จาก Work From Home สู่ Work From Bed ทำงานบนเตียงอาจดีต่อใจ แต่ร่างกายไม่ไหวกับสิ่งนี้

Work From Bed

ทีม #WorkFromBed ฟังทางนี้

นโยบาย Work From Home คือหนึ่งในการปรับตัวสำคัญของออฟฟิศทั่วโลกที่ผลักให้คนต้องย้ายที่ทำงานจากออฟฟิศมาอยู่ที่บ้าน และสำหรับหลายๆ คน ก็ยังย้ายจากการทำงานบนโต๊ะมาสู่การทำงานบนเตียงอีกด้วย

หากคุณเป็นทีม #WorkFromBed ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแน่นอน เพราะนี่คือเรื่องแห่งยุคสมัยที่ใครๆ ก็เป็นกัน

ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด จากการสำรวจในสหรัฐฯ พบว่าเกือบ 50% ของคนที่ทำงานที่บ้านเคยทำงานบนเตียง แถมสัดส่วนนี้ยังเพิ่มเป็น 72% เมื่อทำการสำรวจอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 

เตียงมีมนต์สะกดต้องใจคนทำงานวัยหนุ่มสาว (อายุระหว่าง 18-34) มากกว่ากลุ่มคนในอายุอื่นๆ ผลสำรวจพบว่า จำนวนชั่วโมงการทำงานบนเตียงของคนหนุ่มสาวคิดเป็น 2 เท่า ของคนอีกกลุ่ม ด้วยเหตุผลที่ว่าคนหนุ่มสาวขาดงบประมาณในการสร้างมุมทำงานที่เหมาะสม และอีกเหตุผลหนึ่งง่ายๆ เลยก็คือ “ความสบาย”

แต่ปัญหาอยู่ตรงนี้ เมื่อ Work From Bed แม้จะสะดวกสบาย แต่กลับทิ้งผลกระทบร้ายแรงไว้ให้กับสุขภาพของเราทั้งในเชิงสรีรศาสตร์และเชิงจิตวิทยา และแม้จะไม่รู้สึกเจ็บป่วยในวันนี้แต่ Work From Bed อาจสร้างผลกระทบสะสมที่อาจจะแสดงอาการอีกทีเมื่อมีอายุมากขึ้นและอาจกลายเป็นผลกระทบเรื้อรัง

Work From Bed สะดวกดี แต่ไม่ถูกหลัก

work from home work from bed
photo from Pexels

Susan Hallbeck ผู้อำนวยการวิศวกรรมระบบดูแลสุขภาพจาก Mayo Clenic หนึ่งในศูนย์วิจัยด้านการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ บอกว่า “การทำงานบนเตียงทำให้ร่างกายไม่ได้ถูกรองรับอย่างเหมาะสม”

การทำงานบนเตียงไม่ดีต่อร่างกายและไม่เอื้อต่อการทำงาน เพราะการนั่งหรือนอนบนเตียงแบบผิดลักษณะบนพื้นผิวที่อ่อนนุ่มมากไป ทำให้กล้ามเนื้อคอ หลัง สะโพก และส่วนอื่น เกร็งตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ร่างกายไหลยวบไปตามเตียง

ในระยะยาว ทำให้เกิดการเจ็บสะสมจนมีอาการต่างๆ เช่น

  • ปวดหัว
  • ปวดคอและปวดหลังเรื้อรัง
  • ข้ออักเสบ
  • ปวดเชิงกราน 

คนทำงานวัยหนุ่มสาวตกเป็นเหยื่อของภัยเงียบอย่างการทำงานบนเตียงมากที่สุด เพราะคนหนุ่มสาวยังมีร่างกายที่แข็งแรงดีและไม่ค่อยรู้สึกปวดเมื่อยเนื้อตัวทันทีที่ทำงานบนเตียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบไม่เกิดขึ้น เพราะความเจ็บปวดเหล่านี้จะถูกสะสมไปเรื่อยๆ และแสดงอาการออกมาอย่างเด่นชัดเมื่อพวกเขาแก่ตัวลง

neck back pain
photo from Pexels

สำหรับวิธีการแก้ไข Susan Hallbeck ให้คำแนะนำว่าเมื่อไหร่ที่สามารถเลิกทำงานบนเตียงได้ก็ควรจะเลิกทันที แต่หากไม่สามารถทำได้จริงๆ (อาจเป็นเพราะเรื่องทุนทรัพย์หรือเหตุผลอื่นๆ) ก็ควรทำตามคำแนะนำดังนี้

  • นั่งหลังตรง อยู่ในอิริยาบทที่เป็นธรรมชาติ ไม่เกร็งส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย 
  • รองเอวด้วยหมอน เพื่อซัพพอร์ตกระดูกสันหลังส่วนเอว
  • ตั้งหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตา เพื่อหลีกเลี่ยงการนั่งหลังค่อม
  • ไม่วางคอมพิวเตอร์บนหน้าท้อง เพราะทำให้ต้องเกร็งศอกและคอ

แต่หากแน่ใจว่าต้องทำงานที่บ้านต่อในระยะยาว คำแนะนำก็คือควรลงทุนสร้างมุมทำงานที่เหมาะสม แม้ว่าจะเล็กแค่ไหนก็ตาม ก็ยังดีกว่าการทำงานบนเตียงที่ในระยะยาวอาจไม่คุ้มกับความเจ็บป่วยทางกายที่กู้คืนกลับมาได้ยาก

ไม่เพียงแค่นั้น การทำงานบนเตียงไม่ได้กระทบแค่เรื่องสรีรศาสตร์ แต่กระทบในเชิงจิตวิทยาด้วย

Work From Bed ทำให้สมองลืมว่าต้องนอนแม้อยู่บนเตียง

insomnia sleep
photo from Pexels

Rachel Salas รองศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ กล่าวว่า “ยิ่งเราดูโทรทัศน์ เล่นเกม หรือทำอะไรก็ตามที่ไม่ใช่การนอน จะยิ่งเป็นการวางเงื่อนไขทางจิตวิทยาให้ร่างการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ว่าหากอยู่บนเตียงก็สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้” ซึ่งจะค่อยๆ ไปบดบังเงื่อนไขเดิมที่ว่าหากอยู่บนเตียงก็ต้องนอน 

พูดง่ายๆ ยิ่งทำงานบนเตียง ร่างกายยิ่งเชื่อมโยงการอยู่บนเตียงกับการทำงาน และยิ่งลืมว่าต้องนอน

นานวันเข้า การทำงานบนเตียงอาจนำไปสู่โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ไปจนถึงอาการผิดปกติของนาฬิกาชีวภาพ (Circardian Rhythm Disorders) ที่คอยควบคุมจังหวะการหลับและตื่นของเรา และยิ่งนอนหลับไม่เป็นเวลาก็ยิ่งทำให้อ่อนล้า หมดสมาธิ ขาดความสร้างสรรค์ และไร้พลังในการทำงาน ยิ่งทำงานเท่าไหร่ก็ยิ่งทรมาน

วิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้คนต้องกลับมาทำงานที่บ้าน (และหลายคนทำงานบนเตียง) ก็ยิ่งทำให้อาการนอนไม่หลับกลายเป็นปัญหาภาพใหญ่ เกิดภาวะ “Coronosomnia” ที่ยอดผู้มีอาการนอนไม่หลับพุ่งสูงขึ้นในระดับโลก

สรุป 

เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าโควิด-19 นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมแล้ว ยังสร้างแนวโน้มร่วมกันในระดับโลกที่ทำให้คนทำงานทางไกลต้องเผชิญปัญหาสุขภาพทั้งในด้านสรีรศาสตร์และจิตวิทยา

Work From Home จึงกลายเป็นอีกเรื่องที่ต้องขบคิดกันต่อไปในโลกของการทำงาน และที่สำคัญบริษัทและองค์กรต่างๆ ต้องตระหนักถึงปัญหาและสร้างนโยบายการทำงานทางไกลที่เหมาะสม เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

ที่มา – BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน