ทำไม..กาแฟราคาแพงขึ้น? ก็เพราะผลผลิตจากทั้งโลกมันมาจาก 2 ประเทศหลักๆ เท่านั้น

ทำไม..กาแฟราคาแพงขึ้น? ก็เพราะผลผลิตจากทั้งโลกมันมาจาก 2 ประเทศหลักๆ เท่านั้น 

รายงานจาก BNN Bloomberg พูดถึงสาเหตุสำคัญที่กาแฟยุคนี้มีราคาแพงแสนแพง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า แม้จะมีการปลูกกาแฟราว 40 ประเทศทั่วโลก แต่กว่าครึ่งของผลผลิตโลกมาจากสองแหล่งสำคัญ ซึ่งก็คือบราซิลและเวียดนามนั่นเอง

coffee
Photo by Dani on Unsplash

โลกยุคนี้มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะวิกฤตโลกร้อน ทำให้มีผลผลิตน้อยลง ส่งผลต่อราคาผลิตภัณฑ์ได้ไม่ยาก ด้วยเหตุนี้ราคาสินค้าจึงแพงขึ้น

แน่นอนว่า การที่มีแหล่งผลิตน้อยก็ย่อมทำให้ผู้ลงทุนต้องหาเส้นทางใหม่ๆ ในการหาแหล่งผลิตเพิ่ม แหล่งผลิตใหม่ที่นักลงทุนมุ่งไปก็คือประเทศคิวบาและรวันดา ด้าน Andrea Illy ซีอีโอของ Illycaffe S.p.A. ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตลาดมันเริ่มจะเปลี่ยนแปลงด้วยตัวมันเอง ซึ่งครอบครอบครัวของเขาที่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทกาแฟมาตั้งแต่ปี 1933 ได้กลับเข้าสู่ตลาดในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ที่เคยเป็นแหล่งซื้อเมล็ดกาแฟมาก่อนหน้าแล้ว และกำลังขยายการจัดซื้อไปจากแหล่งผลิตปัจจุบันนั่นก็คือบราซิลและเวียดนาม

หมดยุคแล้ว แหล่งผูกขาดการผลิตกาแฟ เริ่มสู่การกระจายแหล่งซัพพลายให้กว้างขึ้น

บริษัท Volcafe บริษัทที่ทำธุรกิจด้านกาแฟมาแล้วกว่า 170 ปีก็เพิ่งจะขยายการดำเนินการไปยังแอฟริกาตะวันออกและใช้เงินมากถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2 พันล้านบาท Starbucks เองก็เริ่มหาทางลงทุนด้วยการให้เงินกู้ไปกับแหล่งผลิตกาแฟต่างๆ เช่น เปรู รวันดา และแทนซาเนีย

นอกจากนี้ Lavazza SpA ที่เป็นบริษัทกาแฟของฝั่งยุโรปก็กำลังช่วยฟื้นฟูตลาดกาแฟในคิวบา ซึ่งซบเซามาตั้งแต่สมัยเกิดการปฏิวัติคิวบาในช่วงทศวรรษ 1950

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัท Nespresso ภายใต้เครือ Nestle Group ก็เพิ่งประกาศลงทุนในอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศคองโกมากถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 680 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทก็ทุ่มเงินไปกับโครงการ Reviving Origins ไปมากถึง 71 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณกว่า 2,400 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการผลิตในพื้นที่ต่างๆ เช่น อูกานดา ซิมบับเว และคิวบา

แผนการลงทุนและฟื้นฟูแหล่งผลิตกาแฟที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าระดับราคากาแฟจะลดลงเร็วๆ นี้นะ

Peter Radosevich ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายขายต่างประเทศของบริษัทนำเข้ากาแฟอย่าง Royal Coffee ก็เผยว่า ทุกวันนี้ ลูกค้ายินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้กาแฟคุณภาพสูง ซึ่งลักษณะการบริโภคกาแฟก็เปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด ที่นักดื่มกาแฟทั้งหลายก็เริ่มแยกแยะประเภทกาแฟมากขึ้น ให้ความสำคัญกับคุณภาพกาแฟมากขึ้น ทั้งในเรื่องความหลากหลายของกาแฟไปจนถึงการสามารถติดตามได้ว่ากาแฟเหล่านั้นผลิตจากที่ใด

ทั้งนี้ผู้ผลิตกาแฟรายเล็กก็มักจะผลิตกาแฟพิเศษด้วย ทำให้เมล็ดกาแฟได้รับคะแนนสูงสุดทั้งในแง่คุณภาพไปจนถึงกลิ่นกาแฟที่หอมอบอวลขณะดื่ม ไปจนถึงรสชาติหลังดื่มกาแฟด้วย ซึ่งรายงานจาก National Coffee Association พบว่า เกือบครึ่งของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันดื่มกาแฟพิเศษเป็นประจำทุกวัน และยอดรวมของการจำหน่ายกาแฟพิเศษก็แซงหน้ากาแฟทั่วไปในตลาดได้เป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งก็ส่งผลดีต่อประเทศที่เป็นแหล่งผลิตขนาดเล็ก เช่น ฮอนดูรัส

อย่างไรก็ดี Matthew Barry ผู้จัดการด้านข้อมูลเชิงลึกจากบริษัทวิจัยอาหารและเครื่องดื่มอย่างบริษัทวิจัยการตลาด Euromonitor International ระบุว่า บริษัทกาแฟจะต้องสร้างคุณค่าเพิ่มเพื่อให้ลูกค้าสัมผัสได้โดยตรงว่าสินค้านั้นให้ความสำคัญกับที่มาของแหล่งผลิตขนาดไหน พิจารณาถึงความยั่งยืนไหม ไปจนถึงเน้นให้เขาเห็นถึงการปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนขณะไปเยือนร้านกาแฟ ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ลูกค้าก็อาจจะหันไปซื้อเครื่องดื่มที่ราคาถูกลง หรือเครื่องดื่มที่หาซื้อง่ายกว่า เช่น กาแฟกระป๋อง

ด้าน Jay Kling ผู้อำนวยการด้านกาแฟจาก Irving Farm New York ระบุว่า ราคาสินค้าแพงขึ้นทั้งห่วงโซ่อุปทานของกาแฟจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไป ถ้าคุณไปทำให้มันราคาลดลง เกษตรกรรายย่อยก็จะมีแรงจูงใจในการปลูกกาแฟน้อยลง และสุดท้ายก็จะทำให้การผลิตตึงตัวและนำไปสู่ลูปของราคาที่พุ่งสูงขึ้นอีก เขาคิดว่าราคากาแฟควรจะพุ่งสูงเป็นระยะเวลายาวนาน เพราะมันคือสิ่งที่อุตสาหกรรมนี้กำลังต้องการอยู่

สรุปก็คือ กาแฟก็ยังจะมีราคาแพงต่อไป แต่เมล็ดกาแฟที่มีความพิเศษหรือพวกกาแฟพรีเมียมทั้งหลาย ผู้คนก็ให้ความสนใจมากขึ้น แต่ก็ไม่แน่ว่าคนอาจจะหันไปหาซื้อกาแฟที่หาดื่มง่ายและราคาถูกกว่าแทน

ผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานก็มองว่า กาแฟราคาแพงเป็นสิ่งที่ดีต่ออุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ด้วยภาวะโลกร้อนที่อาจทำให้เกิดการขาดแคลนได้ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านกาแฟเริ่มมุ่งหาตลาดผลิตรายใหม่ซึ่งก็มักจะเป็นแถบแอฟริกานั่นเอง

ที่มา – BNN Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา