ชีวิตหลังโควิด: การอยู่ในที่สาธารณะคือความเสี่ยง กล้องวงจรปิดอาจไม่ได้ใช้จับโจรอีกต่อไป

ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีความรุนแรง และยังไม่มีท่าทีว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อใด แต่จากประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาดทุกครั้งที่ผ่านมา สถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น และกลับเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด

การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เป็นความเสี่ยงหนึ่งของโรคโควิด-19 ภาพจาก pixabay.com

ความน่ากังวลคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายกว่าเดิม ทั้งโรคที่มีอยู่แล้ว กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง รวมถึงโรคชนิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความหวาดกลัว และบังคับให้คนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อเอาตัวรอด แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแล้ว แต่เราคงไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในทันที ไม่เช่นนั้นสถานการณ์อาจกลับมามีความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งก็ได้ โดยเฉพาะการเดินทาง ทั้งในระบบขนส่งมวลชน การนั่งรถยนต์ และการเดินทางโดยเครื่องบิน ที่กลายเป็นความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพราะเป็นสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก

ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะพฤติกรรมการเดินทาง เราพยายามหลีกเลี่ยงการพบปะคนจำนวนมาก การต่อคิวยาวๆ รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งของที่เราไม่แน่ใจเรื่องความสะอาด เป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนอัตโนมัติ ระบบทุกอย่างทำงานด้วยแนวคิดไร้สัมผัส (Contactless) เริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างประตู จะไม่มีการเปิดปิดด้วยการผลัก หรือดึงอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นประตูอัตโนมัติทั้งหมด

ตู้ Kiosk จะกลายเป็นจุดบริการแทนที่คน ภาพจาก pixabay.com

การให้บริการบางอย่างจะถูกเปลี่ยนไปใช้งานระบบอัตโนมัติแทน โดยเฉพาะตู้ Kiosk เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะคน ลดเวลาการต่อคิว ซึ่งอาจกลายเป็นความเสี่ยงที่จะมีการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ได้ในช่วงเวลานี้การใช้นิ้วกดปุ่มควบคุมตู้ Kiosk อาจเปลี่ยนไปเป็นการใช้สายตา หรือท่าทางมือเพื่อควบคุม เหมือนที่ประเทศจีนมีการออกแบบปุ่มกดลิฟท์แบบใหม่ ที่มีปุ่มแบบเสมือนจริงลอยขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องใช้นิ้วกดลงไปที่ปุ่มจริงๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อโรค ช่วยลดการแพร่ระบาดได้

เมื่อสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนซึ่งมีการสะสมของเชื้อโรคจำนวนมาก เปลี่ยนไปใช้แนวคิดการออกแบบไร้สัมผัส (Contactless) มากขึ้นจะทำให้คนไม่จำเป็นต้องกังวลกับความสกปรกที่เราอาจเผลอไปจับโดยไม่ได้ตั้งใจได้

กล้องวงจรปิดอาจไม่ได้ใช้เพื่อจับขโมย

ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานที่สาธารณะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด และเซ็นเซอร์หลายชนิด เพื่อรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กล้องวงจรปิด และเซ็นเซอร์ที่ติดไว้ จะกลายเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความหนาแน่นของคนในสถานที่สาธารณะนอกเหนือไปจากการรักษาความปลอดภัย

กล้องวงจรปิดในสถานที่สาธารณะจะไม่ได้ใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่จะใช้เพื่อตรวจสอบความหนาแน่นของคนในพื้นที่ ภาพจาก pixabay.com

อาจมีการติดกล้องวงจรปิดในรถโดยสารสาธารณะ แล้วเปิดให้ชมภาพแบบสดๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน เพื่อให้คนตัดสินใจว่าจะเลือกขึ้นรถยนต์คันไหนที่มีผู้โดยสารน้อยกว่าได้ การติดตั้งกล้องตรวจจับอุณหภูมิอาจกลายเป็นเรื่องปกติของสนามบิน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคครั้งใหญ่ๆ อีกต่อไป

กล้องวงจรปิดในขบวนรถไฟจะช่วยตัดสินใจได้ว่าจะเลือกขึ้นรถขบวนไหนที่มีคนน้อยที่สุด ภาพจาก pixabay.com

การซื้อตั๋วรถไฟทางไกลที่วิ่งระหว่างเมืองอาจมีการใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ในขบวนรถไฟ เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนตัดสินใจว่าจะขึ้นรถไฟขบวนไหน ที่มีคนจำนวนน้อยที่สุด

ส่วนในมุมมองของผู้ให้บริการอาจมีการติดตั้งกล้องตรวจจับความร้อนภายในสถานที่สาธารณะ ทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานีรถไฟ และสนามบิน เพื่อคัดกรองผู้เข้ามาใช้บริการก่อน คนที่มีไข้อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาใช้บริการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค แม้ว่าในช่วงนั้นอาจไม่ได้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดเลยก็ตาม

ความน่ากังวลของโลกยุคหลังโควิด-19

ใช่ว่าการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาให้บริการแทนคนจะมีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะอย่าลืมว่าคอมพิวเตอร์ทำงานตามคำสั่งที่บันทึกไว้อย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่มีความเป็นธรรมชาติ ขาดความยืดหยุ่น และการตัดสินใจอย่างที่คนทำได้ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาของผู้ใช้บริการบางประเภท

ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากโดนจับตามองอยู่ตลอดเวลาผ่านกล้องวงจรปิด ไม่มีใครอยากโดนวัดอุณหภูมิร่างกายอยู่ตลอดเวลา การใช้กล้องตรวจจับคนที่อยู่ในสถานที่สาธารณะอาจนำไปสู่ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงขึ้น เพราะอาจมีบางคนเลือกที่จะไม่ขึ้นรถคันเดียวกับคนที่มีผิวสีต่างจากตัวเอง

การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตในเวลาอันรวดเร็วทำให้เกิดความกลัว ซึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่ง ภาพจาก Pixabay

นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ไม่สามารถเดินทางไปที่ต่างๆ ได้ตามปกติ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงอยู่ในระยะเวลานานอาจกระทบกับจิตใจของคนได้ อาจทำให้เกิดโรคความกลัวชนิดต่างๆ เช่น โรคกลัวการอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก (Enochlophobia) โรคกลัวการออกจากบ้าน และการอยู่ในที่โล่ง (Agoraphobia)

ที่มา – Fast Company

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา