ประเด็นร้อนของตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ก่อน คงหนีไม่พ้นประเด็นนักลงทุนเทขายหุ้น AOT จนราคาปรับตัวลงมาทำจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีลงมาแตะ 42 บาทในสัปดาห์นี้ จากต้นปีเคยมีราคาเกือบ 60 บาท ทำให้ผลตอบแทนติดลบแล้ว 27.62%
คำถามของหลายๆ คนอาจจะเป็นเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นของสนามบินแห่งชาติ Brand Inside สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นมาให้แล้ว
1) ก่อนอื่นเลยเราอาจจะต้องเริ่มจากการปูพื้นฐานกันก่อนว่า AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด นั้นเป็นบริษัทมหาชนที่เป็นผู้บริหาร สนามบินหลัก ของประเทศไทย 6 แห่ง รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วย โดยในแต่ละสนามบินจะมีพื้นที่สำหรับปล่อยเช่าเชิงพาณิชย์ต่างๆ รวมถึงธุรกิจสินค้าปลอดภาษีหรือ Duty Free ด้วย
2) หนึ่งในเอกชนรายใหญ่ที่ได้รับสิทธิ์ในธุรกิจสินค้าปลอดภาษีจาก AOT คือ King Power โดยเดิมมีสัญญาจะจ่ายผลตอบแทนให้กับ AOT ในรูปแบบของ ‘ส่วนแบ่งรายได้’ แบบ Minimum Guarantee ในอัตรา 30% ต่อปี ตามสัญญาใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2562
3) รายได้ของ AOT ในไตรมาส 1 ของปีนี้ คือ 17,881 ล้านบาท โดยกว่า 32% ของรายได้มาจากส่วนแบ่งผลประโยชน์พื้นที่พาณิชย์ต่างๆ รวมถึง King Power ด้วย คิดเป็นเงินมากถึง 5,641 ล้านบาท
4) หากอยู่ในภาวะปกติ โมเดลนี้ถือว่าน่าพึงพอใจทั้งสำหรับนักลงทุนและผู้บริหาร AOT เพราะ AOT เปรียบเสมือน ‘เสือนอนกิน’ ที่มีบริษัทรายใหญ่อย่าง King Power มาเช่าพื้นที่ แล้วยังมาแบ่งรายได้ให้มากถึง 30% อีกด้วย
5) ปัญหาเริ่มตรงที่ในงบการเงินของ AOT พบ ตัวเลขลูกหนี้ไม่หมุนเวียน เริ่มปูดขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมอยู่ที่ราว 800 ล้านบาทในช่วงกลางปี 2567 ก็ค่อยๆ โตมาเป็น 2,000 ล้านบาทในช่วงกันยายนปี 2567 และเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว มาแตะ 5,700 ล้านบาทในช่วงธันวาคมปี 2567
6) โดยพบว่า หนี้สินไม่หมุนเวียน ของ AOT เติบโตขึ้นจาก ‘การค้างจ่าย’ เงินส่วนแบ่งผลประโยชน์จากพื้นที่พาณิชย์ รวมเป็นมูลค่าราว 5,000 ล้านบาท แต่จากทั้งหมด King Power ค้างจ่ายมากสุดที่ราว 4,000 ล้านบาท
7) พอนักลงทุนเริ่มจับสังเกตได้ก็พากันเทขายหุ้นกันอย่างหนักตั้งแต่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้วเป็นต้นมา จนลงไปปิดที่ราคา 42 บาท ปรับตัวลงมาราว 27.62% จากช่วงต้นปี และปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุดในช่วง 2 ปีก่อนถึง 42.9%
8) แต่ทาง King Power ก็ได้พยายามแก้ปัญหา โดยเจรจากับทาง AOT ว่า ขอประนีประนอมการจ่ายค่าส่วนแบ่งผลประโยชน์จากพื้นที่พาณิชย์จากสัมปทานในช่วงสิงหาคมปี 2567 ถึงกุมภาพันธ์ปี 2568 ยืดระยะเวลา เป็นจ่ายภายใน 18 เดือน จากเดิมที่ credit term อยู่เพียง 1 เดือน เท่านั้น
9) นอกจากนั้น King Power ยังได้วางเงินค้ำประกัน (ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขว่าเท่าไร) และบอกว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ AOT เป็นดอกเบี้ย 18% ต่อปี
คำถามสำคัญอีกคำถามที่น่าสนใจ คือ เกิดอะไรขึ้นกับ King Power เจ้าของสัมปทาน Duty Free รายเดียวของไทยถึงได้ประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องจนต้องค้างจ่ายหนี้กว่า 4,000 ล้าน
King Power ได้ชี้แจงกับทาง AOT ว่ากำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง เพราะแนวโน้มรายได้ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวและกำลังซื้อต่อหัวที่ลดลง (spending Per head)
และอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่ปรับขึ้นเป็น 30% (Minimum Guarantee) ในช่วงปี 2562 แต่รายได้ไม่เคยกลับขึ้นไปสูงเท่าช่วงเวลาดังกล่าวอีกเลย
โดย King power เป็นบริษัทด้านค้าปลีกธุรกิจสินค้าปลอดภาษี (Duty Free) รายใหญ่ที่สุดของไทยที่ตั้งอยู่ตามสนามบินต่างๆ อาทิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และอู่ตะเภา รวมถึงยังทำธุรกิจด้านโรงแรมและศูนย์การค้าอีกเช่นกัน ทำให้ King Power เคยเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีรายได้สูงมาก จากการได้รับสัมปทานใหญ่ตามสนามบินต่างๆ
รายได้รวมของ King Power ย้อนหลัง 5 ปี ดังนี้
- รายได้ปี 2562 อยู่ที่ 61,192 ล้านบาท
- รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 21,955 ล้านบาท
- รายได้ปี 2564 อยู่ที่ 17,330 ล้านบาท
- รายได้ปี 2565 อยู่ที่ 27,516 ล้านบาท
- รายได้ปี 2566 อยู่ที่ 20,062 ล้านบาท
โดยจะเห็นว่าในช่วงปี 2562 ก่อนโควิด รายได้ของ King Power เคยสูงระดับ 61,192 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวในไทยเติบโตเป็นอย่างมาก
แต่หลังจากที่เกิดโควิดเป็นต้นมา แนวโน้มรายได้ของ King Power ก็ไม่เคยกลับไปที่ระดับเดิมอีกเลย และอยู่ในช่วงเพียง 17,000 ถึง 20,000 ล้านบาทเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ว่าทำไม King Power ถึงประสบปัญหาสภาพคล่องจนเกิดการค้างจ่ายขึ้น
ถึงตรงนี้ก็ต้องมาติดตามกันดูว่า King Power จะสามารถกลับมาจ่ายหนี้ในรอบเดือนมีนาคมได้ตามปกติหรือไม่ ถ้าสามารถจ่ายได้ก็อาจหมายถึงปัญหาดังกล่าวได้คลี่คลายลงแล้ว
แต่หากยังไม่สามารถจ่ายได้ แปลว่าปัญหาหนี้ค้างจ่ายอาจยืดเยื้อ และส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัท AOT ที่เป็นผู้บริหารสนามบินแห่งชาติไทยเลยก็เป็นได้ ซึ่งกว่าจะรู้ผลดังกล่าวก็ต้องรอผลเฉลยในงบของ AOT ในไตรมาส 2 ของปีนี้
อ้างอิง: SET
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา