ไทยครองแชมป์เอเชีย ผู้หญิงนั่งในบอร์ดมากสุด เกาหลี-ญี่ปุ่นรั้งท้าย ส่วน Alibaba มีแค่คนเดียว

รู้หรือไม่ว่า “เอเชีย” เป็นภูมิภาคที่มีผู้หญิงนั่งในบอร์ดของบริษัทน้อยที่สุดในโลก แต่ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้หญิงนั่งในบอร์ดมากที่สุดในเอเชีย ในขณะที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ การตัดสินใจของหลายบริษัทเป็นของผู้ชายล้วนๆ

Photo: Pexels

ญี่ปุ่น-จีน-เกาหลีใต้ 3 ประเทศที่สัดส่วนผู้บริหารหญิงน้อย

บริษัทยักษ์ใหญ่ในเอเชียหลายแห่งมีผู้หญิงนั่งในคณะกรรมการบอร์ดในสัดส่วนที่ต่ำมาก บางบริษัทถึงขั้นกับไม่มีผู้หญิงนั่งอยู่ในบอร์ดเลย

เริ่มที่ประเทศญี่ปุ่น SoftBank Group และ Keyence Corp ไม่มีผู้หญิงนั่งในบอร์ดของบริษัทแม้แต่คนเดียว ต่อด้วยในจีน บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง Tencent และ Baidu ก็เช่นเดียวกัน คือไม่มีผู้หญิงนั่งในบอร์ดของบริษัทแม้แต่คนเดียว ส่วนในเกาหลีใต้บริษัทอย่าง Samsung บอร์ดของบริษัททุกคนล้วนเป็นผู้ชายทั้งหมด

ส่วน Alibaba ของแจ๊ค หม่า มีผู้หญิงอยู่ในบอร์ดของบริษัทจำนวน 1 คนถ้วน (ทั้งๆ ที่จริงแล้วผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba ในยุคแรก มีผู้หญิงในองค์กรถึง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด)

ไทยครองอันดับดีสุดในเอเชีย มีผู้บริหารหญิง 14% ในบอร์ด

ในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้หญิงนั่งในบอร์ดของบริษัทมากที่สุด ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14% ส่วนฟิลิปปินส์และมาเลเซียเท่ากันที่ 12% และประเทศรั้งท้ายในภูมิภาคคือ ญี่ปุ่นอยู่ที่ 4% และเกาหลีใต้ที่มีเพียง 2% เท่านั้น

แต่ถ้าไปเทียบกับสัดส่วนในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือออสเตรเลียจะเห็นความแตกต่าง เป็นต้นว่า ในยุโรปมีสัดส่วนผู้หญิงที่นั่งในบอร์ดของบริษัทเฉลี่ยอยู่ที่ 22.6% ในขณะที่เอเชียภูมิภาคที่มีผู้หญิงอยู่ในบอร์ดน้อยที่สุดในโลก มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.8% ส่วนทวีปที่แซงหน้าเอเชียไปคือ “ละตินอเมริกา”

Photo: Pexels

ทำไมต้องให้ “ผู้หญิง” มาอยู่ในคณะกรรมการบอร์ด?

สำหรับคำถามข้างต้น คำตอบแรกที่ง่ายที่สุดคือ หากเราเชื่อในความเท่าเทียมทางเพศ แล้วทำไมผู้หญิงถึงไม่ควรจะมานั่งในบอร์ดบริหารในสัดส่วนที่เท่าๆ กันกับผู้ชาย เพราะผลงานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมาในช่วงหลังได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าผู้หญิงไม่ได้มีศักยภาพที่น้อยหน้าไปกว่าผู้ชาย ดูตัวอย่างรูปธรรมได้จาก รายงานของ Fidelity Investments ที่ระบุว่าในปี 2016 ผู้หญิงลงทุนเก่งกว่าผู้ชาย หรือการล่มสลายของวงการไอทีอินเดียที่มาพบว่ามีผู้บริหารหญิงน้อยมาก

ส่วนอีกหนึ่งคำตอบที่มีเหตุผลและน้ำหนักมาจาก Anja Kirsch จาก Free University Berlin เธอเป็นนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องคณะกรรมการบอร์ดขององค์กร บอกว่า “สิ่งสำคัญของการมีผู้หญิงในบอร์ดของบริษัท เพราะว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการในบอร์ดส่งผลสำคัญต่อทั้งบริษัทและระบบเศรษฐกิจของเรา ดังนั้นจึงดูจะไม่เหมาะสมนัก หากเราจะตัดผู้หญิงออกไปจากกระบวนการเหล่านี้”

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา