[วิเคราะห์] ฟุตบอลโลก 2018 คาดคนไทย 10 ล้านคนเฝ้าติดตาม อานิสงส์สู่ตลาดสินค้า 6,685 ล้านบาท

ฟุตบอลโลก 2018 กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย. – 15 ก.ค. นี้แล้ว มีการถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูทั้ง 64 นัด และเป็นจังหวะให้ภาคธุรกิจทั้งที่เกี่ยวโดยตรงและโดยอ้อมกับกีฬาฟุตบอล ใช้เป็นโอกาสในการทำตลาด สร้างการรับรู้ กระตุ้นยอดขาย

ภาพจาก Shutterstock.com

ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์โดยตรง เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเดลิเวอรีอุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น และธุรกิจที่ไม่ได้ประโยชน์โดยตรงแต่อาศัยจังหวะในการโปรโมท จัดกิจกรรม เช่นการจัดให้มีการทายผลฟุตบอลโลก เพื่อชิงรางวัล และแจกของสมนาคุณ เป็นต้น

ภาพจาก Shutterstock.com

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมการรับชมและการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นช่วงฟุตบอลโลก ได้ข้อสรุปดังนี้

บรรยากาศการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกปนี้น่าจะคึกคักกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะถ่ายทอดผ่านฟรีทีวีดิจิทัล คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าและกว้างขวางกว่า ช่วงเวลาเอื้อต่อคนไทย เริ่มคู่แรก 19.00น. ไปจนถึงคู่สุดท้าย 01.00น. และมีทีมขวัญใจคนไทยเข้ารอบสุดท้าย เช่น อังกฤษ, เยอรมัน, บราซิล และอาร์เจนตินา

จากผลสำรวจประเมินว่า จะมีคนไทยรับชมการถ่ายทอดสดประมาณ 10.96 ล้านคน รับชมทุกคู่ 64 นัด ประมาณ 38.9% และดูบางคู่ 61.1%

จากการสำรวจของ FIFA นับผู้ที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ (ติดต่อกัน 20 นาทีขึ้นไป) พบว่า การแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล นัดที่คนไทยดูถ่ายทอดสดมากที่สุด มีผู้ชมประมาณ 3.8 ล้านคน ขณะที่ฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ คู่ที่คนไทยรับชมถ่ายทอดสดมากที่สุดประมาณ 7.9 ล้านคน เท่ากับว่า ครั้งที่ผ่านมา คนดูน้อยลง เพราะข้อจำกัดทั้งการเข้าถึงและเวลาในการแข่งขัน และในฟุตบอลโลก 2018 ทั้งการเข้าถึงและเวลาในการแข่งขัน น่าจะทำให้คนไทยดูถ่ายทอดสดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก เป็นช่วงที่มีการจัดกิจกรรมใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีแผนที่จะใช้จ่าย (เช่น การซื้ออาหารและเครื่องดื่ม การไปรับชมการแข่งขันในสถานที่ที่มีการเปิดให้รับชมการแข่งขัน การซื้อเสื้อทีมฟุตบอล และไปรษณียบัตรชิงโชค เป็นต้น) คิดเป็นสัดส่วน 96% ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีแผนที่จะใช้จ่ายคิดเป็นสัดส่วน 4%

คาดกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะมียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 5,265 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มน่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เริ่มมีคมเปญการตลาดส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรร้านค้าต่างๆ ผ่านการโฆษณา ที่มีเรื่องราว (Theme) เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอล เพื่อกระตุ้นยอดขายในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากคาดการณ์ที่ผู้ชมมากกว่าปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยเพิ่มยอดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเป็นมูลค่าประมาณ 5,265 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มอาหาร เช่น ร้านอาหารที่มีบริการการจัดส่งอาหาร ทั้งที่เป็นเชนร้านอาหาร และร้านค้าทั่วไป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาหารอื่นๆ และการประกอบอาหารทานเอง

ขณะที่การแข่งขันเริ่มตั้งแต่ 19.00น. ทำให้มีกลุ่มที่นิยมไปเชียร์นอกที่พักอาศัย เกิดเม็ดเงินกระจายไปสู่ร้านอาหาร สถานบันเทิง และลานกิจกรรม คาดว่าจะมีเม็ดเงินกระจายมายังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารประมาณ 3,015 ล้านบาท

กลุ่มเครื่องดื่ม (กลุ่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และกลุ่มที่มีแอลกอฮอล์) เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีแผนจะใช้จ่ายมากที่สุด คาดว่า ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกคาดว่ามูลค่าการตลาดเครื่องดื่มน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2,250 ล้านบาท จากช่วงเวลาปกติ

เสื้อฟุตบอลทีมโปรด อุปกรณ์กีฬาที่เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอลและสินค้าที่ระลึก…คาดยอดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 910 ล้านบาท เรียกว่าฟุตบอลฟีเวอร์ มีการซื้อเสื้อและรองเท้า รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ของที่ระลึก

การส่งชิงโชคทายผลฟุตบอลโลกช่องทางดั้งเดิมยังได้รับความนิยม แต่รูปแบบการทายผลในยุคดิจิทัลมาแรงขึ้น…คาดการใช้จ่ายเพื่อลุ้นโชคทายผลฟุตบอลโลกในปีนี้น่าจะมีมูลค่าประมาณ 510 ล้านบาท ผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมทายผลฟุตบอลโลกมีสัดส่วน 91.5% โดยมี กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นผู้จัดกิจกรรมส่งชิงโชคหลักต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจจัดกิจกรรมกันอย่างคึกคัก 

ภาพจาก Shutterstock.com

สรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินไปยังธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น เป็นมูลค่าประมาณ 6,685 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% จากช่วงปกติของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค ทิศทางการใช้จ่ายยังขึ้นกับความเข้มข้นของการแข่งขันในรอบถัดๆ ไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา