทำให้ Uniqlo หล่นลงมาเป็นรอง Zara 

มูลค่ากิจการตามราคาหุ้นของ Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo อยู่ที่ 7.94 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท ยังตามหลัง Inditex บริษัทแม่ของ Zara ที่มีมูลค่า 1.21 แสนล้านดอลลาร์

สถานการณ์เปลี่ยนหลังมีวัคซีนโควิด

ช่วงแรกของการระบาด Fast Retailing ได้ประโยชน์จากการที่เอเชียที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดีกว่า ทำให้ Uniqlo มาแรงจนขึ้นนำ Zara กลายเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอันดับ 1

แต่หลังจากมีการผลิตและแจกจ่ายวัคซีน ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะพลิกกลับ ทำให้ Zara ขึ้นแซงอีกครั้ง ทวงคืนบัลลังก์เจ้าแห่งวงการฟาสต์แฟชั่น เนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนในประเทศตะวันตกทำได้รวดเร็วกว่าฝั่งเอเชีย

จากข้อมูลการวิเคราะห์ของ Nikkei และ Financial Times

  • สหราชอาณาจักร มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 103 โดส ต่อ ประชากร 100 คน
  • สหรัฐอเมริกา 91 โดส ต่อ 100 คน
  • เยอรมนี 66 โดส ต่อ 100 คน

ในขณะที่อัตราการได้รับวัคซีนของประเทศในเอเชียยังตามหลัง

  • เกาหลีใต้ 20 โดส ต่อ 100 คน
  • ญี่ปุ่น 14 โดส ต่อ 100 คน
  • มาเลเซีย 11 โดส ต่อ 100 คน
หน้าร้าน Uniqlo ในสหรัฐอเมริกา // ภาพจาก Flickr ของ GoToVan

Uniqlo เจอศึกหนัก

ปัจจุบันสถานการณ์โควิดในเอเชียยังน่าเป็นห่วง ทำให้กิจการ Uniqlo ในมาเลเซียปิดตัวลงกว่า 49 สาขา ส่วนในเวียดนามต้องพักกิจการไว้ชั่วคราวก่อน 5 สาขา จากทั้งหมด 8 สาขาทั่วประเทศ

นอกจากนี้ Fast Retailing ต้องรับมือกับยอดขายที่ต่ำลงในญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่ายอดขายลดลง 0.6% จากปีที่แล้ว และเมื่อเทียบกับยอดขายของปี 2019 ช่วงก่อนการระบาดของโควิดพบว่าลดลงถึง 18.6%

ผลจากมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ

ในตอนแรก Zara ต้องปิดสาขาไปกว่า 88% ทั่วโลก แต่ต่อมาอัตราส่วนของการปิดกิจการลดลงเหลือเพียง 16%

Inditex ได้รายงานกำไรสุทธิในไตรมาสแรกสิ้นเดือนเมษายนว่ามีมูลค่า 421 ล้านยูโร หรือประมาณเกือบ 1.6 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีมูลค่าการสูญเสียกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท 

อีกทั้งยอดขายออนไลน์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนเพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะโควิดทำให้การซื้อของออนไลน์กลับมาคึกคัก

อย่างไรก็ตามทั้งสองแบรนด์ก็ยังเชื่อมั่นในตลาดเอเชียว่ายังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตในระยะกลาง-ยาว ทำให้ทั้ง Fast Retailing และ Inditex เร่งขยายสาขาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นโดยเฉพาะในจีน

ที่มา: Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา