รู้จักกับ วงษ์พาณิชย์ กระบี่ ผู้จัดการขยะพลาสติกจากทะเล ธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อมแบบจริงจัง

ขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก เป็นขยะที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ด้วยกระบวนการรีไซเคิล แม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นหากเทียบกับการผลิตพลาสติกใหม่ แต่ประโยชน์ที่ได้มีมากกว่า ทั้งเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติก ลดการผลิตใหม่ ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นตอนนี้ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล เพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำกันอย่างเข้มขั้น

เศกสันต์ อุดมศรี กรรมการผู้จัดการ ของ วงษ์พาณิชย์ กระบี่ บอกว่า สิ่งที่ยากกว่าและต้นทุนสูงกว่าการรีไซเคิลปกติ ก็คือ การรีไซเคิลขยะพลาสติกจากทะเลและพื้นที่ชายฝั่ง เพราะยากต่อการเก็บ ยากต่อการคัดแยก และขนส่งมาโรงงานเพื่อเข้าสู่กระบวนการ ทั้งหมดคือต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เป็นสิ่งที่บอกเลยว่า ทุกคนต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และครั้งนี้ วงษ์พาณิชย์ กระบี่ ได้มาร่วมงาน GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S ที่จัดโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืน (Sustainability) และการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง

การมาร่วมงาน GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S ตอกย้ำให้เห็นถึงแนวทางและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่มาจากทะเล เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 5 ประเทศที่ปล่อยให้ขยะพลาสติกลงสู่ทะเล โดยมีปริมาณมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี ดังนั้น การจัดการเรื่องนี้จึงเร่งด่วนและจำเป็น

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น เศกสันต์ บอกว่า เดิมเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ต่างประเทศ แต่อยากกลับมาทำงาน ทำประโยชน์ให้กับบ้านเกิดคือ จ.กระบี่ ช่วงแรกที่กลับมาจึงนำความรู้ไปเผยแพร่ที่ วงษ์พาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดเก็บขยะพลาสติกมารีไซเคิลอยู่แล้ว เป็นการลดปริมาณขยะในบ่อฝังกลบ นำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าทำมาโดยตลอด

แต่ที่ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดติดทะเล มีทะเลที่สวยงามและมีการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญ มีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป เพราะขยะพลาสติกมีโอกาสไหลลงสู่ทะเล ซึ่งหลายคนจะรู้ว่าพลาสติกในทะเลเป็นปัญหาที่ใหญ่และแก้ไขได้ไม่ง่าย

ดังนั้นจึงเกิดเป็น วงษ์พาณิชย์ กระบี่ บริษัทที่ต้องการทำธุรกิจที่อยู่รอดได้และสร้างผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันดับแรกต้องรู้ก่อนว่า การที่ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด ไม่ใช่ว่าเราเอาขยะพลาสติกไปทิ้ง แต่เพราะกระบวนการจัดเก็บไม่มีแรงจูงใจมากพอ ทำให้เมื่อเกิดขยะ 1 ชิ้น เช่น ขวดน้ำดื่ม เมื่อทิ้งแล้วขวดนี้ไม่กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

“น้ำดื่ม 1 ขวดที่ กทม.​กับบนเกาะกลางทะเล ราคาต่างกัน เพราะบนเกาะมีการบวกค่าขนส่งไป ผู้บริโภคก็ต้องจ่ายเงินซื้อ เมื่อกลายเป็นขยะพลาสติก และจะกลับมาเข้ากระบวนการรีไซเคิล ก็มีค่าขนส่งตรงนี้เช่นเดียวกัน และยังมีต้นทุนอื่นๆ อีกมาก”

สิ่งที่ วงษ์พาณิชย์ กระบี่ ทำจึงเรียกว่าการจัดเก็บขยะพลาสติก หรือ Ocean Bound Plastic (OBP) เพื่อไม่ให้ขยะพลาสติกลงสู่ทะเล ทั้งหมดมีการรับรองมาตรฐานสากล สามารถตรวจสอบได้ว่าขยะพลาสติกทั้งหมดมีการจัดเก็บมาจากทะเล เกาะ และพื้นที่ชายฝั่งจริง ซึ่งมีบริษัทต่างประเทศมาซื้อ Plastic Credit อธิบายง่ายๆ เหมือน Carbon Credit คือ บริษัทที่มีการใช้พลาสติกในกิจการ มาซื้อ Plastic Credit เพื่อลดปริมาณพลาสติกที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม เรียกว่า Plastic Footprint

อย่างไรก็ตาม การจะขาย Plastic Credit อย่างเดียวไม่เพียงพอ เพื่อให้ธุรกิจของ วงษ์พาณิชย์ กระบี่ สามารถอยู่ได้และยังทำสิ่งดีๆ ต่อสังคมและส่ิงแวดล้อมต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านกว่า 20,000 ครอบครัวจาก ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง จากเกาะต่างๆ มากกว่า 20 เกาะร่วมเก็บขยะพลาสติกอยู่ในโครงการ มีรายได้ที่มั่นคง วงษ์พาณิชย์ กระบี่ จึงขายพลาสติกเป็น Raw Material และสร้างแบรนด์ Ocyco ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขยะพลาสติกในทะเลขึ้น

เศกสันต์ บอกว่า ขยะพลาสติกในทะเลมีต้นทุนที่สูงกว่าขยะพลาสติกบนบกอยู่แล้ว จะขายเป็นวัตถุดิบอย่างเดียวก็เป็นเรื่องยาก ทางออกหนึ่งคือ การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Ocyco และจัดหาตลาดให้ได้ ซึ่งสินค้าทุกชิ้นสามารถตรวจดูได้หมดว่า มีวัตถุดิบเป็นพลาสติกที่เก็บมาจากที่ไหน เรียกว่า Product Passport ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นช่วยลดขยะพลาสติกทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทย

สำหรับ วงษ์พาณิชย์ กระบี่ ดำเนินธุรกิจมา 12 ปี ทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ให้บริษัทสามารถอยู่ได้และสร้างผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันยอมรับว่าบริษัทยังไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ยังต้องพึ่งพาเงินทุนช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่เชื่อว่าแนวโน้มกำลังดีขึ้น เพราะคนตระหนักเรื่องนี้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต

“ผู้ที่ทำด้านขยะพลาสติกรีไซเคิลมีไม่น้อย แต่ที่ทำเฉพาะทางด้านทะเลแบบ วงษ์พาณิชย์ กระบี่ ยังน้อยมาก การมาร่วมงาน GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยจุดประกาย สร้างการรับรู้ในวงกว้าง และเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น”

เศกสันต์ กล่าวปิดท้ายว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการอีกเรื่องคือ กฎหมาย ทั้งส่วนของกฎหมายรีไซเคิล ที่ต้องกำหนดเป็นข้อบังคับว่า พลาสติกต้องรีไซเคิลได้ 100% และกฎหมายอีกส่วนคือ ต้องมีข้อกำหนดให้บริษัทที่มีพลาสติกในกิจการต้องนำขยะพลาสติกกลับมาเข้าสู่กระบวนการด้วย และถ้ากำหนดว่าต้องเป็นขยะพลาสติกจากทะเลด้วยจะยิ่งดีมาก

เพราะต้องไม่ลืมว่า สุดท้ายทะเลบนโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นส่วนของประเทศไทย หรือประเทศไหนๆ ก็คือโลกของเราทุกคน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา