บริการซื้อก่อนจ่ายที่หลัง Buy Now Pay Later ศัตรู หรือ โอกาส ของธนาคารไทย?

ไขคำตอบ บริการทางการเงินรูปแบบใหม่อย่าง ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later คือศัตรู หรือโอกาส ของธนาคารไทยกันแน่?

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกลุ่มตลาดค้าปลีกที่น่าสนใจและเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะมีผู้บริโภค Digital First ได้นำเทรนด์ใหม่ ๆ มาใช้เป็นกลุ่มแรก ๆ ซึ่งทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้การตลาดบนมือถือผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นมีการคาดว่าจะเติบโตต่อปีที่ 12% เป็นมูลค่า $25 พันล้านภายในปี 2566 จากกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคหรือกลุ่มแฟชั่น นอกจากนี้ผู้ค้าปลีกออนไลน์ในหลากหลายอุตสาหกรรมนั้นกำลังมองหาปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนผลกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อเสนอและทางเลือกของการชำระเงินที่น่าดึงดูดและมีความสะดวกสำหรับลูกค้า

การบริการสินเชื่อ ณ จุดขาย (POS) ที่เรียกว่า Buy Now Pay Later (BNPL) หรือ ”ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในรูปแบบ win-win สำหรับผู้ค้าปลีกและลูกค้า โดยไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ค้าปลีกแต่ยังสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าที่พวกเขาไม่สามารถจ่ายได้ให้ง่ายขึ้น 

ทางเลือกทางการเงินใหม่นี้กำลังเฟื่องฟูในประเทศไทยและมีแนวโน้มว่าจะต้องอยู่ต่อไป ซึ่งคาดว่า BNPL Gross Merchandise Value ของประเทศจะสูงถึง 15,818.1 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2571 (เพิ่มขึ้นจาก 893.1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564) ดังนั้นตอนนี้สถาบันการเงินต้องตัดสินใจว่าจะนำ BNPL มาใช้ด้วยข้อเสนอในรูปแบบของตนเองหรือไม่ก็เสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

สูตรความสำเร็จเบื้องหลัง BNPL

BNPL เป็นการจัดหาเงินทุนระยะสั้นประเภทหนึ่งที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อผลิตภัณฑ์และชำระเงินสำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นในอนาคต โดยไม่คิดดอกเบี้ยหรือต่ำถึงศูนย์ สำหรับเงื่อนไขการชำระคืนนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ BNPL แต่โดยทั่วไปแล้วจะรวมการชำระเงินเต็มจำนวนภายในสิ้นเดือน ภายในรูปแบบ pay-in-3 ที่มีการชำระเงินรายเดือนเท่ากันสามครั้ง หรือรูปแบบ pay-in-4 ที่มีการชำระเงินรายปักษ์สี่ครั้งเท่ากัน 

ทางเลือกทางการเงินนี้สนับสนุนทั้งความรวดเร็ว ความสะดวก ความยืดหยุ่นและความเป็นกลางกับทุกส่วนซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจด้านดิจิทัลและมีทรัพยากรทางการเงินที่จำกัด อาทิ ผู้หางาน นักศึกษาระดับเริ่มต้น ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารหรือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงด้านเครดิตและเงินกู้ได้ เพราะรูปแบบการชำระเงินแบบ BNPL ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงเงื่อนไขที่ซับซ้อนของเครดิตในการผ่อนผันการชำระเงิน นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ เวลาที่ซื้อ

BNPL มีข้อดีมากมายสำหรับผู้ค้าปลีกและผู้ค้า สำหรับกลุ่มบรรดาผู้ที่รวมตัวเลือกทางการเงินนี้ไว้ในกลยุทธ์ทางธุรกิจของพวกเขาจะได้รับ sales conversion ที่สูงขึ้นและขนาดตะกร้าที่ใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ 41% ของผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะซื้อในร้านค้าที่ให้บริการการชำระเงินในรูปแบบ BNPL และผู้บริโภคหลายคนก็ได้รับประโยชน์จากการบริการนี้แล้ว ยกตัวอย่าง Klarna หนึ่งในฟินเทคชั้นนำที่เน้น BNPL ในร้านค้าของตน และ Hype ผู้ค้าปลีกแฟชั่นในสหราชอาณาจักรยังได้รับ online conversion เพิ่มขึ้น 38% อีกเช่นกัน

ขึ้นอยู่กับธนาคารในประเทศไทย 

เทคโนโลยีทางด้านการเงิน (Fintechs) เป็นรายแรกที่สนับสนุน BNPL โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนหรือการร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อจัดหาประเภทของ embedded finance ซึ่งเป็นการบูรณาการบริการทางการเงินของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงินได้อย่างง่ายดาย

จากสถาการณ์ COVID การเติบโตของอีคอมเมิร์ซและแรงกดดันทางเศรษฐกิจได้กลายเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของ BNPL ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ผู้ให้กู้ รวมไปถึงธนาคาร

ปัจจุบันธนาคารไทยจำนวนมากกำลังสำรวจโซลูชั่น BNPL ในขณะที่ยังมีบางธนาคารลังเลที่จะนำบริการนี้มาใช้ ซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียโอกาสได้ ถ้าไม่ดำเนินการอย่างรวดเร็ว จากการวิจัยพบว่าเทคโนโลยีทางด้านการเงินของ BNPL ได้โอนรายได้ประจำปี 8-10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปจากธนาคารทั่วโลกแล้ว ซึ่ง 70% ของผู้ใช้ BNPL นั้นยินดีที่จะใช้บริการจากธนาคารของตน ถ้าธนาคารนั้นๆ มี BNPL รับรองการให้บริการ

ด้วยศักยภาพมหาศาลสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ธนาคารไทยจึงต้องเข้าหา BNPL อย่างมีกลยุทธ์และตัดสินใจว่าจะมีบทบาทอย่างไรในสายธุรกิจใหม่นี้ การทำให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอของพวกเขามีความสำคัญ

เนื่องจาก BNPL กำลังบดบังรูปแบบการเงินเพื่อผู้บริโภคแบบดั้งเดิมอย่างรวดเร็ว เช่น สินเชื่อธนาคารหรือสินเชื่อส่วนบุคคล และแม้กระทั่งในบางกรณีก็อาจใช้บัตรเดบิต โดย BNPL จะช่วยให้ธนาคารปรับปรุงความสัมพันธ์ของผู้ค้าและคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้าและทำให้รายได้ของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นผ่าน cross-selling และการหาลูกค้าใหม่สำหรับองค์กร 

ที่มา – Mambu

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน