ยิ่งรบนาน ทหารยิ่งแย่: ยูเครนเริ่มบำบัดทหารนักรบด้วยเคตามีน ยาหลอนประสาทแล้ว

สงครามยิ่งนาน ยิ่งสร้างผลกระทบ ทหารยูเครนเริ่มเข้ารับการบำบัดทางจิตด้วยยาหลอนประสาทบ้างแล้ว

เรื่องเล่าจากยูเครน Ihor Kholodilo (อิโฮ โคโลดิโล) นักจิตวิทยาการทหารและแพทย์คนนี้เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดแล้ว หลังจากร่วมกันอพยพกับเพื่อนในช่วงต้นปี 2023 รถจิ๊ปของเขาถูกชนโดยรถถังของรัสเซีย เขาแทบจะสื่อสารไม่ได้เลย หลังจากที่ผ่าตัดแม้จะทำให้เขารอดมาได้ แต่แพทย์กล่าวว่าไม่สามารถแก้ไขในส่วนที่ทำให้เขากลายเป็นคนพูดติดอ่าง พูดตะกุกตะกักและพูดไม่ชัดได้ เขาพยายามหาทางรักษาทุกรูปแบบที่สุดขั้ว แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้

Ukraine

จากนั้น Kholodilo ก็ได้พบกับ Vladislav Matrenitsky ผู้บุกเบิกการบำบัดทางจิตด้วยวิธีจิตบำบัด ผู้ที่ตั้งคำถามที่เขาไม่คาดคิดขึ้นมาก็คือ เขาจะลองใช้เคตามีนไหม? (Ketamine เคตามีนหรือยาเค)

หลังจากนั้น Kholodilo ก็ไม่ได้คาดหวังว่าผลลัพธ์จะเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก แต่ปรากฎว่าอาการพูดติดอ่างของเขาหายไป เขากำลังเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อาการฝันร้ายและอาการกลัวที่เคยมีก็เริ่มหายไปแล้ว เขาบอกว่า การบำบัดด้วยเคตามีนนั้นไม่ง่าย แต่มันช่วยทำให้เขาแก้ไขอาการบอบช้ำที่เป็นสาเหตุของอาการเขา ทำให้เขาก็ได้กลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง

เคตามีนหรือยาเค คือสารเสพติดในไทย แต่สำหรับยูเครน ถูกนำมาใช้เพื่อบำบัดอาการป่วยทางสุขภาพจิตตั้งแต่ปี 2017 การบำบัดรักษาโดยการใช้ยาที่ทำให้เกิดประสาทหลอนมีประวัติมาเนิ่นนานแล้ว และมีการสำรวจในอเมริกามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950-60 หลังจากที่มีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มฮิปปี้ซึ่งก็มีการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนเทียบเท่ากับยาเสพติดอย่างเฮโรอีน จนล่าสุดเมื่อเกิดสงครามในยูเครน Dr. Matrenitsky ผู้บริหารคลินิกแห่งเดียวในประเทศก็เสนอให้ใช้การบำบัดด้วยเคตามีน เขาดูแลผู้ป่วยมาเกือบ 300 รายที่ประสบปัญหากับภาวะซึมเศร้า อาการ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเป็นความเครียดหลังจากประสบเหตุร้ายแรงในชีวิต หรือความกังวลใจต่างๆ ที่มีมากขึ้นในหมู่ทหาร

คลิกนิกของ Dr. Matrenitsky ใช้เวลาในการบำบัดราว 40 นาที เป็นคลินิกที่อยู่ชั้นบนสุดของโรงพยาบาลเด็ก ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ Kyiv ค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณ 105 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3,700 กว่าบาท แต่สำหรับทหารจะได้รับการรักษาฟรี ซึ่งคอร์สสำหรับการรักษาอยู่ที่ 2-6 ครั้ง ใช้เคตามีนในปริมาณ 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

Dr. Matrenitsky ระบุว่า เป้าหมายในการบำบัดคือการรักษาระดับจิตใต้สำนึก เขาบอกว่า สิ่งที่เราทำคือการเปลี่ยนแปลงความทรงจำ เขาได้พูดถึงหนึ่งในสามของผู้ป่วยที่เขาเคยรักษาได้รับเคตามีนและรู้สึกพอใจกับผลลัพธ์มาก ส่วนปฏิกิริยาที่ไม่ดีก็คืออาการตื่นตระหนกซึ่งมักจะเกิดขึ้นยาก และสัญญาณเหล่านี้คือสัญญาณที่สะท้อนว่าต้องหยุดให้ยา

เขาบอกว่าทหารส่วนใหญ่ที่อยู่แนวหน้าก็ได้รับประโยชน์จากการรักษาของแพทย์ แต่โซเวียตทำให้ทหารเข้าถึงยาช้าลงและเขาเองก็กำลังพยายามล็อบบี้ให้ทหารเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น เป้าหมายอีกเรื่องหนึ่งคือการพยายามขยายการรักษาให้สามารถเข้าถึงสารต้องห้ามอื่นๆ เช่น MDMA (Methylene-Dioxy-Methamphetamine: ยาอี) และ Psilocybin (ซิโลซายบิน) เป็นสารสกัดจากเห็ดขี้ควาย ช่วยต้านอาการซึมเศร้า

ด้าน Kseniya Vozsnityna ผู้อำนวยการจาก Forest Glade ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางทหารของรัฐ คิดว่า โครงการที่จะเริ่มใช้ยา MDMA และ Psilocybin น่าจะนำมาใช้ได้ภายใน 6 เดือน เธอเองก็คิดว่าการใช้ยาหลอนประสาทดังกล่าวกับทหาร ควรใช้เท่าที่จำเป็น นี่เป็นการบำบัดรักษาในสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก

ขณะที่ Kholodilo ไม่เห็นด้วย เขาเห็นควรว่าจะต้องใช้ยาหลอนประสาทเพื่อพัฒนาศักยภาพในการรบ เขาเห็นประโยชน์สองเรื่องจากการใช้ยาหลอนประสาท ประการแรก เขาเรียกมันว่า “Decompression” มันคือการป้องกันภาวะซึมเศร้าไม่ให้พัฒนามากขึ้นในหมู่ของนักรบด่านหน้า ประการที่สอง เขาเรียกมันว่าเป็นพิธีกรรมเพื่อเตรียมทหารให้พร้อมรับมือกับความตาย ทหารจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะถึงแก่ชีวิตได้ เขามองว่า ทหารที่ยอมรับว่าจะมีความเสี่ยงที่อาจจะเสียชีวิตได้จะเป็นนักรบที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและขณะเดียวกันก็อาจมีโอกาสที่จะรอดชีวิตได้มากกว่าเหมือนกัน

การใช้ยาหลอนประสาทเพื่อช่วยทหารในการต่อสู้ในสนามรบค่อนข้างเป็นประเด็นให้คนถกเถียงเรื่องศีลธรรมอย่างหนัก แต่กองทัพยูเครนก็ยังห่างไกลกับการบำบัดด้วยเคตามีนทั้งหมด กองทัพยูเครนบางหน่วยเพิ่งเริ่มทำการทดลองใช้อยู่บ้าง ทั้งนี้ Kholodilo ระบุว่า หน่วยรบพิเศษได้รับการรักษาแล้ว เหล่าทหารยังรู้สึกประหลาดใจมากที่สามารถกลับเข้าสู่แนวหน้าได้ค่อนข้างเร็วและไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้เลย

ที่มา – The Economist

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา