ผลการศึกษาชี้ ความยากไร้ของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ทำให้สูญเสียเพื่อน: ไม่มีเงิน ก็สูญสิ้นความเป็นเพื่อน

งานศึกษาพบว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ก้าวไม่พ้นเรื่องเงิน ถ้าคิดจะผูกมิตรกัน

เอาจริงๆ แล้ว ถ้าไม่นึกถึงงานศึกษา นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นไหนๆ ก็เป็นเหมือนกัน ไม่มีเงิน ก็ไม่มีเพื่อน เป็นกรณีศึกษาที่พบเห็นได้ทั่วไป

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เหมือนเวลาเราเห็นคนถูกหวยรางวัลที่ 1 ได้เงินจำนวนมหาศาล แล้วอยู่ๆ ก็มีทั้งผองเพื่อนและญาติโผล่ปรากฎตัวให้เห็นว่าเราคือเพื่อนกันเต็มไปหมด แบบที่ว่า คนถูกรางวัลยังนึกไม่ออกด้วยซ้ำ ว่าเป็นเพื่อนหรือญาติกันตอนไหน เป็นต้น

Friends, Shopping

ย้อนกลับมาที่งานศึกษาจากเว็บไซต์ Creditkarma เผยแพร่รายงานชิ้นนี้ ระบุไว้ ดังนี้

  • กลุ่มคนหนุ่มสาวมักจะยุติความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนเมื่อพวกเขาต้องควักเงินจ่ายมากเกินไป
  • ยิ่งไปกว่านั้น ราว 1 ใน 3 ของคนกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ราว 36% ระบุว่า การมีเพื่อนที่ชอบใช้เงิน ก็ทำให้พวกเขาต้องใช้จ่ายเงินมากเกินไป ทำให้เกิดหนี้ จนในที่สุดพวกเขาก็ต้องเลิกเป็นเพื่อนกัน เพื่อป้องกันเงินในกระเป๋าตัวเองไม่ให้รั่วไหลต่อไปอีก
  • คนหนุ่มสาวยังให้คุณค่ากับการทำความรู้จักกับผู้คนหรือการเป็นเพื่อนกับใครสักคนเพราะว่าพวกเขามีรายได้พอๆ กัน

ผลการสำรวจจากผู้ให้ข้อมูลที่เป็นกลุ่ม Gen Y ที่มีเพื่อนที่ชอบใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำให้พวกเขาต้องใช้จ่ายเงินมากกว่าที่เขาหามาได้ถึง 88% พวกเขาต้องเป็นหนี้เพราะใช้เวลาอยู่กับเพื่อนที่ชอบใช้เงินฟุ่มเฟือย ขณะที่กลุ่ม Gen Z ก็เจอสถานการณ์แบบเดียวกันคือ คนกลุ่มนี้ราว 80% ก็ต้องจ่ายเงินเกินตัว

มีคนกลุ่ม Gen Y ราว 15% ยอมรับว่า พวกเขาเคยเป็นหนี้ถึง 500 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 17,000 กว่าบาท เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาใช้เวลาอยู่กับเพื่อนที่ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ขณะที่คนกลุ่ม Gen Z ก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันราว 2%

ขณะที่คนกลุ่ม Gen Y ที่ใช้จ่ายเงินเกินตัว จะมีเพื่อนหลายประเภท ดังนี้ เพื่อนที่ชอบเที่ยวกลางคืนหรือชอบแฮงก์เอาท์ พบว่าราว 43% ต้องใช้จ่ายเงินเกินตัวเมื่อต้องออกไปทานอาหารนอกบ้าน ราว 37% หมดเงินไปกับการดื่มและออกเที่ยวยามค่ำคืน ขณะที่ถ้ามีเพื่อนชอบไปเที่ยว ออกทริปในวันหยุดพักร้อนก็ราว 22% หรือพวกที่ชอบจัดงานฉลองวันเกิดก็ราว 21%

ขณะที่คนกลุ่ม Gen Z ก็ทำนองเดียวกัน คนกลุ่มนี้ต้องใช้เงินเกินตัวเมื่อออกไปทานอาหารข้างนอกราว 37% เมื่อต้องออกไปชอปปิงซื้อเสื้อผ้าราว 36% พวกที่ชอบดื่ม ชอบใช้เวลาท่องเที่ยวยามค่ำคืนราว 32% พวกที่ชอบออกทริป ท่องเที่ยวในวันหยุดพักผ่อน หรือหยุดพักร้อนราว 24% นอกจากนี้ก็ยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองที่เป็นการใช้เงินแบบเกินตัว เช่น การนวด การทำเล็บ ราว 20%

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ทั้งกลุ่มคนเจน Y หรือเจน Z ต้องยอมใช้จ่ายเงินเกินตัวทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเงินมากพอ ก็เพราะว่าคน Gen Z ราว 31% และคน Gen Y ราว 32% ยอมทำเช่นนั้นก็เพราะว่าพวกเขาไม่อยากถูกทอดทิ้ง

ขณะที่คน Gen Z ราว 29% และคน Gen Y ราว 28% บอกว่าสาเหตุที่ทำเช่นนั้นเพราะพวกเขาต้องการที่จะมีไลฟ์สไตล์แบบนี้ต่อไป ขณะที่คนกลุ่ม Gen Z ราว 29% และ คน Gen Y ราว 28% ทำเช่นนี้เพราะต้องการให้เพื่อนของพวกเขาพอใจ ขณะที่ราว 28% ของกลุ่มคน Gen Y ยอมรับว่า พวกเขาไม่รู้จะปฏิเสธเพื่อนเหล่านี้อย่างไร

คนรุ่นใหม่ชาวอเมริกันหลายคนต้องยุติความสัมพันธ์กับเพื่อนเพราะมีพฤติกรรมในการใช้จ่ายเงินไม่เหมือนกัน สำหรับคน Gen Z คิดเป็น 47% และคน Gen Y เป็น 36%

ผลสำรวจนี้จัดทำขึ้นโดยบริษัท Qualtrics ในนามของ Intuit Credit Karma ช่วงระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายน 2023 สำรวจจากคนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,005 คน

ที่มา – Creditkama

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา