ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2023 นี้ พร้อมปรับคาดการณ์การเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก (GDP) ลงมาอยู่ที่ 1.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2022 ว่าจะอยู่ที่ 3.0% ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 1993 ตามหลังแค่ปี 2009 และ 2022
ธนาคารโลกคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ 0.5% จากอัตราการเติบโตของปี 2022 ที่อยู่ที่ 2.5% ส่วนยุโรป คาดการณ์ว่าจะไม่มีการเติบโตของ GDP เลย ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหม่ในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี หลังจากเกิดครั้งล่าสุดนี้
ทางฝั่งจีน ธนาคารโลกคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตไว้ที่ 4.3% ขณะที่ภาพรวมตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging markets and developing economies: EMDEs) คาดว่าการเติบโตจะลดลงมาอยู่ที่ 2.7% จากในปี 2022 ที่เติบโตอยู่ที่ 3.8%
สาเหตุของการปรับคาดการณ์ GDP ลงมาจากอัตราดอกเบี้ยของธนาคารโลกที่ยังสูงอยู่และภาวะสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยังดำเนินต่อเนื่อง ธนาคารโลกระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจมาจากเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาเงินเฟ้อ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดจากเหตุการณ์ทางการเมือง
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้ต่างประเทศ ค่าเงินอ่อนตัว และมีการเติบโตของรายได้น้อย นำไปสู่การลงทุนทางธุรกิจน้อยลงโดยคาดการณ์ไว้ที่ 3.5% ต่อปีในช่วงปี 2022-2024 ซึ่งนับว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนน้อยลงก็จะกระทบกับภาคส่วนอื่นที่เปราะบางอยู่แล้วต่อไปอีก
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังระบุว่าแม้ว่าภาวะเงินเฟ้อในปี 2022 เริ่มจะลดลงเพราะราคาพลังงานและสินค้าลดลง แต่ความเสี่ยงที่ซัพพลายเชนจะหยุดชะงักลงอยู่ในระดับสูงและอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นอีกซึ่งจะทำให้ธนาคารโลกต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่คาดการณ์ไว้และจะยิ่งทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปอีก
David Malpass ประธานธนาคารโลกยังแสดงความกังวลถึงปัญหาหนี้ต่างประเทศและปัญหาความยากจนด้วย โดยกล่าวว่าหนี้ของประเทศในกลุ่ม EMDEs สูงสุดในรอบ 50 ปี และสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียก็เพิ่มปริมาณหนี้เข้าไปอีก การได้รับความช่วยเหลือทางการเงินก็เป็นไปได้ยากเพราะทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาทั้งทางด้านสุขาถาพ การศึกษา และการขาดแคลนอาหารจากผลกระทบของโควิด-19
คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2023
ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว ธนาคารโลกคาดว่าปี 2023 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวราว 3.4% ใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์เอาไว้ที่ 3.7% จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่บรรเทาลง ทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวอีกครั้งและการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเป็นหลักจะเป็นการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศทั้งการบริโภค การลงทุนและการท่องเที่ยวที่จะมาแทนที่รายได้จากการส่งออกที่งชะลอตัว ส่วนภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปรับราคาค่าไฟฟ้า รวมถึงหากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังพุ่งสูงขึ้นก็อาจจะกระทบกับราคาสินค้าและบริการจนกระทบต่อผู้บริโภคได้และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ SMEs ยังอยู่ในภาวะเปราะบางเพราะยังไม่สามารถฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้อ่อนไหวกับค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น ส่วนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังไม่เต็มที่เพราะนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนซึ่งสร้างรายได้จำนวนมากมีแนวโน้มว่ายังไม่เดินทางเข้าประเทศไทยในระดับเดียวกับก่อนที่จะเกิดไวรัสโควิด-19
ที่มา – Nikkei Asia, The Guardian, ธนาคารแห่งประเทศไทย, World Bank
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา