ได้ดีเพราะสงคราม: รัสเซียเศรษฐกิจดีจัด ดีจน World Bank ต้องยกระดับเป็นประเทศรายได้สูง

สงครามขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัสเซีย รุ่งเรืองสุดๆ จน World Bank ต้องยกระดับให้กลายเป็นประเทศรายได้สูง

หลังรัสเซียบุกยูเครน ทำสงครามยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้นสักที จนในที่สุดรัสเซียภายใต้การนำของ Vladimir Putin ก็สามารถกอบโกยความรุ่งเรืองบนความขัดแย้งที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตทั้งประชาชนและทหารจากทั้งสองฝั่ง และยังส่งผลสะเทือนไปทั้งโลก 

Vladimir Putin

ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ World Bank ต้องยกระดับให้รัสเซียกลายเป็นประเทศรายได้สูงไปแล้วเรียบร้อย แม้รัสเซียจะถูกคว่ำบาตรยาวนานสองปีนับตั้งแต่บุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022

มีธุรกิจจำนวนมากที่หันหลังให้และพร้อมคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ก็มีธุรกิจอีกมากเช่นกันที่ยังทำธุรกิจกับรัสเซียอยู่ จนในที่สุดรัสเซียก็ออกกฎโต้กลับบริษัทและธนาคารต่างๆ ที่คิดจะออกจากรัสเซียจะต้องโดนยึดทรัพย์เหมือนที่พวกเขาทำกับเศรษฐีชาวรัสเซีย

ล่าสุด World Bank ยกระดับรัสเซียจากประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (upper-middle-income country) ให้กลายเป็นประเทศรายได้สูงเรียบร้อย (high-income country)

การขยับรายได้ประเทศได้เร็วขนาดนี้ของรัสเซีย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากการทำสงคราม ซึ่ง World Bank ก็รายงานเช่นนั้นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในรัสเซียได้รับอิทธิพลจากกิจกรรมทางทหารในปี 2023 ซึ่งปีที่ผ่านมา รายได้รวมประชาชาติต่อหัวของรัสเซียอยู่ที่ 14,250 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 518,557 บาทต่อคน

รายงานจาก World Bank ยืนยันว่าการอัพเกรดให้รัสเซียเป็นประเทศรายได้สูง เป็นการเติบโตที่มาจากการทำสงคราม และทำให้เกิดอุปทานสินค้าและบริการด้านการทหาร

รัสเซียเคยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศรายได้สูงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2015 การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ต่อหัวอยู่ที่ 3.6% ส่วน GNI (รายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว) อยู่ที่ 11.2% ในปี 2023

แม้รัสเซียจะได้รับแรงกดดันจากภายนอกอยู่บ้าง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตมาจากการค้า +6.8% ภาคการเงิน +8.7% และภาคก่อสร้าง +6.6%

จากการเปรียบเทียบระหว่างประเทศพบว่า รัสเซียกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 (เทียบจาก GDP PPP: Purchasing Power Parity ความเสมอภาคของอำนาจซื้อ) ในปี 2021

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ช่วยให้เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตและส่งผลให้ชาวรัสเซียที่ยากจนมีสถานะการเงินดีขึ้นไปด้วย

Vladimir Putin

ทำไม World Bank ต้องจัดอันดับรายได้ของแต่ละประเทศ?

World Bank กำหนดเศรษฐกิจของโลกแบ่งเป็น 4 กลุ่มรายได้ คือประเทศรายได้ต่ำ ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน และประเทศรายได้สูง เป็นการประเมินรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI) ของปีก่อนหน้า โดยใช้วิธี Atlas method

เป้าหมายในการจัดระดับของรายได้รายประเทศนี้ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงระดับพัฒนาการของประเทศต่างๆ ซึ่งการแบ่งประเภทรายได้ดังกล่าวก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980

ปี 1987 มีประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในประเทศรายได้ต่ำ 30% ส่วนประเทศที่มีรายได้สูงอยู่ที่ 25% จากนั้นในปี 2023 สัดส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำลดอัตราลงอยู่ที่ 12% ขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 40%

ถ้าแบ่งโลกออกเป็น 4 ภูมิภาค ระดับรายได้เป็นยังไง?

ประเทศในเอเชียใต้ ก่อนหน้านี้ ในปี 1987 กลุ่มนี้ถูกจัดให้อยู่ในระดับประเทศรายได้น้อย 100% แต่ในปี 2023 ลดเหลือ 13%

ประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สัดส่วนของประเทศรายได้ต่ำอยู่ที่ 10% ในปี 2023 ถือว่าสูงกว่าช่วงปี 1987 เพราะไม่มีประเทศใดถูกจัดอยู่ในระดับนี้

ประเทศในแถบละตินอเมริกาและแคริบเบียน มีประเทศรายได้สูงเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 1987 เพิ่มเป็น 44% ในปี 2023

ประเทศในแถบยุโรปและเอเชียกลาง สัดส่วนประเทศรายได้สูงลดลงเล็กน้อย จากปี 2023 อยู่ที่ 69% ถ้าเทียบกับปี 1987 มีสัดส่วนสูงกว่า อยู่ที่ 71%

อย่างไรก็ตาม World Bank ได้เปลี่ยนแปลงการจำแนกประเภทรายได้ โดยเหตุผลสองข้อ หนึ่ง เปลี่ยนแปลง Atlas GNI โดยในแต่ละประเทศจะมีปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราการเติบโตของประชาชกรที่สามารถส่งผลต่อ Atlas GNI ต่อหัว 

สอง เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจำแนกประเภท เพื่อให้การจำแนกดังกล่าวเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง จึงมีการปรับอัตราเงินเฟ้อ โดยใช้สิทธิพิเศษในการถอนเงิน (SDR) เป็นค่าเฉลี่ยของการกำหนด GDP

Vladimir Putin, Russia
ประเทศที่เปลี่ยนจากรายได้ปานกลางระดับบนเป็นประเทศรายได้สูง

ไม่ใช่แค่รัสเซีย ที่มีความเปลี่ยนแปลงแต่รวมแล้วทั้งหมด 3 ประเทศ

หลังสงคราม ปีนี้ มี 3 ประเทศที่เปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางระดับบนเป็นประเทศรายได้สูง ดังนี้ ประเทศบัลแกเรีย เพราะมีรายได้สูงต่อเนื่องและมี GDP โตที่ 1.8% มีแรงหนุนจากการบริโภคเป็นสำคัญ

ประเทศปาเลา มีการฟื้นตัวต่อเนื่องหลังโควิดระบาด GDP ของประเทศกลับไปสู่ระดับก่อนหน้า เติบโตเพิ่มขึ้น 0.4% เงินเฟ้ออยู่ที่ 8.1% และ GNI เพิ่มขึ้นเป็น 10.0% ตามด้วยรัสเซียด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้า

ประเทศที่รายได้ปานกลางระดับต่ำ กลายเป็นรายได้ปานกลางระดับสูง

  • อัลจีเรีย เศรษฐกิจเติบโตอยู่ที่ 4.1% ในปี 2023
  • อิหร่าน เศรษฐกิจเติบโตอยู่ที่ 5.0%
  • มองโกเลีย เศรษฐกิจเติบโตอยู่ที่ 7.0%
  • ยูเครน เศรษฐกิจเติบโตอยู่ที่ 5.3%

ส่วน เวสต์แบงก์และกาซาเป็นประเทศเดียวที่ถูกลดระดับลง หลังมีความขัดแย้งในตะวันออกลางตั้งแต่ตุลาคม 2023 แม้จะจำกัดอยู่เพียงไตรมาส 4 แต่ก็มากมายพอจะทำให้ GDP ลดลง 9.2% (-5.5% ตามความเป็นจริง) กลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ

อ้างอิง Business Insider, World Bank Group (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา