ทำไมเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นอีก แม้จะ ‘แจกเงินหมื่น’ แล้ว แถมส่งออก-ท่องเที่ยวก็โตดี

KKP Research ออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ระบุ เศรษฐกิจไทยยังคงโตต่ำ แม้แจกเงิน-ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้นตัว สิ่งที่หลายคนสงสัยคือ ทำไม? Brand Inside สรุปสั้นๆ มาให้แล้ว

โดยประเด็น ‘แจกเงินหมื่น‘ ให้กับกลุ่มเปราะบาง เป็นเงินมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทาง KKP บอกว่า หลังแจกเงิน การบริโภคในไตรมาส 4 ยังเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า

หรือแปลว่า “การแจกเงินแทบไม่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนไทยเลย”

สาเหตุสำคัญ คือ เงินที่แจกไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายใหม่ในระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ มักถูกนำไปซื้อของที่ต้องซื้ออยู่แล้ว อาทิ สาธารณูปโภค ของใช้จำเป็น รวมถึงราว 12% ถูกนำไปใช้หนี้ และบางส่วนถูกนำไปเก็บออม และคาดว่ามีเพียง 10% ถูกนำไปใช้จ่ายในการบริโภคใหม่

อีกประเด็น คือ บางส่วนอาจจะใช้จ่ายในเศรษฐกิจนอกระบบ (ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบราวๆ 45% ของ GDP ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก) อาทิ ร้านค้าในชุมชน และหาบเร่แผงลอย ทำให้การวัดผลของนโยบายต่อเศรษฐกิจทำได้ยาก

ส่วนเหตุผลที่ 3 ทาง KKP บอกว่า ปัจจัยเศรษฐกิจอื่นๆ ยังอยู่ในขาลง ไม่หนุนให้การบริโภคฟื้นตัว โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน

ดังนั้น ทาง KKP จึงชวนคิดต่อว่า “ผลลัพธ์จากมาตรการแจกเงินในช่วงปลายปีแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรการนี้อาจเป็นทางเลือกนโยบายที่ได้ผลทางเศรษฐกิจไม่คุ้มกับต้นทุนทางการคลังที่เกิดขึ้น”

“และเกิดคำถามว่างบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2025 ควรปรับรูปแบบให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจได้หรือไม่”

อีกด้านหนึ่งคือ ประเด็นการส่งออกที่ตอนแรก KKP Research และหลานๆ ส่วนประเมินว่า ปี 67 ส่งออกไทยจะต้องขาลงแน่ๆ แต่ไปๆ มาๆ ส่งออกไทยกลับโตมากถึง 5.4% ในปีที่ผ่านมา ปัญหาไม่ใช่อะไร แต่ถ้าส่งออกไทยดี ทำไม ‘ดัชนีภาคอุตสาหกรรม‘ กลับหดตัว หรือเรียกง่ายๆ ว่า ฝั่งคนที่ผลิตไม่ได้ดีตามการส่งออกไปด้วย

ขอบคุณภาพจาก CHUTTERSNAP / Unsplash

คำถามเลยตามมาว่า ทำไมส่งออกไทยโตดี แต่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยน้อยลง?

KKP Research อธิบายคำตอบเป็น 3 ข้อ ได้แก่

1) ส่งออกไทยบางส่วนเกิดจากการนำเข้าจาก ‘จีน‘ แล้วส่งไป ’สหรัฐฯ’ (Rerouting) ทำให้ไทยกลายเป็นแค่ทางผ่าน ไม่ได้เกิดการผลิตขึ้นในไทย

2) ไทยนำเข้าเพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจจะอ่อนแอ ต่อให้หักอันการนำเข้าที่ไทยเป็นแค่ทางผ่านไปแล้ว แต่นำเข้าก็ยังโตเยอะ เพราะไทยนำเข้าสินค้าจีนมาใช้แทน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (จากไต้หวัน) ย้ายฐานผลิตมาในไทย

3) สินค้าส่งออกไทยบางกลุ่ม สร้างมูลค่าเพิ่มได้ลดลง เช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่มีมูลค่าเพิ่มในประเทศน้อยกว่ารถสันดาป

จนถึงตอนนี้ KKP ประเมินว่า การส่งออกส่วนที่ไทยเป็นแค่ทางผ่านนั้น มีสัดส่วนประมาณ 22% ของระดับการเติบโตทั้งหมด ทำให้จากเดิมส่งออก 1% เคยส่งผลต่อเศรษฐกิจ 0.3ppt จะเหลือแค่ 0.1-0.2 ppt เท่านั้น

จะเห็นว่าจากกราฟ มูลค่าการส่งออกไทยเติบโตขึ้น แต่ภาคการผลิตไทยยังอ่อนแออยู่

ส่วนในประเด็นการท่องเที่ยวนั้น KKP Research อธิบายว่า ในปี 2567 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวไทย 35.5 ล้านคน เติบโตขึ้นประมาณ 26.3% แต่ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมก็ยังค่อนข้างน้อย

เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดมาก นอกจากนั้น รายได้จากการท่องเที่ยวไทยยังคงค่อนข้างกระจุกตัวในหลายมิติ เช่นส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก คือ กรุงเทพ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษธานี และกระบี่ แถมยังมักดีกับโรงแรมขนาดใหญ่มากกว่าขนาดเล็ก และที่สำคัญยังเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ค่อนข้างน้อย (ราว 10-15% เมื่อเทียบกับ 30% ในยุโรป)

อีกอย่าง คือ ปกติแล้วภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมได้มากๆ ตอนที่ภาคการผลิตเติบโตได้ดีด้วย แต่ตอนนี้ภาคการผลิตอยู่ในขาลง ผลของท่องเที่ยวที่มีต่อเศรษฐกิจภาพรวมเลยไม่มากนัก

ในตอนท้าย KKP Research บอกว่า ในปี 2568 ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยลบระยะยาวยังไม่หายไป หากปีนี้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆของไทยยังไม่ฟื้นตัวมาชดเชย มีโอกาสจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตต่ำกว่าที่คาดได้มาก จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 2.6% ชะลอตัวเล็กน้อยจากปีก่อน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา