เคยมีใครมาสอนคุณไหมว่า “คนเราต้องทำงานหนักถึงจะอยู่รอด”? มันก็คงมีบางคนที่เชื่อมั่นในแนวคิดนี้ จนตั้งคำถามกับตัวเองว่า “แล้วต้องทำอะไรถึงจะกลายเป็นคน ‘โปรดักทีฟ’ ได้?”
คุณเคยลองตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อมาทำงานหรือยัง? ทฤษฎี 21 วันก็น่าสนใจดีนะ แล้วกฎแห่งสองนาทีล่ะ ไม่อยากทำดูหน่อยเหรอ?
‘Productivity Porn’ คือกิจกรรมอะไรก็ตามที่ทำแล้วรู้สึกว่าโปรดักทีฟขึ้น ทั้งๆ ที่คุณยังไม่ได้ทำอะไรเสร็จเป็นชิ้นเป็นอันเลยสักอย่าง
‘Anne-Laure Le Cunff’ ผู้ก่อตั้ง Ness Labs และนักวิจัยด้านประสาทวิทยา ณ มหาวิทยาลัย King’s College London ได้อธิบาย 3 ลักษณะของกิจกรรมที่เข้าข่าย Productivity Porn ไว้ดังนี้
1. มีความต้องการที่เป็นไปไม่ได้
Productivity Porn มักทำให้เราคิดว่าเราเป็นยอดมนุษย์ที่สามารถทำอะไรเหนือความจริงได้ เช่น ตื่นตั้งแต่ตี 5 แล้วเช็กอีเมลทั้งหมดให้เสร็จก่อน 6 โมงเช้า แถมยังแบ่งเวลาทำกิจกรรมต่างๆ แบบละเอียดยิบย่อย และต้องทำตามนั้นเป๊ะๆ ด้วย
2. ตั้งผลลัพธ์ที่เป็นไปไม่ได้
มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะอยากพัฒนาตนเองจนกลายเป็นตัวเราในเวอร์ชันที่ดีที่สุด แต่ Productivity Porn เปรียบเสมือนกับคำสัญญาลมแล้งๆ ว่าคุณจะเปลี่ยนตัวตนเป็นอีกคนภายในระยะเวลาอันสั้นเสียมากกว่า
3. ทำตัวเป็นกูรู
หากคุณอ่านหนังสือหรือเข้าคอร์สอะไรก็ตาม ที่ผู้สอนพูดในทำนองว่า “ดูฉันสิ ฉันประสบความสำเร็จขนาดนี้ได้ด้วยตนเองหมดเลย” มันก็มีโอกาสว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้นเข้าข่าย Productivity Porn เพราะความเป็นจริงแล้ว ชีวิตคนเรามันไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จไหนบนโลกที่ทุกคนจะทำตามแล้วผลลัพธ์ออกมาเช่นเดียวกันได้
ถ้าคุณเห็นหนึ่งในลักษณะที่กล่าวไปในกิจกรรมเสริมสร้างความโปรดักทีฟที่กำลังทำอยู่ มันก็เป็นไปได้ว่าสิ่งนั้นคือ Productivity Porn หรือแนวคิดเพ้อฝันที่ไม่ใช่กลยุทธ์การพัฒนาตนเองแบบจับต้องได้
Productivity Porn ความโปรดักทีฟแบบปลอมๆ
Productivity Porn นอกจากจะเป็นการตั้งเป้าชวนเพ้อฝันแล้ว ยังอาจส่งผลร้ายอื่นๆ ได้อีกด้วย
อ้างอิงจาก ‘Jemma Broadstock’ นักจิตวิทยาจากสหราชอาณาจักร “การเสพ Productivity Porn จะทำให้เราเชื่อว่า ถ้าอยากกลายเป็นคนโปรดักทีฟ ต้องแก้ที่ภายนอก ส่งผลให้เราซื้อข้าวของหรือดาวน์โหลดแอปฯ นู่นนี่มาเพื่อหวังพัฒนาตนเอง ทั้งที่จริงแล้ว มันต้องเริ่มจากตัวเราต่างหาก”
‘Lee Chambers’ นักจิตวิทยาจากสหราชอาณาจักรอีกท่านหนึ่ง เสริมว่า “บางครั้งที่เราดูคอนเทนต์พวกนี้ มันจะทำให้เรารู้สึกกระหายอยากเรียนรู้มากขึ้น แต่ก็ทำได้ไม่นาน จนสุดท้าย มันก็เป็นการเสียเวลาไปเปล่าๆ แถมยังรู้สึกละอายใจด้วย เพราะตนเองดันโปรดักทีฟน้อยลง”
นอกจากนี้ ในบางครั้งที่เรารู้สึกไม่อยากทำงานหรือไม่อยากอ่านหนังสือเตรียมสอบ เราอาจเลือกที่จะเสพ Productivity Porn แทน ด้วยการออกไปซื้อแพลนเนอร์เพื่อจัดตารางงาน หรือดูวิดีโอสอนการใช้ชีวิตแบบโปรดักทีฟ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าเวลาที่เสียไป คุณอาจทำงานเสร็จแล้วก็ได้
ดังนั้น Productivity Porn จึงเป็นหนึ่งในรูปแบบของ ‘ความขี้เกียจ’ ซึ่งแปลว่าแทนที่มันจะทำให้เราขยันขึ้น เรากลับเอากิจกรรมพวกนี้มาเป็นข้ออ้างทำให้ตนเองรู้สึกว่า “วันนี้เราทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้วนะ ช่างเป็นคนที่โปรดักทีฟจริงๆ”
ชอบ Productivity Porn เพราะลึกๆ แล้วรู้สึกแย่กับตนเอง
สำหรับบางคน สาเหตุที่พวกเขาชอบคอนเทนต์แนว Productivity Porn ก็อาจเป็นเพราะลึกๆ แล้วไม่มั่นใจในตนเอง จึงต้องให้คนที่ดูประสบความสำเร็จกว่ามาคอยบอกว่า เราควรเริ่มทำงานตอนไหน และควรทำอะไรบ้างถึงจะดูขยัน
แม้ว่างานบางอย่างที่ต้องทำก็ฟังดูน่าเบื่อจริงๆ จนทำให้เรารู้สึกขี้เกียจ แต่เบื้องหลังความขี้เกียจนี้ นอกจากจะเป็นนิสัยส่วนตัวแล้ว มันอาจมีต้นเหตุมาจากความเครียด ความกังวล หรือ ภาวะที่รู้สึกว่าตนเองดีไม่พอ (Imposter Syndrome) ด้วยก็เป็นได้
ดังนั้น การที่เราได้ยินหรือเห็นว่ามันมีสูตรสำเร็จที่สามารถทำได้สบายๆ โดยไม่ต้องใช้พลังงานมากมาย มันก็คงเป็นเหมือนเครื่องบรรเทาความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้น แต่ก็อย่างที่บอกไป เคล็ดลับพวกนี้อาจใช้ไม่ได้กับทุกคน และสุดท้ายก็มีแค่ตัวเราเองที่ต้องจมอยู่กับความเครียดเดิมๆ เพิ่มเติมคือความหงุดหงิดและผิดหวังที่เพิ่มขึ้น
เพราะความโปรดักทีฟแปลว่าเราเป็นคนที่ดีขึ้น
ในเมื่อ Productivity Porn มันแย่ขนาดนี้ แล้วทำไมคนเราถึงกระหายมันอยู่?
คุณเคยดูคลิปผู้หญิงสวยๆ ใน TikTok ที่ออกมาโพสต์ว่าตนเองทำอะไรในแต่ละวันบ้างไหม? พวกเธออาจจะเข้าฟิตเนสตั้งแต่เช้าตรู่ แล้วมาเตรียมมื้อสุดเฮลตี้ ตามด้วย จัดแจกันดอกไม้ เขียนไดอารี่แบบชิลๆ ก่อนจะจบวันด้วยการนั่งสมาธิ
หลายๆ ครั้งเราอาจเห็นคำแนะนำในการใช้ชีวิตโปรดักทีฟเช่นนี้ แล้วรู้สึกว่า เวลาที่เราเสียไปในแต่ละวันนั้นดูไร้ค่ามาก เมื่อเทียบกับพวกเขา จนเกิดเป็นแนวคิด “ถ้าฉันทำได้ ฉันคงเป็นคนที่ดีขึ้น”
ความจริงคือ ระดับความโปรดักทีฟของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงกับคุณค่าที่เราเห็นในตัวเอง และมุมมองที่เรามีต่อความสำเร็จในชีวิต ดังนั้น เราเลยเชื่อว่า หากตนเองมีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้น ก็คงแปลว่าเราเป็นคนที่ดีขึ้นแล้วนั่นเอง
Lee กล่าวว่า “เราอาศัยอยู่ในโลกที่การเติบโตถูกเซ็ตเป็นค่าเริ่มต้น ความสำเร็จโดนขับเคลื่อนโดยสังคม และผู้คนก็ถูกคาดหวังให้ทำได้ทุกอย่าง ดังนั้น Productivity Porn จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรารับรู้ว่าตนเองโปรดักทีฟแค่ไหน เพื่อลดความรู้สึกที่โดนเปรียบเทียบหรือละอายใจ เหมือนกับเป็นเชื้อเพลิงเติมไฟในตัวเรา”
บนโลกนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องลองหาวิธีที่เหมาะกับตัวเองดู
พึงระลึกไว้เสมอว่าบนโลกนี้ไม่มีกลยุทธ์อะไรที่จะการันตีได้ว่าถ้าทุกคนทำแล้ว จะประสบความสำเร็จเหมือนกันหมด
อย่างไรก็ตาม หากอยากลองเปลี่ยนแนวคิดจากที่เคยดูคอนเทนต์ Productivity Porn มาเป็นการหาวิธีพัฒนาที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด ก็อาจสามารถทำได้ดังนี้
- ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน วัดผลได้ อยู่กับความเป็นจริง และใส่กรอบเวลาให้มันด้วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราต้องการอะไรกันแน่
- ถามตัวเองว่าอุปสรรคตัวจริงที่ขวางความสำเร็จคืออะไร เมื่อเรารู้ต้นตอแล้ว เราก็จะจัดการกับมันได้ เช่น ตารางนอนที่ไม่ได้นอนของคุณนั้นกระทบกับคุณภาพชีวิตหรือเปล่า? ถ้าใช่ ควรแก้ไขอย่างไร?
- รู้จักการสะท้อนตนเอง เพราะในวันๆ หนึ่งเราเสียเวลาไปกับการทำงานมากพอแล้ว ควรแบ่งเวลาให้ตนเองมาย้อนดูว่า มีงานไหนบ้างที่เราชอบและไม่ชอบ หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ขี้เกียจ ก็ถามตัวเองว่าทำไมเราถึงเป็นแบบนี้ วิธีการสะท้อนตนเองนั้นมีมากมาย ลองหาแนวทางที่เหมาะกับตนเองที่สุดดู
- จัดการข้อมูลที่ได้รับ เนื่องจากข้อมูลที่เราเสพไปก็ไม่ต่างกับอาหารแต่ละมื้อที่บริโภค หากเรารับแต่สิ่งดีๆ สุขภาพจิตก็จะดีไปด้วย ดังนั้น จงเลือกรับแต่คอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อชีวิตเท่านั้น อย่าเอา Productivity Porn มาใส่ใจจนรู้สึกแย่ในภายหลัง
- อย่าลืมดูแลตนเองด้วย อาจจะเริ่มจากการนอนหลับให้เพียงพอ ทานแต่อาหารดีๆ และหมั่นออกกำลังกายบ่อยๆ การที่คุณหันมาดูแลตนเองทั้งกายและใจ มันจะทำให้เรามีพลังงานในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีสมาธิและโปรดักทีฟมากตาม
สุดท้ายนี้ อย่าคิดมากและใจร้อนเพราะการจะเป็นคนดีขึ้นได้ต้องใช้เวลา และอย่าเผลอเข้าข้างตนเองด้วยว่าการอ่านบทความนี้จะทำให้คุณโปรดักทีฟมากขึ้น ถ้ายังไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง
แหล่งอ้างอิง: Caleb Schoepp / Ness Labs / Cosmopolitan / Medium
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา