ทำไมอนาคตของเศรษฐกิจจีน อาจอยู่ที่ “เซินเจิ้น” ไม่ใช่ “ฮ่องกง” | BI Opinion

Zhenshen Hongkong China Opinion

จีนต้องการแผนใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หนึ่งในความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ที่ทั้งน่าสนใจและต้องจับตามอง คือการที่คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปของจีน ซึ่งมีสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดนั่งเป็นประธาน ได้ประกาศให้ “เซินเจิ้น” มีสถานะพิเศษ (special status) ในการเป็นพื้นที่ทดลองของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการครั้งใหม่

คำถามคือ มันหมายความว่าอะไร?

เศรษฐกิจจีนในช่วงนี้มีสัญญาณชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นยอดการใช้จ่ายที่โตต่ำในรอบเกือบ 10 ปี หรือตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโตได้น้อยลงเรื่อยๆ หรือแม้แต่ตัวเลขในไตรมาส 1 ปีนี้ที่แม้จะออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะถ้าเจาะเข้าไปดูตัวเลขทางเศรษฐกิจในอีกหลายภาคส่วนของจีนถือว่ามีอาการค่อนข้างน่าเป็นห่วง และนี่ยังไม่รวมปัจจัยจากสงครามการค้าที่ไม่มีท่าทีว่าจะหยุดในเร็ววัน

ภาพแบบนี้ ก็ชัดเจนว่าเศรษฐกิจจีนนับจากนี้จะไม่สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้เหมือนในทศวรรษที่ผ่านมาแล้ว

ดังนั้น จีนจึงต้องมีแผนใหม่ในทางเศรษฐกิจ และวันนี้ความชัดเจนของแผนใหม่ก็เริ่มปล่อยออกมาให้เราได้เห็นกันเรื่อยๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการผลักดัน “เซินเจิ้น” ให้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจครั้งใหม่

แต่จะพูดแค่นี้ไม่ได้ เนื่องจากไม่ครบถ้วนกระบวนความ เพราะแผนการของจีนครั้งนี้ ยิ่งใหญ่กว่าแค่ “เซินเจิ้น”

แผนใหญ่ในการผลักดันเศรษฐกิจครั้งใหม่ของจีน คือการผลักดันสิ่งที่มีชื่อว่า “Greater Bay Area”

Greater Bay Area
Photo: Greater Bay Area

Greater Bay Area คืออะไร ยิ่งใหญ่แค่ไหน

Greater Bay Area คือเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกที่ประกอบไปด้วยฮ่องกง มาเก๊า และ 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ กวางโจว, เซินเจิ้น, จูไห่, ฝอซาน, ฮุ่ยโจว, ตงกวน, จงซาน, เจียงเหมิน และเจ้าชิ่ง

Greater Bay Area มีขนาดพื้นที่ประมาณ 5.5 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 69.5 ล้านคน (จำนวนประชากรพอๆ กับประเทศไทย!) และมีตัวเลขรวม GDP สูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์

ถ้าเทียบ Greater Bay Area กับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกที่ถือเป็นคู่แข่ง จะยิ่งเห็นความได้เปรียบที่ชัดเจนมาก

  • เขต New York City ที่เป็นศูนย์กลางทางเงินโลก มีขนาดพื้นที่ประมาณ 2.1 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 20 ล้านคน
  • San Francisco Bay Area ที่เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีโลกอย่าง Silicon Valley มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1.8 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 7.8 ล้านคน
  • Tokyo Bay Area ที่เป็นพื้นที่ที่แข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมการผลิตแห่งหนึ่งของโลก มีขนาดพื้นที่ประมาณ 1.36 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 44 ล้านคน

Greater Bay Area ชนะเรียบ!

แต่ Greater Bay Area ก็ไม่ได้มี “ดี” แค่จำนวนประชากรและขนาดพื้นที่เท่านั้น หากเปรียบเทียบความแข็งแกร่งในแง่เศรษฐกิจ การเงิน นวัตกรรม เทคโนโลยี ก็อยู่ในระดับที่สู้กับพื้นที่อื่นๆ ได้เหมือนกัน

รู้หรือไม่ว่า Greater Bay Area มีบริษัทที่ติดอันดับ 500 แรกของโลกกว่า 20 บริษัท นอกจากนั้นใน Greater Bay Area ยังมีหลากหลายภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าคู่แข่ง ยกตัวอย่างเช่น

  • การเงินระดับโลกอย่างฮ่องกงที่ถือเป็นคู่แข่งของนิวยอร์ก
  • บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่คู่แข่งซิลิคอนวัลเลย์อย่าง Tencent, Huawei หรือ DJI ต่างก็มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเซินเจิ้น
  • ในกวางโจวมีอุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย รวมถึงในจูไห่และฝอซานที่แทบจะเทียบชั้นกับโตเกียวได้แล้ว
  • นอกจากนั้นยังมีการท่องเที่ยวอันแข็งแกร่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างมาเก๊าอยู่ด้วย

Greater Bay Area มีครบจริงๆ

ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งเคยวิเคราะห์ไว้ว่า Greater Bay Area มีความได้เปรียบอย่างมากในเชิงภูมิศาสตร์ พร้อมทั้งเชื่อว่าหากจีนผลักดันให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะเกิดการผนึกกำลังในหลายอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมที่จะถูกท้าทายมากที่สุดคือภาคการเงินในสิงคโปร์ แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนที่ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าสิงคโปร์จะไม่ได้รับผลกระทบหรือความท้าทายจาก Greater Bay Area มากนัก เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

แต่อย่างไรก็ดี ในภาพใหญ่แล้ว Greater Bay Area มีความได้เปรียบสำหรับการต่อสู้ในโลกอนาคตทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะการแข่งกันด้วยความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ การผลิตอัจฉริยะ(ลดการใช้แรงงานมนุษย์) หรือเรื่อง Internet of Things (IoT) ซึ่ง Greater Bay Area มีหมด แต่ก็มีจุดด้อยใหญ่ที่ต้องรีบแก้ คือต้องลดการพึ่งพาเทคโนโลยีสำคัญๆ จากต่างชาติ แล้วหันมาพึ่งตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นี่คือภาพทั้งหมดในฉบับคร่าวๆ ของ Greater Bay Area ที่เราควรรู้

Shenzhen
Shenzhen Photo: Shutterstock

ทำไม “เซินเจิ้น” จะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจจีน ไม่ใช่ “ฮ่องกง”

เข้าสู่คำถามหลักที่วางไว้ ทำไมเซินเจิ้นจะเป็นอนาคตทางเศรษฐกิจของจีนมากกว่าฮ่องกง

ก่อนหน้านี้ ถ้าพูดถึง Greater Bay Area จะมีความคิดอย่างน้อย 2 ด้านสำหรับนักวิเคราะห์ คือมีทั้งที่เห็นด้วย และอีกฝั่งคือไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่ยังมองภาพของ Greater Bay Area ได้ไม่ชัดเจนนัก คำวิจารณ์ที่มีน้ำหนักคือ ไม่รู้ว่าจีนต้องการทำอะไรกันแน่

แต่แผนใหม่ของจีนผ่าน Greater Bay Area ก็เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่านี่คือแผนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหม่ พร้อมทั้งเชื่อมเศรษฐกิจและการเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ตามแผน “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งแน่นอนเวลาพูดแบบนี้ หลายคนจะมองว่าพระเอกของ Greater Bay Area น่าจะเป็น “ฮ่องกง” เพราะที่ผ่านมา ความได้เปรียบที่สุดของฮ่องกงคือ Rule of Law หรือระบบระเบียบการเมือง-กฎหมายที่ต่างชาติให้ความเชื่อถือ/เชื่อมั่นมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าเงินที่ไหลเข้าจีนเพื่อไปลงทุนก็ผ่านทางฮ่องกงอย่างมหาศาล

แต่ในช่วงหลายเดือนมานี้ เราก็ได้เห็นกันแล้วว่า ความกระด้างกระเดื่องของฮ่องกงผ่านการประท้วงส่งผลร้าวลึกต่อจีนแผ่นดินใหญ่เพียงใด และเมื่อบวกกับความเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ได้ตั้งให้เซินเจิ้นขึ้นเป็นพื้นที่ที่มีสถานะพิเศษในการปฏิรูปดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ชัดเจนว่า จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ ทิศทางลมจากรัฐบาลจีนจึงพัดไปที่ “เซินเจิ้น”

Zhang Yansheng หัวหน้าใหญ่ฝ่ายวิจัยจาก China Centre for International Economic Exchanges ระบุว่า รัฐบาลจีนต้องการให้เซินเจิ้นเป็นพื้นที่ทดลองในการสร้างเศรษฐกิจนวัตกรรมครั้งใหญ่และล้อไปกับแนวคิดแบบสังคมนิยม (socialism)

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนก็คือความพยายามในการสร้างเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) กับสังคมนิยมไปด้วยกันอยู่แล้ว ซึ่งเราก็เห็นว่ามันได้ผล

จึงค่อนข้างชัดเจนว่า หลังจากนี้ เซินเจิ้นจะกลายเป็น “หนูทดลอง” ตัวเก่าในเหล้าสูตรเดิม นั่นคือจีนจะใช้เซินเจิ้นเป็นพื้นที่ทดลองในการพัฒนาเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม และแน่นอนย่อมควบคู่ไปกับแนวคิดแบบสังคมนิยม เหมือนกับที่เซินเจิ้นเคยเป็นมาแล้วใน 40 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือเศรษฐกิจพัฒนาได้ดีและยังคงความเป็นสังคมนิยมแบบจีนได้ด้วย (socialism with Chinese characteristics)

ถ้าดูตัวเลข GDP ในปี 2018 ของเซินเจิ้นเทียบกับฮ่องกง จะเห็นได้ว่าเซินเจิ้นมาแรงจริง เพราะแซงหน้าฮ่องกงแล้ว

  • GDP เซินเจิ้นเติบโต 7.6% มีมูลค่า 3.66 แสนล้านดอลลาร์
  • GDP ฮ่องกงเติบโตเพียง 3% มีมูลค่า 3.63 แสนล้านดอลลาร์

ในเมื่อการเมืองฮ่องกงไม่ไปทางเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ ฉะนั้นการผลักดันเซินเจิ้นจึงไม่ได้มีเหตุผลแค่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มันคือเหตุผลทางการเมืองด้วย เพราะเศรษฐกิจกับการเมืองมันเป็นเรื่องเดียวกัน

นับจากนี้ต่อไป หากจีนทำสำเร็จในเซินเจิ้น เราคงได้เห็นเมืองอื่นๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่ทยอยลอกโมเดลความสำเร็จจากเซินเจิ้นกันชุดใหญ่

และด้วยวิสัยทัศน์ เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า บวกกับเงินทุนมหาศาลของจีน

ผมก็เกรงว่า “จีนอาจจะทำได้สำเร็จ”

และนี่อาจเป็นอีกครั้งที่จีนจะพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจก็เติบใหญ่ได้อย่างแข็งแกร่ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา