ศึกมวยปล้ำ WWE เตรียมรุก Digital Platform หลังสัญญากับโทรทัศน์ท้องถิ่นจบใน 5 ปีข้างหน้า

อุตสาหกรรมสื่อกีฬาในสหรัฐอเมริกานั้นเปลี่ยนแปลงเร็วจริงๆ หลังความนิยมในกีฬาดั้งเดิมต่างๆ เช่น NBA, NFL, MLB ไม่เว้นแต่ศึกมวยปล้ำ WWE นั้นลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้จัดเหล่านี้ต้องหาอะไรมาช่วยเพิ่มคนดูให้มากขึ้น

Jinder Mahal หนึ่งในนักมวยปล้ำของ WWE

WWE กับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ไป Digital เต็มตัว

ปกติแล้วการรับชมศึกมวยปล้ำ WWE ในประเทศไทยก็ต้องดูผ่านโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือ Pay TV ต่างๆ เช่นเดียวกันกับในสหรัฐอเมริกาที่รายการกีฬานี้ต้องรับชมผ่าน Cable TV ที่ได้รับลิขสิทธิ์ ซึ่งล่าสุดทาง WWE ได้ต่อสัญญาการแพร่ภาพศึกหลักอย่าง Raw และ Smackdown Live กับ Cable TV ที่ได้รับอนุญาตไปอีก 5 ปี

โดยทางกลุ่ม USA Network จะได้สิทธิ์แพร่ภาพศึก Raw และกลุ่ม Fox ได้สิทธิ์แพร่ภาพศึก Smackdown Live แต่ด้วยทิศทางของการรับชมโทรทัศน์แบบดั้งเดิมนั้นตกลงทั่วโลก ประกอบกับอายุเฉลี่ยของผู้ชมศึกมวยปล้ำนั้นเพิ่มจาก 28 ปีในปี 2543 เป็น 54 ปีในปี 2559 ทำให้ WWE ต้องคิดใหม่ทำใหม่เพื่อรักษายอดผู้ชมไว้เหมือนเดิม

ศึกมวยปล้ำ WWE

“เรามีความสนใจที่จะแพร่ภาพบน Digital Paltform ต่างๆ เช่น Amazon และ Facebook เพราะสื่อดั้งเดิมนั้นมีปัญหาเข้าถึงผู้ชมที่หลากหลายในอนาคต แม้ปัจจุบันมันยังทำได้ดีประมาณหนึ่งอยู่ ทำให้เราต้องขยับตัวเพื่อเพิ่มฐานผู้ชม และยอดโฆษณาให้เติบโต” Stephanie McMahon ผู้อำนวยการแบรนด์ของ WWE กล่าว

Raw กับประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1,300 ตอน

สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญของวงการมวยปล้ำสหรัฐฯ เพราะ WWE นั้นแพร่ภาพศึก Raw มาตั้งแต่ปี 2536 และมีกว่า 1,300 ตอนที่ออกอากาศ แถมยังเป็นหนึ่งในรายการที่แพร่ภาพในช่วงเวลา Prime-Time ของสหรัฐฯ ที่แพร่ภาพนานที่สุดอีกด้วย ซึ่งการเซ็นสัญญาแพร่ภาพแต่ละครั้งก็มีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

Raw ศึกมวยปล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ WWE

ในทางกลับกัน WWE ก็มีการทำตลาด Digital Platform ด้วยตนเองอยู่แล้ว ผ่านบริการ WWE Network ที่มี Live Streaming การแข่งขันรายการต่างๆ และมีการแข่งขันย้อนหลังที่หาชมจากที่ไหนไม่ได้ คิดราคา 9.99 ดอลลาร์/เดือน (ราว 330 บาท) ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2.1 ล้าน Subscriber แล้ว

“การสร้าง WWE Network ขึ้นมาทำให้เราได้รู้จัก Superfan ของเรามากขึ้น และรู้ว่าพวกเขาอยากได้อะไร แต่เพื่อจูงใจให้กลุ่มวัยรุ่นกลับมารับชมรายการ WWE มากขึ้น บริษัทก็มีแผนทำ Online Maketing ด้วย Instagram และ YouTube ที่ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามถึง 25 ล้านคน เพื่อสื่อสารกับพวกเขาอีกทาง”

WWE Network ระบบ Live Streaming ของ WWE

วงการกีฬาสหรัฐอเมริกากับการดิ้นรนเพื่อ Rating

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมกีฬาในสหรัฐฯ นั้นต่างดิ้นรนเข้าถึงกลุ่มผู้ชมวัยรุ่น เพื่อดึง Rating ให้กลับมา และสามารถขายโฆษณาได้ดีเหมือนเดิม ซึ่ง Digital Platform ก็คือหนึ่งในนั้น เช่นศึกอเมริกันฟุตบอล NFL ที่เพิ่งต่อสัญญากับ Amazon เพื่อแพร่ภาพรายการ Thursday Night Football ให้กับผู้ที่สมาชิก Amazon Prime

เนื่องจากยอดเฉลี่ยผู้ชมการแข่งขัน NFL นั้นเพิ่มขึ้นจาก 44 ปีในปี 2543 เป็น 50 ปีเมื่อปี 2559 ถือว่าเร็วมาก และแสดงให้เห็นว่ากีฬาประเภทนี้ไม่เป็นที่นิยมกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความบันเทิงอื่นๆ ให้เลือกมากมาย ซึ่งการแข่งขันกีฬา E-Sport ก็เป็นหนึ่งในรายการที่มาแย่งผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นของเหล่าอเมริกันเกมส์ไป

ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด NFL นั้นเป็นอีกหนึ่งลิขสิทธิ์ที่เหล่าบริษัทโทรคมนาคมในสหรัฐนั้นอยากได้มาก รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีด้วย

แต่เพื่อเข้าถึงผู้ชมคนรุ่นใหม่ และตอบรับกับกระแสการใช้งาน Digital ของผู้บริโภค ก็มีหลายอเมริกันเกมส์ตัดสินใจพัฒนา Live Streaming Platform ของตัวเองออกมา เพื่อให้ Superfan ที่อยากรับชมจริงๆ ไปสมัครสมาชิก เช่น NBA League Pass และ NFL Game Pass ซึ่งราคาก็หลายพันบาท/ฤดูกาล

สรุป

เชื่อว่าทุกอเมริกันเกมส์จะหันมาพัฒนา Live Streaming Platform ของตัวเองแน่นอน เพราะมันช่วยเพิ่มยอดผู้ชม และรับรู้ความต้องการของผู้ชมได้อัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตามการขายโฆษณาก็ยังเป็นรายได้หลักของการแข่งขันกีฬาต่างๆ ดังนั้นการพยายามหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อดึงผู้ชมวัยรุ่นให้กลับมารับชมอีกครั้ง ซึ่ง Digital Platform ก็น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

ส่วนรายได้ของ WWE เมื่อปี 2560 นั้นอยู่ที่ 801 ล้านดอลลาร์ (ราว 27,000 ล้านบาท) เติบโตราว 10% จากปี 2559 มูลค่าธุรกิจในขณะนั้นอยู่ที่ 2,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 80,000 ล้านบาท)

อ้างอิง // Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา