กี่คนแล้วที่เสียเพื่อนเพราะหนี้? เรียนรู้วิธีทวงเงินคนใกล้ตัว ไม่เสียเพื่อนแถมได้คืน

ปัญหาใหญ่ของมนุษย์ออฟฟิศเมื่อใกล้กลางเดือนเข้าไปทุกที เงินทองที่มีก็เริ่มร่อยหรอ ทางแก้ง่ายๆ คงต้องหาคนยืมเงิน แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นไม่ได้อยู่ที่คนยืมเงิน แต่เป็นฝ่ายถูกยืม เพราะถ้าเจอคนดียืมแล้วเขาก็รีบคืน แต่ถ้าเจอคนไม่ดีโอกาสได้คืนคงจะน้อย

ภาพจาก pixabay.com

ทวงเงินยังไง ไม่ให้เสียเพื่อน

ถ้าหลวมตัวให้เพื่อนยืมเงินไปแล้ว คำว่าเพื่อนยังค้ำคอ แต่ก็ยังอยากได้เงินคืนอยู่ ลองใช้วิธีเหล่านี้เป็นตัวช่วยในการทวงเงินจากเพื่อน ดังนี้

ลองทวงดีๆ บางครั้งอาจแค่ลืม อันดับแรกอย่าเพิ่งมองคนที่ยืมเงินในแง่ลบไปเสียหมด เพราะเขาอาจแค่ลืมก็ได้ บางทีคนที่ขอยืมเงินไม่ได้คืนภายในวันหรือสองวัน เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน หรือ 2 เดือน เพื่อนอาจลืมไปแล้วก็ได้ว่าเคยยืมเงินคุณไป ถ้ายังอยากได้เงินคืนลองเริ่มต้นจากการพูดคุยธรรมดาๆ ก่อน โดยใช้น้ำเสียงแบบปกติที่เคยคุยกันทุกวัน ทำให้เหมือนเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมีจังหวะค่อยปิดท้ายบทสนทนาว่า “ลืมอะไรไปหรือเปล่า อย่าลืมคืนเงินที่ยืมเราไปนะ” การพูดแบบนี้จะเป็นการรักษาน้ำใจ และทำให้เพื่อนที่ยืมเงินเราไปไม่รู้สึกอายที่โดนทวงเงิน

พยายามให้เพื่อนสัญญา ต่อเนื่องจากข้อแรกหากเพื่อนไม่ได้ลืมแต่ก็ไม่ยอมคืนเงินคุณสักที ลองพูดให้เพื่อนรู้ตัว และถามว่าจะคืนเงินได้เมื่อไหร่ เช่น ถ้าเพื่อนบอกว่าจะคืนเงินให้ในอีกสองวัน เมื่อในอีกสองวันมาถึงคุณจะมีความชอบธรรม และสามารถพูดทวงเงินอีกครั้งได้ โดยที่คุณไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะเป็นสิ่งที่เพื่อนของคุณสัญญาด้วยตัวเอง

ทำให้การคืนเงินง่ายที่สุด หลายครั้งที่เราจ่ายเงินค่าอาหารให้เพื่อนไปก่อน โดยธรรมชาติแล้วเราทุกคนอยากคืนเงินให้กับคนที่เรายืมมาให้เร็วที่สุด แต่ถ้าเราอยากจ่ายเป็นเงินสดแต่เพื่อนไม่มีเงินทอน ลองเปลี่ยนไปใช้การโอนเงินแทนดีกว่า เพราะง่ายกว่า รวดเร็วกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอนให้ยุ่งยาก

อย่าปล่อยให้เพื่อนยืมเงินนานๆ จนพากันลืม การให้ยืมเงินถ้ายิ่งปล่อยให้เวลาผ่านไปจนต่างฝ่ายต่างลืม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนที่ให้ยืมก็จะไม่กล้าทวง เพราะกลัวว่าจะทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ดี เหมือนโดนหักหน้า กลัวว่าความสัมพันธ์จะมีปัญหา ทางแก้ง่ายๆ คือ รีบๆ ทวงเงินตั้งแต่แรก อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปนาน

ถ้าไม่หวังได้เงินคืน ลองเปลี่ยนให้เพื่อนเลี้ยงข้าวแทนก็ได้ ภาพจาก pixabay.com

เปลี่ยนจากการคืนเงิน เป็นการเลี้ยงข้าวแทน ถ้าคุณไม่ได้หวังให้เพื่อนของคุณคืนเงินที่ยืมเป็นตัวเงิน ลองเปลี่ยนเป็นการให้เพื่อนเลี้ยงข้าวคุณแทน ซึ่งค่าข้าวที่คุณจะให้เพื่อนจ่ายควรมีราคาใกล้เคียงกับเงินที่เพื่อนคุณยืมไป ซึ่งการให้เลี้ยงข้าวแทนการจ่ายเงินคืน จะเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ดีที่ถูกทวงเงิน

ทำทุกอย่างให้เป็นหลักฐาน การพูดปากเปล่าไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้ ควรหาทางทำให้การยืมเงินมีหลักฐานอย่างชัดเจน เช่น หากเพื่อนขอยืมเงิน ให้พิมพ์ข้อความส่งไปหาเพื่อนว่าจะยืมเงินเท่าไหร่ กำหนดคืนเงินวันไหน เพราะเราไม่รู้เลยว่าเพื่อนจะไว้ใจได้จริงหรือไม่ การมีหลักฐานการยืมเงินไว้อย่างน้อยก็สร้างความสบายให้เราได้

ให้ผ่อนคืนเป็นงวด ดีกว่ารอเงินก้อน ถ้าเงินที่เพื่อนยืมเป็นเงินจำนวนมาก และเพื่อนของคุณไม่สามารถคืนเงินได้ทั้งหมดในครั้งเดียว เพราะมีปัญหาเรื่องการเงิน ลองให้เพื่อนของคุณแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ละไม่มาก จะดีกว่าการรอเงินก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียว ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้คืน

บอกเพื่อนไปว่าคุณต้องการเงินด่วน ไม่ใช่แค่เพื่อนของคุณคนเดียวเท่านั้นที่มีภาระต้องกินต้องใช้คุณก็เช่นกัน ลองบอกเพื่อนว่าเดือนนี้คุณมีภาระที่ต้องใช้เงินเยอะ ซึ่งคุณจำเป็นต้องได้เงินคืนจากเพื่อน เพื่อนำเงินจำนวนนั้นไปใช้ เพื่อนของคุณอาจเห็นใจ และรีบคืนเงินให้คุณเร็วที่สุดก็ได้

ภาพจาก pixabay.com

ให้คนใกล้ตัวช่วยเตือน บางครั้งคุณอาจไม่อยากทวงเงินด้วยตัวเอง คุณอาจให้เพื่อนอีกคนที่รู้จักกับเพื่อนที่ยืมเงินคุณก็ได้ โดยอาจบอกเป็นการอ้อมๆ ให้เพื่อนอีกคนเข้าไปถามว่าช่วงนี้มีปัญหาทางการเงินหรือเปล่า มีอะไรให้ช่วยเหลือไหม หรือหากเป็นเพื่อนที่สนิทมากๆ อาจถามตรงๆ ได้เลยว่าลืมคืนเงินหรือเปล่า

ไม่ให้ใครยืมเงิน ไม่ปวดหัว ทางเลือกสุดท้าย ถ้าคุณเจอเพื่อนที่ไม่ยอมคืนเงินคุณบ่อยๆ หรือต้องทวงหลายครั้งจึงจะยอมคืนเงิน ทางแก้ที่ดีที่สุดคือต้องไม่ให้ยืมตั้งแต่แรก หนี้เก่าที่ยืมไปแล้วถ้าไม่มากอาจเลือกที่จะไม่สนใจ ปล่อยเลยตามเลยได้ แต่ถ้ามากคงต้องทบทวนความสัมพันธ์กันใหม่ ไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้ซ้ำรอยอีก

ที่มา – vice, moneyunder30, chime, fin24, wisebread

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา